วางกลยุทธ์องค์กรตาม Top Technology Trends 2023

วางกลยุทธ์องค์กรตาม Top Technology Trends 2023

ทุกปีผมจะเขียนบทความสรุป แนวโน้มกลยุทธ์เทคโนโลยีที่บริษัทวิจัย Gartner ประกาศ แนวโน้มเหล่านี้เป็นกลยุทธ์ที่องค์กรต่างๆ จำเป็นต้องนำไปวางแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาว เตรียมพร้อมใช้เทคโนโลยีที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ปรับองค์กรให้ก้าวทันในยุคอุตสาหกรรม 4.0

สำหรับ Top Strategic Technology Trends ในปี 2023 นั้น Gartner ระบุแนวโน้มที่สำคัญมา 10 ด้าน แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มการเพิ่มประสิทธิภาพ (Optimizing) ทำให้ระบบไอทีมีความน่าเชื่อถือ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเรื่องการใช้ข้อมูลและระบบเอไอเข้ามาช่วยตัดสินใจ กลุ่มด้านการขยายตัว (Scaling) คือ การทำให้ระบบไอทีสามารถรองรับการทำงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การทำนวัตกรรมได้เร็วขึ้น และเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ จำนวนมากได้

กลุ่มการบุกเบิก (Pioneering) เป็นกลุ่มเทคโนโลยีที่จะทำให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจได้ รวมถึงปรับประสบการณ์การติดต่อกับลูกค้าและคนทำงาน การหาตลาดใหม่ๆ ในโลกเสมือน (Virtual market) และกลุ่มเทคโนโลยีเพื่อความยังยื่น (Sustainable Technology) ที่ต้องคำนึงถึงแนวคิด ESG ซึ่งหมายถึง สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล

สำหรับเทคโนโลยีแนวโน้มทั้ง 10 ด้านที่บริษัท Gartner ระบุไว้ประกอบด้วย

1.ระบบภูมิคุ้มกันดิจิทัล (Digital Immune System) คือ ระบบไอทีที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการเตรียมตัว และตอบสนองความเสี่ยงต่างๆ ทั้งด้านความปลอดภัย และการล่มของระบบ รวมถึงการกู้คืนระบบให้กลับมาดำเนินการได้ตามปกติ

2. การสังเกตประยุกต์ (Applied Observability) คือ เพิ่มประสิทธิภาพระบบไอทีที่จะรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้สามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว และอาจเป็นแบบเรียลไทม์

3. AI TRiSM คือ ระบบการทำเอไอที่มีความน่าเชื่อ (Trust) ลดความเสี่ยง (Risk) และมีความปลอดภัย(Security) ทั้งนี้ในปัจจุบันมีการนำข้อมูลมาพัฒนาระบบเอไอทำงานมากขึ้น จำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการทำให้ผู้ใช้งานระบบมีความเชื่อมั่นในความถูกต้อง และไม่เป็นการละเมิดข้อมูลส่วนตัว

4. แพลตฟอร์มคลาวด์สำหรับอุตสาหกรรม (Industry Cloud Platforms) เป็นการใช้ระบบคลาวด์บนแพลตฟอร์มต่างๆ ในการพัฒนาระบบไอทีในองค์กร ที่ต้องให้ระบบเหล่านั้นสามารถเชื่อมต่อกันได้ และสามารถต่อยอดไปทำโซลูชันใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อรองรับการขยายตัวขององค์กร

5. แพลตฟอร์มด้านวิศวกรรม (Platform Engineering) คือ แพลตฟอร์มที่สามารถให้นักพัฒนาไอที วิศวกรข้อมูล นักวิทยาการข้อมูล พัฒนาระบบได้อย่างรวดเร็ว และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างถูกต้อง

6. การรับรู้คุณค่าของระบบไร้สาย (Wireless-Value Realization) คือ ระบบไอทีที่สามารถเชื่อมโยงเทคโนโลยีไร้สายต่างๆ เช่น อุปกรณ์ IoT เซ็นเซอร์ มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ ผ่านระบบเครือข่ายต่างๆ เพื่อให้สามารถรองรับอุปกรณ์จำนวนมาก ด้วยราคาที่เหมาะสม และสามารถนำไปใช้ในการขยายตัวของธุรกิจได้

7. SuperApp คือ องค์กรควรจะต้องทำแอปหลักที่สามารถรวบรวมแอปย่อยๆ ไว้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อผู้ใช้งานจะได้ไม่ต้องเข้าใช้งานหลายแอปที่อาจมีวิธีใช้ที่แตกต่างกัน โดยเป็นการเพิ่มประสบการณ์ให้ผู้ใช้สามารถที่จะทำงานที่หลากหลายผ่านแอปหลักเพียงแอปเดียว

8. ระบบเอไอที่ปรับตัวได้ ( Adaptive AI) คือ การทำระบบเอไอที่สามารถพัฒนาโมเดลใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว พร้อมจะรองรับข้อมูลที่อาจเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เอไอสามารถจะเรียนรู้สภาพแวดล้อมใหม่ๆ ได้เอง และสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานได้อย่างเหมาะสมเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง

9. เมตาเวิร์ส (Metaverse) เป็นการรวบรวมเทคโนโลยีหลายอย่างเข้ามา องค์กรอาจจำเป็นที่จะต้องบุกเบิกนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาสินค้าหรือบริการใหม่ๆ ในโลกเสมือน

10. เทคโนโลยีเพื่อความยังยืน กล่าวคือ การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลขององค์กรจำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องของ ESG ในทุกๆ ด้าน ทั้งเรื่องของการใช้พลังงาน และการพัฒนาแอป

จากเทคโนโลยีทั้ง 10 ด้านนั้น Gartner ได้ชี้ให้เห็นว่า AI TRiSM, Wireless-Value Realization และ Industry Cloud Platforms คือ กลยุทธ์ที่จะมีผลกระทบภายในปีหน้านี้ ส่วน Digital Immune System, Platform Engineering และ SuperApp จะมีผลกระทบใน 1-2 ปีข้างหน้า และ Applied Observability, Adaptive AI และ Metaverse จะมีผลกระทบในอีก 2-3 ปี ส่วนเรื่องของเทคโนโลยีเพื่อความยังยื่น คือด้านที่ต้องคำนึงถึงตั้งแต่ตอนนี้

เราจะเห็นได้ว่ากลยุทธ์ที่บริษัท Gartner ระบุมาทั้ง 10 ด้าน ในแต่ละด้านไม่มีเทคโนโลยีหนึ่งเดียวที่จะตอบโจทย์ได้ แต่จะประกอบด้วยการประยุกต์นำเทคโนโลยีหลายๆ เรื่องมาใช้ การวางแผนกลยุทธ์ขององค์กรให้รองรับการแนวโน้มของเทคโนโลยีเหล่านี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง หากเราต้องการที่จะแข่งขันกับตัวเองในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และเป็นการสร้างกลยุทธ์ที่ดีในการเร่งองค์กรไปสู่ Digital Transformation