วช.หนุนพัฒนา 5 จว.เหนือล่างบนระเบียง ศก.LIMEC

วช.หนุนพัฒนา 5 จว.เหนือล่างบนระเบียง ศก.LIMEC

วช.เฟ้น 5 ชุมชนใน 5 จว.เหนือล่างบนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ LIMEC เข้าสู่กระบวนการพัฒนาให้เป็นต้นแบบ ก่อนขยายสู่ชุมชนหลักอื่นๆ มุ่งสร้างชุมชนเศรษฐกิจเข้มแข็ง เตรียมพร้อมรับระบบคมนาคมขนส่งเชื่อม 3 ประเทศ

วช.ผนึก 5 มหาวิทยาลัยส่งผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง พัฒนาสินค้าและบริการในชุมชน มุ่งสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ตั้งเป้า 3 ปีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดโดยเฉลี่ย 8.5% เตรียมพร้อมรับการเปิดระบบขนส่งเชื่อมลาว เมียนมา ผ่านด่านพรมแดนภูดู่ อุตรดิตถ์

นางสาววิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับผู้บริหารระดับสูงของกลุ่ม 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ประกอบด้วย พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ ตากและอุตรดิตถ์ ว่า วช.ให้ทุนสนับสนุนโครงการพัฒนาชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ เตรียมพร้อมรับการพัฒนาเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจเชื่อมโยง หลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลำไย (LIMEC)

การดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จะเป็นแกนหลักทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเครือข่ายอีก 4 แห่ง ได้แก่ ม.นเรศวร เกษตรศาสตร์ ศิลปากร และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ โดยมีเป้าหมายการพัฒนาในอีก 3 ปีข้างหน้าที่นำไปสู่การเพิ่มอัตราเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดโดยเฉลี่ยในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่างไม่ต่ำกว่า 8.5% อัตราการจ้างงานเพิ่มเฉลี่ย 10% มูลค่าการค้าและการลงทุนในผลิตภัณฑ์และบริการของเศรษฐกิจชุมชนฯ มีอัตราเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 10%

“บันทึกข้อตกลงความร่วมมือที่ได้ลงนามไปนั้น เพื่อเป็นแนวนโยบายในการพัฒนาชุมชนจากแผนงานวิจัยที่เกิดขึ้นจริงก่อให้เกิดความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนางานวิจัย ตลอดจนการนำองค์ความรู้และผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ ได้อย่างบูรณาการ สอดคล้องความต้องการในพื้นที่ อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ” นางสาววิภารัตน์ กล่าว

157831989693

ทั้งนี้ LIMEC หรือ Luangprabang-Indochaina-Mawlamyine Economic Corridor คือการรวมตัวกันของภาคเอกชนอันประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรม หอการค้า สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ของ 3 ประเทศ คือ ประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และสหภาพเมียนมา ซึ่งมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และเส้นทางคมนาคมติดต่อกันได้ โดยทางประเทศไทย คือ บริเวณกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 "อินโดจีน” จังหวัดเพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก สุโขทัย และจังหวัดตาก ส่วน สปป.ลาว ได้แก่ แขวงไซยะบุรี แขวงหลวงพระบาง และสภาพเมียนมา ได้แก่ รัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ

LIMEC จึงเป็นระเบียงเศรษฐกิจระหว่างหลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลำไย ซึ่งเป็นแนวทางเชื่อมโยงเมืองที่สำคัญจากสมาชิกทั้ง 3 ประเทศเข้าด้วยกัน โดยมุ่งเน้นไปยังความสัมพันธ์ 5 ด้าน คือ การค้าการลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษา สุขภาพ และโลจิสติกส์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดการทำธุรกิจมีการเคลื่อนย้ายทั้งสินค้า บริการ ผู้คน เงินทุนและสารสนเทศระหว่างกันและกัน อันจะนำมาซึ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมร่วมกันของประชาชนในทุกเมืองของสมาชิกทั้ง 3 ประเทศ

อุตรดิตถ์ประตูเชื่อมเพื่อนบ้าน

ด้านนายธนากร อึ้งจิตรไพศาล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชนกลุ่มภาคเหนือตอนล่าง 1 ร่วมกับขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจ หลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลำไย (Luangprabang-lndochina-Mawlamyine Economic Corridor : LIMEC) ตั้งแต่ปี 2558 เพื่อเชื่อมโยงกลุ่มจังหวัดภาคเหนือล่าง 1 ผ่านทางด่านพรมแดนภูดู่ อ.บ้านโคก จ.อุตรดิตถ์ กับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ แขวงไซยะบุลีและแขวงหลวงพระบาง ของประเทศลาว กับรัฐกระเหรี่ยงและรัฐมอญ ของประเทศเมียนมาร์

