ดีลควบรวมแสนล้าน ‘ทรู-ดีแทค’ ความหวังให้กสทช.กำกับดูแลริบหรี่เต็มที

ดีลควบรวมแสนล้าน ‘ทรู-ดีแทค’ ความหวังให้กสทช.กำกับดูแลริบหรี่เต็มที

ย้อนกลับไป 20 ต.ค. 2565 ดีลควบรวมแสนล้านบาทระหว่าง "ทรูและดีแทค" เดินมาถึงปลายทาง หลังจากประชุมมาตลอด 11 ชั่วโมง สิ้นสุดลงเมื่อไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า  ‘บอร์ดกสทช.’ มีมติ ไฟเขียว ให้ทรูควบรวมดีแทคได้แล้ว

โดยบอร์ดกสทช. มีมติเสียงข้างมากรับทราบการควบรวม 'ทรูและดีแทค' พร้อมกำหนดเงื่อนไข/มาตรการเฉพาะ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและการพัฒนากิจการโทรคมนาคม ซึ่งครั้งนั้นนพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช. ได้ให้ความเห็นว่าการรวมธุรกิจในกรณีนี้ ไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 (ประกาศฉบับปี 2549) 

ส่วนกสทช.อีก 2 คนได้แก่ นายศุภัช ศุภชลาศัย และนางสาวพิรงรอง รามสูตไม่เห็นด้วยโดยมองว่านี้เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน ส่วนพล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ งดออกเสียง ทำให้เสียงเท่ากันที่ 2:2 และสุดท้ายนพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช.ใช้สิทธิดับเบิลโหวตเมื่อคะแนนเท่านั้น จนทำให้ดีลควบรวมทรูและดีแทคได้รับไฟเขียวนับแต่นั้นเป็นต้นมา

บอร์ดแบ่งก๊ก-วัดกำลังภายใน

ตลอดเวลา 1 ปีหลังเกิดการควบรวมในบอร์ดกสทช.ต่างเต็มไปด้วยอุปสรรคที่ข้อจำกัดหลายงานเดินหน้าไม่ได้ มีวาระพิจารณาค้างกว่า 100 เรื่อง แต่ล้วนไม่ใช่ปัญหาจากภายนอกแต่อย่างใดแต่เกิดจากปัญหาภายในทั้งนั้น บอร์ดกสทช.ชุดนี้เมื่อได้รับการแต่งตั้งครบ 7 คน ต่างแบ่งออกเป็น 2 ก๊ก อย่างชัดเจน คือฟากของประธานกสทช.ที่จะประกอบด้วย นพ.สรณ ประธานกสทช. นายต่อพงศ์ เสลานนท์ และพล.ต.อ. ณัฐธร เพราะสุนทร

ส่วนอีกกลุ่มประกอบด้วย พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ นางสาวพิรงรอง รามสูต นายศุภัช ศุภชลาศัย และนายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ 

สำหรับการประชุมบอร์ดกสทช. ตลอดปี 2566 พบว่าล่มแล้ว 6 ครั้ง ครั้งที่ 1 วันที่ 5 ก.ค. 2566 ครั้งที่ 2 วันที่ 4 ต.ค. 2566 ครั้งที่ 3 วันที่ 3 พ.ย. 2566 ครั้งที่ 4 คือวันที่ 17 พ.ย. 2566 ครั้งที่ 5 วันที่ 28 พ.ย. 2566 และครั้งล่าสุด ครั้งที่ 6 วันที่ 7 ธ.ค 2566 โดยปกติการประชุมบอร์ดกสทช.จะมีประธานกสทช. พล.ต.อ.ณัฐธร และนายต่อพงศ์ เข้ามาประชุมในเวลา 9.30 น. จากนั้นเมื่อขาดเสียงข้างมาก 4 คนได้แก่พล.อ.ท.ธนพันธุ์ นายศุภัช น.ส.พิรงรอง และ นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ไม่เข้าประชุมเนื่องด้วยติดภารกิจอื่น จึงทำให้องค์ประชุมไม่ครบและเมื่อครบ 30 นาที จากนั้นจึงปิดประชุมในเวลา 10.00 น. ซึ่งล่าสุดประชุมบอร์ดกสทช.ครั้งสุดท้ายเมื่อ 26 ธ.ค.2566 ยังคงเหลือวาระประชุมค้างเฉียด 100 เรื่อง

