ตามรอย ‘สเปซวอล์กเกอร์’ กวาดรางวัลนวัตกรรมหนุนโต

ตามรอย ‘สเปซวอล์กเกอร์’ กวาดรางวัลนวัตกรรมหนุนโต

สเปซ วอล์กเกอร์ (Space walker) นวัตกรรมรางวัลเหรียญทองระดับนานาชาติจากวิทยานิพนธ์ของหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องการออกแบบโครงช่วยฝึกเดินที่มีระบบพยุงน้ำหนักบางส่วนสำหรับผู้ที่มีปัญหาการเคลื่อนไหวด้านการเดิน 

ได้รับทุนสร้างนวัตกรรมจากหิ้งสู่ห้างจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. ผ่านทางกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ TED Fund ซึ่งมุ่งขับเคลื่อนและส่งเสริมเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีองค์ความรู้และดำเนินธุรกิจบนฐานของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเปลี่ยนนวัตกรรมเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ

161340494757

วรัตถ์ สิทธิ์เหล่าถาวร ผู้ร่วมพัฒนาสเปซวอล์กเกอร์ กล่าวว่า อุปกรณ์กายภาพบำบัดสำหรับผู้ที่มีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยที่เพิ่งผ่านการผ่าตัด หรือกลุ่มผู้สูงอายุ มีจุดเริ่มต้นมาจากการนำงานวิจัยจากการทำวิทยานิพนธ์ โดยมีไอเดียจากการมองเห็นในต่างประเทศมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า “ซีโร่ จี” เป็นอุปกรณ์ไดนามิกซัพพอร์ตที่อยู่เหนือหัว ต้องเดินไปตามราง มีข้อจำกัดคือใช้ได้เฉพาะในโรงพยาบาล หรือที่กำหนดไว้เท่านั้น 

ประกอบกับประเทศไทยยังไม่มีการพัฒนาเครื่องช่วยเดินที่มีระบบพยุงน้ำหนักอย่างจริงจัง มีเพียงไม้เท้า วอล์กเกอร์สีขาวและราวคู่ เมื่อคนไข้เดินส่งผลให้เสี่ยงต่อการหกล้มหรือการกลัวที่จะล้ม จึงเป็นเหตุผลในการพัฒนาอุปกรณ์ฝึกเดิน หรือ สเปซ วอล์กเกอร์ ขึ้นที่มีระบบพยุงน้ำหนักบางส่วนสำหรับผู้ที่มีปัญหาการเคลื่อนไหวด้านการเดิน เพื่อเข้ามาทำหน้าที่ในการช่วยผู้ป่วยที่กำลังฝึกกายภาพบำบัด หลังจากผ่าตัด ถือเป็นอุปกรณ์แบบใหม่ที่ยังไม่มีในประเทศไทย

วรัตถ์ กล่าวต่อไปว่า กลุ่มผู้ป่วยหลังจากผ่าตัดจะมีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อและจำเป็นต้องฝึกเดินอุปกรณ์จะช่วยแบ่งเบาภาระ ช่วยพยุงน้ำหนักในระหว่างการเดิน และช่วยป้องกันการหกล้ม อีกทั้งอุปกรณ์ยังเข้ามาช่วยแก้ปัญหาผู้ที่มีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรงสำหรับช่วยฝึกเดินได้ด้วย

161340496475

รับทุนเทดฟันด์หนุนโต

หลังจากพัฒนาชิ้นงานต้นแบบสำเร็จก็ได้ส่งประกวดเวทีสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้าง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการเข้าสู่การทำธุรกิจ ขณะเดียวกันเงินรางวัลที่ได้มายังใช้เป็นทุนปรับปรุงพัฒนาชิ้นงานให้ตอบโจทย์ผู้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ่ยกตัวอย่างเช่นรางวัลชนะเลิศ “GSB สุดยอด SMEs Startup ตัวจริง” เงินรางวัลสูงถึง 1 ล้านบาท 

161340499549

อีกทั้งได้รับการสนับสนุนทุนและการให้คำปรึกษาทางด้านการตลาดจากเทดฟันด์ หรือกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) ในการต่อยอดสู่การใช้จริงและขยายสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ กระทั่งล่าสุดมีแผนที่จะต่อยอดการสร้างแบรนด์ชื่อ WOKA ภายใต้ศูนย์วิจัยทางด้านการออกแบบพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมอย่างสร้างสรรค์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (CED2)