การเชื่อมโยงนี้มุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งมั่นคงอย่างยั่งยืนใน 5 ด้าน ได้แก่ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษา สุขภาพและโลจิสติกส์ จะส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายทั้งสินค้า ประชากรและสารสนเทศ จะนำมาซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างสามประเทศ กระทั่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม.สัญจร ที่เพชรบูรณ์ เมื่อ ก.ย.2561 ขณะที่จุดผ่านแดนถาวรภูดู่ เป็นจุดที่มีความได้เปรียบเชิงพื้นที่โครงข่ายคมนาคมภายในประเทศ และโครงข่ายเชื่อมโยงไปที่ ลาว เวียดนามและจีน อีกทั้งตั้งอยู่ตรงข้ามกับด่านท้องถิ่นบ้านผาแก้ว เมืองปากลาย แขวงไซยะบุลี

157832007355

ด่านถาวรแห่งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) กระทรวงการคลัง และในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีการเปิดเส้นทางการเดินรถโดยสารปรับอากาศระหว่างประเทศ จากพิษณุโลก - อุตรดิตถ์ -แขวงไซยะบุลี ไปสิ้นสุดที่แขวงหลวงพระบาง ระยะทาง 558 กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของกระทรวงคมนาคมทั้งสองประเทศ จึงทำให้จุดผ่านแดนถาวรภูดู่มีศักยภาพในการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจ และเป็นประตูสู่ประชาคมอาเซียน

ระเบิดความแข้มแข็งจากภายในสู้ภายนอก

ศ.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ซึ่งเป็นเครือข่ายโครงการวิจัยพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนบนเส้นทาง LIMEC กล่าวว่า วช.ให้ทุนสนับสนุน 10.56 ล้านบาท ดำเนินโครงการเฟสแรก 12 เดือนสำหรับคัดเลือกผลิตภัณฑ์\บริการจาก 5 ชุมชนนำร่องจังหวัดละ 1 แห่งจาก 5 จังหวัดดังกล่าวมาทำการพัฒนายกระดับให้ได้มาตรฐาน เบื้องต้นทั้ง 5 ชุมชนนำร่องนี้ต้องมีอัตลักษณ์ของชุมชนที่ไม่เหมือนกัน ได้แก่ ลับแล อุตรดิตถ์, แม่ท้อ ตาก, เมืองเก่า สุโขทัย, นครไทย พิษณุโลก และเข็กน้อย เพชรบูรณ์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาส่งเสริม

157831991637
“โครงการพัฒนานี้เป็นไปตามนโนบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาลที่ระบุว่า จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ด้วยเหตุนี้ ในขณะที่มีการลงทุนก่อสร้างเส้นทางคมนาคม ในส่วนของสถาบันการศึกษาก็ร่วมกันสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และพยายามทำให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของชุมชนที่มีหลากหลายสามารถอยู่บนเส้นทาง LIMEC ได้ด้วย เวลาที่ระบบขนส่งพร้อมให้บริการ ไม่ใช่แค่การขนส่งสินค้าและคน แต่จะต้องเกิดการนำสินค้าของเราออกไปยังเพื่อนบ้าง เกิดการกระจายรายได้และความเจริญให้กับชุมชนของเราได้ด้วย”


ทั้งนี้ เครือข่ายฯ ตั้งเป้าระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี เพื่อให้ได้ตัวเลขการเติบโตตามเป้าหมายกำหนด ทั้งผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดเพิ่มอย่างน้อย 8.5% และจ้างงานเพิ่มเฉลี่ย 10% โดยปีแรกมุ่งค้นหาและยกระดับ 5 ชุมชนต้นแบบที่มีความแตกต่างกันในแต่ละจังหวัด เช่น ด้านเกษตรไม้ผล ด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านชาติพันธุ์ ด้านความเป็นธรรมชาติ โครงการปีที่ 2 จะขยายการขับเคลื่อนไปยังส่วนที่เป็นชุมชนหลักอื่นๆ ในจังหวัด ตั้งเป้ารวมทั้งหมด 30-40 ชุมชน จากนั้นจะไปเชื่อมต่อเมียนมาและลาวในปีที่ 3 อย่างไรก็ตาม แผนงานในปีที่ 2 ยังรวมถึงการเชื่อมโยงด้านการศึกษาและโรงพยาบาล เพราะบริเวณเส้นทางนี้มีทั้งมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลขนาดใหญ่อยู่หลายแห่ง จะสามารถรองรับการเข้ามาใช้บริการของประเทศเพื่อนบ้านได้ เพราะฉะนั้น เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจนี้ไม่ได้มีแค่การค้าการลงทุนของชุมชนแต่มองไปถึงมิติด้านสุขภาพและการศึกษาด้วย