โดยจากการประชุมบอร์ดล่มที่เกิดขึ้น แม้บอร์ดเสียงข้างมากจะบอกว่า เพราะประธานกสทช.เลือกนัดประชุมในวันที่มีบอร์ดกสทช. บางคนติดภารกิจ นับว่ามีความอ่อนไหวต่อการลงมติในวาระสำคัญ เนื่องจาก ในกรณีที่มีเสียงเท่ากัน ประธานกสทช. มีสิทธิออกเสียงซ้ำ ซึ่งอาจทำให้ผลการลงมติไม่เป็นไปตามคะแนนเสียงที่แท้จริง เกิดเป็นข้อกังขาถึงความชอบธรรมของมติได้

ฝั่งเสียงข้างมากระบุว่า จากพฤติกรรมของประธาน กสทช. ดังที่กล่าวมา และการเลือกวันประชุมตามอำเภอใจ ไม่แจ้งวาระใดๆก่อนประชุมแน่นอนว่า มิใช่เกิดจากความขัดแย้งส่วนตัวแต่ประการใด เพียงแต่ กสทช. 4 คน ยืนยันว่าต้องปฏิบัติภารกิจ ทำหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย ด้วยความถูกต้อง คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ผลประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นสำคัญ มิใช่ตามความสะดวกหรือความพึงพอใจของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ 

แต่เหนือสิ่งอื่นใดบอร์ดกสทช.อย่าลืมหน้าที่และความรับผิดชอบต่อประชาชน

ปมตั้ง‘ไตรรัตน์’สร้างแผลร้าวลึก

ปัญหารอยร้าวที่เป็นแผลในใจบอร์ดมาตลอดคงหนีไม่พ้นประเด็นการตั้งแต่เลขาธิการ กสทช.ตัวจริง เพราะปัจจุบันนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล นั่งเก้าอี้รักษาการมา 3 ปีแล้ว ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจากนพ.สรณ กางข้อกฎหมายและยืนยันว่าตนจะเป็นผู้เลือกเลขาฯแต่เพียงผู้เดียว และจะเสนอบอร์ดคนอื่นเพียงแค่รับทราบ ทำให้บอร์ดอีกฟากตาเขียวในทันที เพราะตำแหน่งเลขาธิการ กสทช.ถือเป็นคนขององค์กร ของสำนักงาน กสทช. ต้องผ่านความเห็นชอบจากบอร์ดทุกคน ทำให้จนถึงขณะนี้ กสทช.ก็ยังไม่มีการเสนอชื่อเลขาธิการตัวจริง

ต่อมามีประเด็นเรื่องการฟ้องร้องซึ่งถือเป็นปรากฎการณ์ครั้งแรกของ กสทช. คือนายไตรรัตน์ได้ยื่นฟ้องที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ต่อพล.อ.ท.ธนพันธุ์ น.ส.พิรงรอง นายศุภัช ศุภชลาศัย นายสมภพ และนายภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ ที่ 5 เป็นจำเลย ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 155/2566 ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 86 , 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172

จากกรณีที่เมื่อการประชุม กสทช. วันที่ 23 ม.ค.2566 กรรมการกสทช.ทั้ง 4 คน ลงมติเสียงข้างมากปลด นายไตรรัตน์ จากรักษาการเลขาธิการ กสทช. จนกว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีอนุมัติเงินเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) สนับสนุนการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก จำนวน 600 ล้านบาท ที่ นายไตรรัตน์ ถูกตั้งกรรมการสอบ พร้อมมีมติให้ตั้ง นายภูมิศิษฐ์ มหาเวศน์ศิริ เป็น รักษาการเลขาธิการ กสทช.แทน แต่ในท้ายที่สุดนพ.สรณ ระบุว่า ไม่มีการปลดนายไตรรัตน์แต่อย่างใด และตำแหน่งทุกอย่างยังคงเดิม ทุกอย่างจากการฟ้องร้อง กลายเป็นชนวนความขัดแย้งร้าวลึกที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เน็ตช้า-ค่าโทรแพงจริงหรือไม่?

