ชงบอร์ดดีอีเคาะดีล 'ท่อร้อยสาย'
กสทช.ดึงงบยูโซ่คิดค่าเช่าทั้งโครงการ 2.5 หมื่นล.
เลขาธิการกสทช.จ่อชงบอร์ดดีอีเร่งสรุปค่าเช่าท่อร้อยสาย หลังกรุงเทพธนาคม-กทม.คิดราคาเบื้องต้นมาแล้ว 8,000 บาทต่อกิโลต่อเดือน พร้อมหั่นเหลือ 3,000-4,000 บาท อ้อนขอกสทช.ช่วยสนับสนุนรายจ่ายจากงบยูโซ่ทั้งโครงการ 25,000 ล้านบาท “ฐากร” ย้ำชัดวงเงินสนุนจะเป็นเท่าไรนั้นขอให้สรุปสัดส่วนเงินลงทุนมาเสนอกสทช.ก่อนเพื่อทำเรื่องนำเสนอต่อไป พร้อมลุยจัดระเบียบสายสื่อสารวางเป้าปีนี้เตรียมลุยทั้งประเทศรวมระยะทางรวมกว่า 4,000 กิโลเมตร หลังปี 62 ดำเนินการไปแล้วทั้งสิ้น 106 เส้นทาง ระยะทางรวม 275.128 กิโลเมตร
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการนำท่อสื่อสารลงดินของกรุงเทพมหานครที่ดำเนินการโดย บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด มูลค่า 25,000 ล้านบาท ว่า ล่าสุดกรุงเทพธนาคม (เคที) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ประชุมหารือร่วมกันถึงราคาค่าเช่ารายเดือน โดยกรุงเทพมหานครเสนอราคาค่าเช่ามาที่ 8,000 บาท ต่อกิโลท่อต่อเดือน ซึ่งราคาถูกกว่าที่บมจ.ทีโอทีให้บริการนำร่องอยู่ 200 กิโลเมตร ตามที่กสทช.กำหนดในราคา 9,000 บาท ต่อกิโลท่อต่อเดือน แต่ราคาดังกล่าวผู้ให้บริการมีความเห็นว่ายังสูงเกินไป ต้องการให้ลดราคาเหลือ 3,000-4,000 บาท ต่อกิโลท่อต่อเดือน แต่กรุงเทพมหานครไม่สามารถคิดค่าบริการในอัตราดังกล่าวได้ จึงขอให้กสทช.สนับสนุนเงินบางส่วนในการลงทุนทำท่อร้อยสายดังกล่าวด้วย
ดังนั้น ตนเองจึงมีความเห็นว่า นโยบายนี้เป็นเรื่องที่คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) กำหนดเพื่อปรับทัศนียภาพและสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน จึงเห็นควรให้นำเสนอเข้าที่บอร์ดดีอีในการอนุมัติให้กสทช.สามารถนำเงินกองทุนยูโซ่ มาสนับสนุนได้ ส่วนเงินสนับสนุนจะเป็นเท่าไรนั้น ขอให้ กรุงเทพธนาคม และ กรุงเทพมหานคร เป็นผู้คิดสัดส่วนเงินลงทุนมาเสนอกสทช.ก่อนว่าต้องใช้เงินลงทุนเท่าไร ถึงจะสามารถให้บริการค่าเช่าในราคา 3,000-4,000 บาท ต่อกิโลท่อต่อเดือน ได้เพื่อให้กสทช.ทำเรื่องนำเสนอต่อบอร์ดดีอีต่อไป
“การที่กสทช.นำเงินยูโซ่มาใช้ในโครงนี้นับว่าเป็นการใช้งานตรงวัตถุประสงค์กสทช.ก็ได้ประโยชน์ เพราะเมื่อมีการจัดระเบียบสายเรียบร้อย การขยายเน็ตเวิร์กใหม่ ก็จะสะดวกขึ้น ไม่มีสายระโยงระยาง และไม่มีอันตรายเกิดกับประชาชน”นายฐากร กล่าว
พร้อมกันนี้ วานนี้ (6 ม.ค.)สำนักงาน กสทช. ได้ให้การต้อนรับคณะกรรมาธิการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมทั้งประชุมร่วมกันเรื่องการจัดระเบียบสายสื่อสารปีนี้ ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากปีก่อน มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาสายสื่อสารที่ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ด้วยการรื้อถอนสายสื่อสารและอุปกรณ์ที่ไม่ใช้งานออกจากเสาไฟฟ้า และมัดรวบสายให้เรียบร้อย เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ และสร้างความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
โดยพื้นที่แรกที่จะมีการจัดระเบียบสายสื่อสารซึ่งได้ดำเนินการในวันนี้ คือเส้นทางถนนพหลโยธิน ซอย 7 (ซอยอารีย์) ตั้งแต่บริเวณต้นซอยจนถึงหน้าสำนักงานสรรพากรทั้งสองฝั่ง รวมระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเส้นทางที่เป็นส่วนต่อขยายจากถนนพหลโยธินที่มีการดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดินไปแล้ว ตั้งแต่ห้าแยกลาดพร้าวถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยปีนี้มีแผนดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 8 เส้นทาง ระยะทางรวม 37.7 กิโลเมตร และสนับสนุนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
อย่างไรก็ดี ในส่วนพื้นที่ภูมิภาครวม 74 จังหวัดทั่วประเทศ ระยะทางรวมกว่า 4,000 กิโลเมตร ทั้งนี้ ในปี 2562 สำนักงาน กสทช. ได้จัดระเบียบสายสื่อสารทั่วประเทศแล้วทั้งสิ้น 106 เส้นทาง ระยะทางรวม 275.128 กิโลเมตร แบ่งเป็นเส้นทางในกรุงเทพมหานคร 24 เส้นทาง ระยะทาง 27.21 กิโลเมตร และเส้นทางใน 4 ภาคทั่วประเทศ อีก 82 เส้นทาง ระยะทาง 247.918 กิโลเมตร