ทีมงานได้พัฒนาสเปซ วอล์กเกอร์ให้มีคุณภาพเทียบเท่ากับอุปกรณ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งราคาอุปกรณ์ที่มีลักษณะการทำงานใกล้เคียงกันสูงถึง 5 ล้านบาท แต่ลักษณะการทำงานไม่ตอบโจทย์การใช้งานในคนไทย ในขณะที่สิ่งประดิษฐ์ของไทยนี้สามารถผลิตได้ในราคา 5-6 หมื่นบาท

ปัจจุบันผลิตและจำหน่ายกว่า 200 ตัว ผ่าน 60 สถานพยาบาลทั่วประเทศ ทั้งหมดนี้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชนในการเข้าถึงอุปกรณ์นวัตกรรม รักษาได้ง่ายขึ้น ขณะที่ผ่านมาสเปซ วอล์กเกอร์มียอดขายรวม 9.5 ล้านบาท

“ความตั้งใจคืออยากให้คนไทยเข้าถึงอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพในราคาที่เข้าถึงได้ แต่แน่นอนว่าการทำธุรกิจไม่สามารถตอบโจทย์ทุกกลุ่มเป้าหมาย ดังนั้นหากภาครัฐผลักดันในการนำอุปกรณ์ไปอยู่ใกล้หน่วยงานชุมชน อนามัย ทั่วประเทศจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึง อาทิ การดำเนินงานคล้ายลักษณะแซนด์บ็อก ที่พยายามสนับสนุนให้หน่วยงานของราชการนำโปรดักท์ไปใช้ ในระดับมาตรฐานที่ประเมินว่าปลอดภัย แต่อาจจะยังไม่ได้ระดับสากลเพื่อให้มีรายได้ส่วนหนึ่งกลับมาสู่บริษัท และนำเงินตรงจุดนี้ไปพัฒนาโปรดักท์ต่อ ซึ่งทั้งหมดนี้หากผลิตได้จำนวนมากราคาก็จะถูกลง”

161340501951

เผยเส้นทางธุรกิจอนาคต

ส่วนคอนเซปต์ที่ถือเป็นจุดแข็งคือ Creative Engineering Design ใช้หลักการออกแบบที่ง่าย ไม่ซับซ้อนและใช้งานได้จริง ขณะเดียวกันแผนการดำเนินงานในอนาคต มีแพลนที่จะส่งออก โดยตั้งเป้ารุกตลาดอาเซียน แต่จะต้องดำเนินการเรื่องของมาตรฐานให้เสร็จภายในปีนี้ พร้อมรุกตลาดในประเทศให้ครอบคลุม ก่อนที่จะบุกต่างประเทศในปี 2565

ในอนาคตวางแผนจะขยายฟังก์ชั่นการทำงานเพิ่มขึ้นโดย พัฒนาให้ตอบโจทย์คนทุกกลุ่ม อาทิ ยืนไม่ได้ เดินไม่ได้ คาดว่าต้นแบบพร้อมจะลอนซ์ภายในเดือนหน้า อีกทั้งจะขยายสู่กลุ่มผู้ป่วยพิการทางสมอง ผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์ ส่วนระยะยาวตั้งเป้าจะพัฒนาโปรดักท์ที่ตอบโจทย์กับกลุ่มเป้าหมายโรคอื่นๆเพิ่มมากขึ้นครบทุกโซลูชั่นไม่ใช่เฉพาะการเดิน อาทิ ขา แขน ซึ่งจะเป็นการร่วมกับทางหน่วยงานวิจัยของธรรมศาสตร์ ทั้งนี้หากแบ่งสัดส่วนการใช้งานคือ ผู้ใช้ตามบ้าน 70% ส่วน 30% คือ สถานพยาบาล

161340503174

ปัจจุบันกำลังดำเนินการขอขึ้นบัญชีนวัตกรรม หากดำเนินการเสร็จสิ้นคาดว่าสัดส่วนลูกค้าจะเปลี่ยนไป เพราะเครื่องมือแพทย์แบ่งสัดส่วนแล้วนั้น 90% เป็นตลาดภาครัฐซึ่งถือเป็นผู้ซื้อรายใหญ่