‘วีมูฟ’ ตัวกลางฝากส่งสินค้า ลดช่องว่างบรรทุกอากาศ

‘วีมูฟ’ ตัวกลางฝากส่งสินค้า ลดช่องว่างบรรทุกอากาศ

แพลตฟอร์ม “วีมูฟ (WeMove)” สตาร์ทอัพผู้ให้บริการจับคู่งานขนส่งสินค้า ระหว่างลูกค้าหรือผู้ใช้บริการขนส่งสินค้า (Shipper) กับผู้ขนส่งสินค้า (Carrier) เพื่อให้บริการระบบขนส่งสินค้าแบบครบวงจร

ประสบการณ์จากการรับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว “นิ่มซี่เส็ง” ตลอดจนการทำงานร่วมกับบริษัทเครือข้ามชาติ “แฟลชเอกซ์เพรส” ระยะเวลากว่า 25 ปี “ปิยะนุช สัมฤทธิ์” มองเห็นข้อจำกัดในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ บวกกับปัญหาที่ไม่สามารถบริหารเที่ยวขนส่งทั้งไปและกลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการทำงานหลายขั้นตอน เสียเวลา เสียทรัพยากร ค่าใช้จ่ายสูง

ด้วยเหตุนี้จึงจุดประกายไอเดียในการพัฒนาแพลตฟอร์ม “วีมูฟ (WeMove)” ขึ้น พร้อมกับเปิดให้บริการไปเมื่อ พ.ค. ที่ผ่านมา

ตลาดขนส่งออนไลน์

ปิยะนุช ในฐานะ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง วีมูฟ แพลตฟอร์ม กล่าวว่า จากปัญหาที่พบในธุรกิจขนส่งจึงต้องการสร้างเครื่องมือเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการขนส่ง เพื่อนำนี้ไปใช้ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ขณะเดียวกันต้องการที่จะสร้างประสบการณ์ที่ดีและทางเลือกที่มากขึ้นให้กับผู้ใช้บริการ เช่น การแชร์พื้นที่ว่างของรถบรรทุกเพื่อสร้างรายได้หรือเพิ่มประสิทธิภาพการบรรทุก

วีมูฟมีบริการขนส่งสินค้า 2 รูปแบบ 1.บริการแบบเหมาคัน หรือ เต็มคัน คือ บริการขนส่งสินค้าโดยรถบรรทุกที่รับขนส่งสินค้าให้เฉพาะลูกค้ารายเดียวเท่านั้น โดยจะเป็นการจองรถขนส่งทุกประเภททั่วไทย เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่งสินค้า 2.บริการขนส่งสินค้าแบบไม่เต็มคันรถ หรือ ฝากส่งสินค้า (Less Than Truck Load) โดยให้บริการลูกค้ามากกว่า 1 ราย เหมาะสำหรับลูกค้าที่ต้องการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ หรือ สินค้าจำนวนไม่มากพอที่จะจ้างเหมาคัน ทำให้ลูกค้าประหยัดค่าใช้จ่าย ในตลาดยังไม่มีบริการนี้จึงถือเป็นผู้ให้บริการรายแรก

เทคโนโลยีของวีมูฟ ประกอบด้วยส่วนที่เป็นเว็บแอพพลิเคชั่นสำหรับลูกค้าและผู้ขนส่ง, โมบายแอพพลิเคชั่นสำหรับคนขับรถและเจ้าของรถคันเดียวเพื่อติดตามตำแหน่ง พร้อมทั้งระบบติดตามงานขนส่ง ระบบการชำระเงิน ระบบการประกันภัยสินค้า หรือแม้แต่ระบบบริหารจัดการภายในด้านการขนส่ง โดยหลักฐานการขนส่งทุกอย่างจะอยู่ในระบบ

ภาพรวมตลาด ปิยะนุช มองว่า ขนาดตลาดอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าของประเทศไทย 80% เป็นการขนส่งทางถนน โดยรถบรรทุกสินค้าในตลาดขนส่งของไทยนับตั้งแต่ประเภท 4 ล้อขึ้นไป มีจำนวนกว่า 6 ล้านคัน แต่กลับมีรถบรรทุกที่วิ่งเที่ยวเปล่ามากถึง 30% ดังนั้นหากมีการบริหารจัดการทรัพยากรร่วมกัน เพื่อให้ลูกค้าบริหารจัดการต้นทุน ส่วนผู้ประกอบการขนส่งได้รายได้และกำไรที่มากขึ้น เนื่องจากต้นทุนการขนส่งสินค้าทางถนนคิดเป็นร้อยละ 6.7 ต่อจีดีพี

