เปิดพันธกิจใหญ่ ‘ไมโครซอฟท์’ ปลุกทักษะดิจิทัลไทย 10 ล้านคน

เปิดพันธกิจใหญ่ ‘ไมโครซอฟท์’ ปลุกทักษะดิจิทัลไทย 10 ล้านคน

เปิดภารกิจ “ไมโครซอฟท์” เดินสายปลุกทักษะแรงงานไทย 10 ล้านคน โดยปี 2564 พัฒนาทักษะไปแล้วมากกว่า 280,000 คน ผ่านทั้งช่องทางออนไลน์ ออฟไลน์ นับว่าบรรลุเป้าหมายส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นด้านการสร้างทักษะดิจิทัลแก่คนไทยในปี 2564 วางเป้าเฟสใหม่ปี 2565 นี้ อีก 180,000 คน

“ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ไมโครซอฟท์ มีความสำเร็จในเฟสแรกของ ‘โครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อการจ้างงาน’ ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเสริมสร้างทักษะเชิงดิจิทัลแก่แรงงานไทย ภายใต้ความร่วมมือระหว่างไมโครซอฟท์กับพันธมิตรจากภาครัฐและภาคเอกชน หลังจากที่ได้พัฒนาความสามารถด้วยทักษะเชิงดิจิทัลให้แก่ชาวไทยจำนวน 280,000 คน ผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ตอนแรกที่ 250,000 คน ตามที่ได้ประกาศไว้ในงานเปิดตัวโครงการในเดือนธันวาคม 2563 

ทั้งนี้เป้าหมายของไมโครซอฟท์ ต้องการ ปั้นทักษะดิจิทัลให้กับบุคลากรในไทย 10 ล้านคน 

สำหรับในปี 2565 นี้ ไมโครซอฟท์เตรียมสานต่อเฟสสองของโครงการ ด้วยการปลดล็อคศักยภาพและสร้างโอกาสในการจ้างงานให้กับแรงงานชาวไทยเพิ่มเติมอีก 180,000 ในขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงส่งผลกระทบต่ออัตราการจ้างงานในประเทศอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลจากรายงานภาวะสังคมของประเทศไทย ประจำไตรมาสที่ 3 ของ ปี 2564 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ที่มีงานทำทั้งหมด 37.7 ล้านคน ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันในปี พ.ศ. 2563 ที่ 0.6 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่อัตราการว่างงานได้เพิ่มขึ้นในอัตราสูงสุดที่จำนวนผู้ว่างงาน 870,000 คนในปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ประเทศยังคงเต็มไปด้วยโอกาสอีกมากมาย เนื่องด้วยปัจจัยที่เอื้อต่อการเติบโตต่าง ๆ เช่น โลกออนไลน์ที่กำลังเติบโตในประเทศไทย ผลักดันให้มีความต้องการอาชีพนักการตลาดดิจิทัลมากขึ้น ในขณะที่บิ๊กดาต้าเข้ามามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมประสิทธิภาพให้กับการดำเนินงานของธุรกิจและภาครัฐ ทั้งยังช่วยการตัดสินใจในองค์การเหล่านี้ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนมากยิ่งขึ้น

"โครงการนี้ จะเป็นกำลังสำคัญให้ทุกคน ได้พัฒนาทักษะ และ สร้างทักษะใหม่ เพื่อสร้างทักษะอาชีพแห่งอนาคต เราเชื่อมั่นว่าโครงการนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถช่วยเปิดโอกาสสร้างความเป็นไปได้ทางอาชีพได้ดียิ่งขึ้น และจะยังคงต่อยอดได้ยิ่งขึ้นไปอีกในสถาณการณ์ที่โควิดยังอยู่กับเรา ซึ่งส่งผลต่ออัตราการว่างงานยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเรายังเชื่อว่าเทคโนโลยีและเครื่องมือดิจิทัลสามารถมีบทบาทที่สำคัญในการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมของตลาดแรงงานที่ใช้ทักษะให้มีความเท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้น และช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ในเชิงบวกให้แก่ประชากรทั่วประเทศได้”

เขากล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำด้านทักษะระดับโลก ยังเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนให้ตลาดแรงงาน มีสภาพการแข่งขันที่ดุเดือดยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดตำแหน่งงานใหม่ๆ ที่เป็นที่ต้องการของตลาด 

เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการสรรหาบุคลากรที่มีศักยภาพ (talent acquisition specialist) และพันธมิตรเชิงธุรกิจด้านทรัพยากรบุคคล เนื่องจากธุรกิจต่างต้องการเสริมความแข็งแกร่งด้านศักยภาพของพนักงาน และตามหาผู้ที่มีทักษะเฉพาะด้าน 

สำหรับในประเทศไทย อาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาด 10 อันดับประจำปี 2563 ประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักพัฒนาระบบแบคเอนด์ วิศวกรข้อมูล วิศวกรแบบฟูลสแตก เจ้าของผลิตภัณฑ์ นักวิเคราะห์ข้อมูล นักออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสรรหาบุคลากรที่มีศักยภาพ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัล และนักพัฒนาระบบฟรอนท์เอนด์