"เต็ดตรา แพ้ค" เผยผลสำรวจผู้บริโภค “วิถีใหม่” ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ขยะ สุขภาพ

"เต็ดตรา แพ้ค" เผยผลสำรวจผู้บริโภค “วิถีใหม่” ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ขยะ สุขภาพ

เต็ดตรา แพ้ค อินเด็กซ์ 2564 สำรวจแรงจูงใจและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลก ชี้ถึงเทรนด์ในยุคหลังการแพร่ระบาดของโควิด โดยผู้บริโภคกว่า 83% ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ปัญหาขยะ สุขภาพมากขึ้น เผยแบรนด์ควรเร่งปรับตัวชู "บรรจุภัณฑ์" เป็นปัจจัยแรกโน้มน้าวใจผู้บริโภค

3 เทรนด์หลักยังคงอยู่

\"เต็ดตรา แพ้ค\" เผยผลสำรวจผู้บริโภค “วิถีใหม่” ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ขยะ สุขภาพ

นายสุภนัฐ รัตนทิพ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เต็ดตรา แพ้ค ในปีนี้ได้จัดทำรายงานในหัวข้อ “วิถีใหม่ของผู้บริโภค” ในการจัดลำดับความสำคัญในเรื่องของอาหาร สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ที่ได้รับผลกระทบมาจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเปิดเผยว่าโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคหันมาคิดทบทวนถึงแนวทางการใช้ชีวิตและการเปลี่ยนวิถีชีวิตในแต่ละวันของพวกเขา

โดยในรายงานเต็ดตรา แพ้ค อินเด็กซ์ ฉบับล่าสุด การระบาดใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้ตอกย้ำให้ผู้คนมองเห็นคุณค่าของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการใช้เวลาอยู่กับครอบครัวที่บ้านหรือกับผู้คนรอบๆตัว การรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มร่วมกันซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญในความสัมพันธ์เหล่านี้ 

"โดยพื้นฐานแล้ว ความเปราะบางที่เกิดขึ้นกับตัวเอง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่เราทุกคนประสบในช่วงของการระบาดใหญ่ทั่วโลก ได้เปลี่ยนความกังวลไปสู่การดูแลป้องกันอย่างจริงจัง รวมถึงกระตุ้นให้เราเกิดความต้องการที่จะทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ตัวเราเอง อาหารของเรา ชุมชนของเรา และโลกของเรานั้นปลอดภัย นอกจากนี้ ความปลอดภัยและความมั่นคงด้านอาหารยังถือว่ามีความสำคัญมากเช่นกัน การระบาดใหญ่ชี้ให้เราได้ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพและยังได้แสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนต่าง ๆ ในระบบอาหารออกมาให้เราเห็นอย่างชัดเจน"

ดังเช่น ความกังวลมากมายที่มีต่อสิ่งแวดล้อมชัดเจนมากขึ้น มลพิษและขยะพลาสติกในมหาสมุทรนั้นถือเป็นความกังวลหลักที่เกิดขึ้นกว่า 83% ตามด้วยภาวะโลกร้อน 78% ซึ่งนับเป็นสามในสี่ของผู้บริโภคที่ทำแบบสำรวจใน 9 ประเทศ โดยนำหน้าความกังวลในเรื่องปัญหาขยะอาหาร 77% และการเข้าถึงอาหาร 71% ยิ่งไปกว่านั้น เกือบ 49% ของประชากรทั่วโลกยังตระหนักว่า ทุกการตัดสินใจของพวกเขาในชีวิตล้วนส่งผลส่งกระทบผลต่อสิ่งแวดล้อม

โควิดหนุนผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรม

โดยการขาดอิสรภาพและไร้ทางเลือกในช่วงกว่า 20 เดือนที่ผ่านมาได้ผลักดันให้ผู้บริโภคทำทุกหนทางที่จะได้กลับมาควบคุมและเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่เป็นอยู่  ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม พวกเขามองหาสิ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตแบบเชิงรุก ยกตัวอย่างเช่นการเลือกรับประทานอาหาร เพื่อยกระดับสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ และการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว โดยหันมารีไซเคิลกันมากขึ้นและลดการสร้างขยะ ยกตัวอย่างเช่น 62% ของผู้บริโภคให้ความสำคัญกับคุณภาพของสิ่งที่พวกเขาเลือกรับประทานและทำอาหารทานเองมากขึ้น ในขณะที่ 54% ทิ้งอาหารน้อยลงกว่าในช่วงก่อนเกิดการระบาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กว่า 72% ของผู้บริโภคเชื่อว่า “บุคคลเช่นฉัน” จะต้องลงมือทำทันที มิฉะนั้นจะล้มเหลวในรุ่นต่อไปในอนาคต