ดังนั้น การแข่งขันของธุรกิจการขนส่งสินค้าจากนี้ไปจะเป็นการแข่งขันเชิงคุณภาพ ไม่ได้เป็นการแข่งขันด้านราคาอย่างเดียว แม้ว่าราคาเป็นสิ่งที่ลูกค้าใช้ในการตัดสินใจก็ตาม

ปลายทางร่วมนำสินค้าไทยสู่ตลาดโลก 

กลุ่มเป้าหมายที่วางไว้ ได้แก่ 1.กลุ่มลูกค้า ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล (Shipper) ผู้ซึ่งพึ่งพาการขนส่งสินค้าในชีวิตประจำวันมองหาการขนส่งที่สะดวกง่ายประหยัด 2.กลุ่มผู้ประกอบการขนส่ง (Carrier) ทั้งเจ้าของรถคันเดียว บริษัทขนาดเล็ก บริษัทขนาดกลาง หรือบริษัทใหญ่ ที่สนใจใช้ประโยชน์จากตลาดกลางออนไลน์ในการช่วยหางานให้รถใน fleet เพิ่มขีดความสามารถในการหางานเพื่อเพิ่มรายได้ เพิ่มกำไรในการบริหารจัดการรถบรรทุก ทั้งยังลดการจราจรบนถนน ลดจำนวนอุบัติด้วยเช่นกัน

จากการคาดการณ์ส่วนแบ่งทางการตลาด จำนวนรถบรรทุกในระบบ 1 หมื่นคันเท่ากับ 1% ของจำนวนรถบรรทุกในประเทศ โดยแผนการดำเนินงานในปีนี้จะเริ่มให้บริการออกสู่ตลาดทีละกลุ่ม เพื่อให้แพลตฟอร์มเป็นที่รู้จัก อีกทั้งจะเก็บประสบการณ์การใช้แพลตฟอร์มจากลูกค้าเพื่อนำมาพัฒนาและปรับปรุง ส่วนในปี 2565 บริษัทต้องการเป็นผู้นำตลาดกลางการขนส่งออนไลน์ในประเทศไทย และเป็นแพลตฟอร์มของผู้ขนส่งในการช่วยหางานให้รถบรรทุก

ในปี 2566 จะเชื่อมต่อกันด้วยซัพพลายเชน เพื่อส่งเสริมให้โลจิสติกส์ไทย และประเทศไทยเป็นฮับในอาเซียน โดยไม่ใช่แค่ทางภูมิศาสตร์ แต่เป็นเรื่องของนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้วย สุดท้ายจะนำพาสินค้าเกษตร สินค้าท้องถิ่นของคนไทยออกสู่ตลาดโลกแบบไม่ผูกขาดผ่านการขนส่งได้อย่างง่ายดาย

ติดตามสถานะได้เรียลไทม์

สำหรับโอกาสและความท้าทาย เธอมองว่า ทีมงานที่ต้องเข้าใจในผลิตภัณฑ์ เข้าใจองค์กร เข้าใจวิถีของการเป็นสตาร์ทอัพ และเงินทุน ที่จะต้องระมัดระวัง และวางแผนการใช้เงินและเวลาอย่างคุ้มค่า ทั้งยังต้องอาศัยการสนับสนุนของภาครัฐด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีในการขนส่งและโลจิสติกส์

ทั้งนี้ในช่วงวิกฤติโควิด-19 อาหารสดและผลไม้กลายเป็นปัญหาจากการขนส่ง ผู้ให้บริการขนส่งจึงเลือกที่จะตัดออกจากกระบวนการขนส่งและโลจิสติกส์ ในขณะที่การขนส่งสินค้าแบบ “ฝากส่ง” ที่ถูกสร้างขึ้นมาก่อนหน้านี้ ถูกยกมาเป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับการส่งอาหารสดในช่วงนี้

จุดเด่นของวีมูฟ คือ 1.บริการฝากส่ง ผู้ให้บริการรายแรก ลดเวลาลดขั้นตอนตรวจสอบได้ คุ้มค่าในการขนส่ง 2.ราคาที่โปร่งใสและเป็นธรรม สามารถเลือกราคาจากระบบ และราคาที่ผู้ให้บริการเสนอ หรือราคาประมูล 3.มีทีมผู้เชี่ยวชาญและมากประสบการณ์ทั้งจากฝั่งโลจิสติกส์ เทคโนโลยี และการพัฒนาแพลตฟอร์ม รวมทั้งมีการประกันความเสียหายสูงสุด 1 ล้านบาท

สำหรับแนวทางที่จะทำให้ธุรกิจยั่งยืน เธอมองว่า จะต้องสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อติดปีกให้ผู้ใช้บริการได้ใช้เครื่องมือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเมื่อขนส่งสินค้าทางถนนของประเทศไทยเติบโตด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี และก้าวสู่เวทีอาเซียนได้วีมูฟก็จะเติบโตเช่นกัน