แอปพลิเคชัน TikTok กับการเปลี่ยนแปลงทาง 'การเมือง'

แอปพลิเคชัน TikTok กับการเปลี่ยนแปลงทาง 'การเมือง'

แอปพลิเคชัน TikTok กับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ต้องยอมรับกันว่า เลือกตั้ง ส.ส. ที่ผ่านมามีรูปแบบการหาเสียงเปลี่ยนไปจากเดิม พรรคการเมืองและผู้สมัครต่างใช้สื่อสังคมออนไลน์หาเสียงมากขึ้นเพราะว่าค่าใช้จ่ายต่ำกว่า สื่อสารไปยังผู้คนจำนวนมากได้รวดเร็ว

จากข้อมูลของ Datareportal.com ระบุว่า ในเดือนมกราคม 2023 ประชากรไทย 85.4% ใช้อินเทอร์เน็ต โดยมีจำนวนผู้ใช้ 61.21 ล้านคน จากจำนวนทั้งสิ้น 71.75 ล้านคน และมีผู้ใช้โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ ถึง 52.25 ล้านคน หรือคิดเป็น 72.8% ขณะที่ TikTok มีผู้ใช้ทั่วโลกกว่าหนึ่งพันล้านคน และที่ผ่านมา พรรคการเมืองใช้แอปพลิเคชั่น TikTok ในการหาเสียงมากขึ้น

ที่ผ่านมาแม้ว่า Facebook จะเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่คนไทยนิยมสูงสุด คือ มีผู้ใช้ประมาณ 91% ของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต และยังเป็นแพลตฟอร์มที่คนชื่นชอบมากที่สุด แต่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่นิยมที่จะเล่นโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอื่นมากกว่า โดยเฉพาะ TikTok ที่เป็นแอปพลิเคชันชันที่ให้เราสามารถแชร์วิดีโอสั้นๆ

โดยข้อมูลจากเว็บ oberlo.com ระบุว่า TikTok มีผู้ใช้ทั่วโลกกว่าหนึ่งพันล้านคน และประเทศที่มีผู้ใช้มากที่สุดคือ สหรัฐ จำนวน 113.3 ล้านคน ตามด้วยอินโดนีเซีย 109.9 ล้านคน และที่น่าสนใจ คือ ประเทศในอาเซียนอย่าง เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และไทย อยู่ใน 10 อันดับแรกของประเทศที่มีจำนวนผู้ใช้สูงสุดโดยไทยอยู่อันดับ 8 จำนวนผู้ใช้ 40.3 ล้านคน

แม้พรรคการเมืองต่างๆ จะใช้โซเชียลมีเดียหาเสียงเลือกตั้ง แต่มีเพียงพรรคก้าวไกลที่หาเสียงผ่าน TikTok ได้ดีที่สุด ปัจจุบันบัญชี TikTok พรรคก้าวไกลมีผู้ติดตาม 3 ล้านราย จำนวนไลค์ 41.8 ล้าน พรรคการเมืองอื่นอย่างพรรคเพื่อไทยมีผู้ติดตามเพียง 301,000 ราย และมีจำนวนไลค์ 3.3 ล้าน พรรครวมไทยสร้างชาติก็มีผู้ติดตามเพียงแค่ 15,000 ราย และมีจำนวนไลค์ 113,800 หรือพรรคประชาธิปัตย์มีผู้ติดตาม 10,000 ราย และมีจำนวนไลค์123,900

 

ยิ่งดูคลิปวิดีโอ TikTok พรรคก้าวไกลที่แชร์ช่วงหาเสียงมากกว่า 200 คลิป พบว่า มีจำนวนมากที่ผู้ชมนับล้านราย และบางคลิปมียอดชมเกือบสิบล้านวิว โดยคลิปทั้งหมดมียอดชมรวมมากกว่า 300 ล้านวิวแค่ 3 เดือน และหากรวมถึงคลิปวิดีโออื่นๆ จากบัญชี TikTok ของผู้สมัคร ทีมงาน รวมถึงผู้สนับสนุน คาดว่าจะมีผู้ชมมากกว่า 4 พันล้านวิว