\"เต็ดตรา แพ้ค\" เผยผลสำรวจผู้บริโภค “วิถีใหม่” ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ขยะ สุขภาพ

ผู้บริโภคมองหาผู้ประกอบการที่จะช่วยนำและส่งเสริมนิสัยรูปแบบใหม่เหล่านี้ให้กับพวกเขาได้อย่างยั่งยืน โดยกว่าหนึ่งในสามของผู้ทำแบบสำรวจ 35% จะเลือกแบรนด์จากข้อมูลรับรองด้านความยั่งยืนมากกว่าในช่วงก่อนเกิดการระบาดใหญ่ ในขณะที่หนึ่งในสอง หรือคิดเป็น 50% กล่าวว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่บรรจุภัณฑ์อาหารจะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 61% คาดหวังให้ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มก้าวมาเป็นผู้นำในการหาแนวทางโซลูชันอันยั่งยืน
 

ผู้บริโภค 55% รอบคอบซื้ออาหารมากขึ้น

ทั้งนี้ สุภนัฐ กล่าวต่อไปว่า ด้วยการใช้เวลาอยู่บ้านมากกว่าที่เคย จะเห็น “ร่องรอย” ของขยะที่เราสร้างขึ้นมาได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ในการแก้ปัญหานี้ ผู้บริโภคเลือกเปลี่ยนการใช้ชีวิตในแต่ละวันของตัวเอง เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์รอบตัวที่เกิดขึ้น มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้บริโภค 55% มีความรอบคอบในการเลือกซื้ออาหารมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการทิ้งและสร้างขยะอาหาร ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่ง 46% ชี้ว่า ตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ พวกเขาพยายามคัดแยกขยะ ไม่ว่าจะเป็นกล่องกระดาษ แก้ว หรือพลาสติก เพื่อนำไปรีไซเคิลอย่างเหมาะสมต่อไป หนึ่งในสอง หรือ 50% บอกว่า พวกเขาจะหันมารีไซเคิลให้มากขึ้นในปีหน้า เพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงที่จะช่วยแก้ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

การระบาดใหญ่ยังทำให้ผู้คนคิดรอบคอบถึงสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น และมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นยิ่งขึ้นกว่าที่เคย พวกเขารู้ถึงคุณค่าในความสัมพันธ์ที่พวกเขามีอย่างแน่นแฟ้นกับเพื่อน ๆ ครอบครัว และผู้คนรอบ ๆ ตัวในรูปแบบใหม่ และการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มร่วมกันได้เข้ามามีบทบาทสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์นี้เป็นไปอย่างสนุกสนานและเพลิดเพลิน

การทำกิจกรรม “ร่วมกันนอกบ้าน” เพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ และผู้บริโภคหันมาเลือกซื้อของจากผู้ประกอบการท้องถิ่น และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากในประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงที่เพิ่มขึ้นระหว่างสิ่งแวดล้อมและสังคม นอกเหนือจากครอบครัวและเพื่อนฝูงแล้ว ทุกคนยังพยายามที่จะสร้างสังคมใหม่ร่วมกัน โดยเกือบหนึ่งในสาม หรือ 32% ร่วมผลักดันให้ชุมชนของพวกเขาหันมาลดขยะกันอย่างเต็มที่

ผู้บริโภคเร่งมองหาหนทางที่จะเปลี่ยนความเปราะบางที่เกิดขึ้นในชีวิตให้เป็นความยืดหยุ่น ซึ่งหมายถึงทำให้สุขภาพร่างกายและจิตใจของพวกเขาดีขึ้นผ่านการเลือกสรรอาหารและวัตถุดิบต่าง ๆ  ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดใหญ่ ผู้บริโภคต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และต้องสูญเสียหลาย ๆ สิ่ง สิ่งที่ชัดเจนก็คือ ผู้บริโภคกำลังหันมาเริ่มจากตัวพวกเขาเองเพื่อสร้างอนาคตที่มีความยั่งยืนมากขึ้น และคาดหวังว่าบริษัทต่าง ๆ จะเลือกทำแบบเดียวกัน รวมถึงช่วยให้พวกเขาสามารถทำภารกิจเพื่อโลกใบนี้ได้สำเร็จลุล่วง
 