หลังวันที่มติไฟเขียวควบรวมระหว่างทรูและดีแทค เกือบ 1 ปีต่อมา มีเสียงร้องเรียนจากประชาชนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือว่า คุณภาพของสัญญาณลดลงอย่างมาก ถูกบังคับเปลี่ยนโปรโมชั่นให้ซื้อแพคเก็จราคาสูงขึ้นโดยอัตโนมัติเมื่อโปรฯเดิมสิ้นสุด และตะโกนดังๆไปยังกสทช.ว่า ที่อนุญาตใหัควบรวมนั้น ได้ลงมากำกับดูแลให้เป็นตามมาตรการเยียวยาที่เคยระบุไว้หรือไม่ จนท้ายที่สุด ทรูได้ออกแถลงการณ์ 6 ข้อยืนยันหนักแน่นว่า 

คุณภาพสัญญาณไม่ได้แย่ลงหลังควบรวมโดยในทางกลับกันภายหลังการควบรวมนั้น สัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 5G และ 4G ของลูกค้าทรู และดีแทค ดีขึ้นทันที จากการโรมมิ่งสัญญาณคลื่น 2600 MHz และ 700 MHz โดยทรูมุ่งมั่นการให้บริการโดยมีคุณภาพที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ใช้บริการอยู่ตลอดเวลา และไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ทรูจะดำเนินการใดๆ เพื่อให้คุณภาพสัญญาณแย่ลง

และการเสนอแพ็กเกจโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวนมาก และหลากหลายโดยแต่ละแพ็กเกจมีเงื่อนไขการใช้งานที่แตกต่างกันออกไปเพื่อให้ผู้ใช้บริการเลือกแพ็กเกจที่ตรงกับความต้องการของตนมากที่สุด โดยเริ่มต้นตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป ลูกค้าสามารถเลือกได้ทั้งแบบเติมเงิน และรายเดือน

ประชาชนอยู่ตรงไหนในใจกสทช.

หลังจากเป็นประเด็นเรื่องคุณภาพสัญญาณอยู่ตลอดสัปดาห์ในช่วงที่มีการร้องเรียน บอร์ดกสทช. 4 เสียง ที่เป็นแกนนำในการไม่อนุญาตให้ควบรวมทรูและดีแทคได้ผลักดันและส่งจดหมายเปิดผนึกถึงประธานกสทช.เพื่อขอให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างด่วนที่สุด เพราะทุกอย่างคือความเดือดร้อนของประชาชนที่กสทช.ต้องเข้าไปกำกับดูแล 

สุดท้ายแล้วไม่ว่า จะเป็นบอร์ดฝั่งที่เคยเห็นชอบให้เกิดการควบรวมทรูและดีแทค หรือจะฝั่งที่ตรงกันข้าม ปัญหาที่เกิดขึ้นประชาชนไม่ได้มองว่า ต้องเลือกโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่คือความรับผิดของกสทช.ทั้งองค์คณะ 7 คนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และปัญหาเรื่องคุณภาพสัญญาณที่ต่ำลงสวนทางกับค่าบริการแท้จริงเป็นอย่างไร เพราะเอกชนก็ไม่ผิดเลยที่จะโต้แย้งในประเด็นนี้ ว่าทั้งสัญญาณและราคาไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เหมือนกับในแถลงการณ์ ทำให้เรื่องนี้มีเพียงกสทช.ที่จะเอาจริงและตรวจสอบ เรื่องนี้ไม่มีใครโทษเอกชนได้

ดังนั้น สิ่งที่ประชาชนไทยต้องการจากการกำกับและดูแลอย่างจริงจัง ยึดเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งเหนือสิ่งอื่นใด ซึ่งทุกอย่างคือ “ความคาดหวัง” จากประชาชนที่จะได้เห็นกสทช.ทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ แต่เหมือนกลับว่าท้ายที่สุดแล้ว “ความ(คาด)หวัง” ของประชาชนได้ตายไปนานแล้ว นับตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. 2565...