คงต้องบอกว่าพรรคก้าวไกลน่าจะเป็นพรรคเดียวที่เล่น TikTok เป็น โดยสามารถทำวิดีโอสั้นๆ ให้มีความน่าสนใจตัดต่อเพื่อลง TikTok โดยเฉพาะ ทั้งการใช้เอฟเฟค การทำมีม (มุกขำขัน) การใส่เพลง ทำให้พรรคก้าวไกลกวาดพื้นที่ใน TikTok ไปแทบทั้งสิ้น และเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่คนรุ่นใหม่ติดตามมากที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจที่พรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่ในโซเชียลมีเดียมากที่สุด

การใช้ TikTok เข้ามาช่วยในการหาเสียงเลือกตั้งในต่างประเทศเริ่มมีมาระยะหนึ่งแล้ว เช่น Jeff Jackson สมาชิกวุฒิสภารัฐ North Carolina ของพรรคเดโมแครต ที่มีผู้ติดตามใน TikTok มากถึง 1.5 ล้านคน ใช้แพลตฟอร์มนี้สื่อสารข้อมูลต่างๆ เช่น ปัญหาคอร์รัปชั่น การขยายเพดานหนี้สิน และการซักถามต่างๆ ของวุฒิสภา

หรือผู้สมัครประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมาอย่าง Andrew Yang ก็ใช้ TikTok รณรงค์หาเสียง แต่ก็ใช่ว่าการใช้ TikTok จะประสบความสำเร็จในการหาเสียงในทุกประเทศ เช่นที่อินเดีย นายกรัฐมนตรี Narendra Modi มีผู้ติดตามน้อยมาก ทั้งนี้เนื้อหาต่างๆ ไม่มีความสนใจเท่าที่ควร

TikTok มีกฎห้ามพรรคการเมืองจ่ายเงินโฆษณาหาเสียง และอาจดูเป็นเรื่องแปลกที่จะใช้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการสนทนาเรื่องการเมือง เพราะส่วนใหญ่จะเป็นการแชร์วิดีโอสั้นๆ เสียมากกว่า แสดงความคิดเห็นได้เล็กน้อย ผู้ใช้ที่ไม่ถนัดทำวิดีโอสั้นๆ ก็อาจไม่สามารถสร้างเนื้อหาจากแนวคิดตัวเองแชร์ออกไปได้

แต่เนื่องจากแอปพลิเคชัน TikTok เน้นเรื่องของชุมชนและความร่วมมือ จึงเป็นเครื่องมือที่ดีในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่เปิดกว้าง เป็นแพลตฟอร์มที่ดีสำหรับนักกิจกรรมทางการเมืองสามารถส่งต่อความคิดของเขาออกไปยังผู้คนจำนวนมากได้

TikTok สร้างผลกระทบทางการเมืองในหลายเหตุการณ์ เช่น เหตุการณ์สังหาร George Floyd ในปี 2020 ที่ผู้คนต่างแชร์วิดีโอสั้นและสร้างความตระหนักในเรื่องด้วยการสร้างแฮชแท็กว่า #BlackLivesMatter ที่มีผู้ชมกว่า 30 พันล้านวิว

TikTok มีผู้ใช้จำนวนมากที่เป็นคนรุ่นใหม่ เราคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า คนรุ่นนี้ทั่วโลกต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงและพยายามใช้แพลตฟอร์มนี้สร้างเนื้อหาที่สะท้อนความต้องการ และผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในอนาคตส่วนใหญ่ก็คงจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่ใช้แพลตฟอร์มนี้ TikTok ก็จะกลายเป็นช่องทางทำกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ ที่ดีที่สุดช่องทางหนึ่ง และสุดท้ายหนีไม่พ้นที่นักการเมืองและพรรคการเมืองทุกคนต้องกระโดดเข้ามาเล่นแอปพลิเคชันนี้

แต่อย่างไรโซเชียลมีเดียยังน่าเป็นห่วงในเนื้อหาต่างๆ ที่แชร์กันออกไป ผู้ใช้ควรต้องมีความสามารถคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) แยกแยะความถูกต้องของข้อมูล หากขาดทักษะนี้ก็อาจทำให้นักกิจกรรมทางการเมืองสามารถใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือโน้มน้าวผู้คนมีความคิดที่ผิดๆ

สิ่งที่สำคัญเวลานี้ คือ นอกเหนือจากทักษะใช้เทคโนโลยี เราจำเป็นต้องพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ ให้ผู้คนในสังคม อย่าเพียงแค่สอนให้คนเก่งแชร์ความคิดหรือข้อมูลต่างๆ ออกไป และแข่งเพียงว่า ใครแชร์ข้อมูลได้มากกว่ากันเท่านั้น