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการแพร่ระบาดของโควิดมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งสามารถสรุปเป็น 3 เทรนด์หลักคือ 1. Happiness 2.Health 3.Enviroment โดยผู้ที่อยู่ในเซกเตอร์ของอาหารและเครื่องดื่มสามารถนำสิ่งนี้ไปปรับใช้ให้เข้ากับเทรนด์เพื่อสอดรับกับไลฟ์สไตล์วิถีใหม่ของผู้บริโภค

เทรนด์การเป็นตัวเองที่ดีขึ้นมาแรง!

"ผู้บริโภคยุคนี้มองหาสิ่งที่เรียกว่า “การเป็นตัวเองที่ดีขึ้น” ต้องการที่จะพัฒนาตัวเอง ดูแลตัวเองให้มีสุขภาพที่ดีตลอดเวลา เพราะการเป็นตัวเองที่ดีขึ้นแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ อาหาร สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งสามสิ่งนี้จะเป็นปัจจัยที่จะเป็นไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ด้วย รวมทั้งการที่ผู้บริโภคทำอาหารทางเองมากขึ้น จะช่วยสร้างโอกาสให้กับแบรนด์ได้ โดยผู้ผลิตควรตระหนักข้อนี้เพราะผู้บริโภคมองหาสิ่งที่จะมาตอบโจทย์ทางด้านสุขภาพที่ดีขึ้น ดังนั้นแบรนด์ หรือ ผู้ผลิตควรจะต้องผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ในเรื่องของสุขภาพ การออกกำลัง ดังนั้นการออกนวัตกรรมสินค้าจะต้องตอบโจทย์เรื่องของสุขภาพเป็นสำคัญ"

ฉะนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคมองหาคือการบริโภคอย่างรับผิดชอบ ถูกสุขลักษณะในทุกมุม จะเห็นได้ว่าจากการวิจัย 1 ใน 3 จะมองหาแบรนด์ที่ปรับมาตอบโจทย์ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เพราะต้องการเข้าไปเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์หรือแบรนด์ ดังนั้นในมุมของผู้ผลิตจึงต้องมีการสื่อสารอย่างโปร่งใสและชัดเจนไปสู่ผู้บริโภค อีกทั้งแบรนด์สามารถมีส่วนร่วมตรงจุดนี้ได้ 100% ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการควบคุมปริมาณ กลุ่มเป้าหมายของผู้บริโภค รวมถึงการให้ความรู้กับผู้บริโภคผ่านบรรจุภัณฑ์ 

ดังนั้นผู้ผลิตหรือแบรนด์หากเริ่มก่อนจะได้เปรียบ และบรรจุภัณฑ์เป็นด่านแรกที่ผู้บริโภคจะตัดสินใจซื้อ ทางด้านเต็ดตราแพ้ค ได้มีการปรับตัวให้ทันกับเทรนด์ด้วยเช่นกัน และแน่นอนว่าบรรจุภัณฑ์ของบริษัทมีการใช้เป็นวัสดุจากธรรมชาติและเป็นธรรมชาติที่สามารถทดแทนได้ เรียกว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทำ ส่วนการปรับตัวมีการปรับในหลายมุม ทั้งในแง่นวัตกรรมที่มีการพัฒนาเรื่อยๆเพื่อให้บรรจุภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด อีกทั้งการพัฒนาในมุมของพลังงาน ใช้ให้น้อยที่สุด และผลิตให้เยอะที่สุด 
 

“การ ‘กลับไปใช้ชีวิตธรรมดาในแบบเดิม ๆ’ ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงการทำอาหารที่บ้าน การรับประทานอาหารกับครอบครัว และการลดขยะ ได้เปลี่ยนความวิตกกังวลไปสู่การดูแลป้องกันอย่างจริงจัง  พฤติกรรมของพวกเรากำลังเปลี่ยนไปสู่วิถีใหม่จากการเกิดขึ้นของการระบาดใหญ่ และเราทุกคนต่างเต็มใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ในด้านสิ่งแวดล้อม ขยะ และสุขภาพด้วยตัวของเราเองมากกว่าที่เป็นมา” สุภนัฐ กล่าวทิ้งท้าย