'พันธวณิช' ชิง 'อีโพรเคียวเม้นท์' 5 แสนล้าน

'พันธวณิช' ชิง 'อีโพรเคียวเม้นท์' 5 แสนล้าน

ชูซอฟต์แวร์เด่นเทียบชั้นอินเตอร์ บุกหนักตลาดองค์กร ดีเดย์ 3ปี ลุยอาเซียน

“พันธวณิช” สบช่องกระแสดิจิทัลเปลี่ยนผ่านธุรกิจ-นโยบายไทยแลนด์ 4.0 หนุนลงทุนซอฟต์แวร์จัดซื้ออิเล็กทรอนิกส์ เร่งเครื่องบุกหนักองค์กรธุรกิจขนาดกลาง-ใหญ่ ชูคุณภาพเทียบชั้นแบรนด์ยุโรป อเมริกา แต่ราคาถูกกว่า 50% บริการหลังการขายเหนือกว่า ตั้งเป้า ปี 2560 รายได้โต 30% ดีเดย์ใน 3 ปี โกอินเตอร์รุกทำตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายอภิสิทธิ์ คุปรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พันธวณิช จำกัด ผู้ให้บริการระบบจัดซื้ออิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า ภาพรวมการลงทุนซอฟต์แวร์จัดซื้ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Procurement) ในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตแบบก้าวกระโดดรับอานิสงส์นโยบายไทยแลนด์ 4.0 และดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่น
บริษัทคาดว่า ปี 2560 มูลค่าตลาดรวมจะอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านบาท หรือเติบโตอย่างน้อย 20% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา การลงทุนจะมีทั้งรายเดิมที่ขยายเพิ่มและรายใหม่ๆ

ปัจจัยสำคัญ ผลักดันโดยกระแสการมาของดิจิทัล การค้าระดับเวิลด์อีโคโนมี การแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรงท่ามกลางเศรษฐกิจไม่แน่นอนซึ่งผลักดันให้ต้องบริหารจัดการต้นทุนให้ดีที่สุด รวมถึงการซื้อการขายที่ไร้พรมแดน

ปัจจุบัน การซื้อขายผ่านอีโพรเคียวเมนท์ในประเทศไทยมีมูลค่าราว 5 แสนล้านบาท จากจำนวนดังกล่าวมาจากพันธวณิชกว่า 2 แสนล้านบาท

ส่วนของบริษัท กลยุทธ์ธุรกิจปีนี้มุ่งทำให้ลูกค้าลงทุนอย่างสมเหตุสมผล ชูจุดต่างที่คุณภาพไม่ได้ด้อยไปกว่าซอฟต์แวร์จากยุโรปหรืออเมริกาทว่าราคาถูกกว่า 50% มากกว่านั้นมีความยืดหยุ่นสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามโจทย์ธุรกิจลูกค้า ด้วยเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ท้องถิ่นมั่นใจว่ามีความเข้าใจความต้องการตลาด ข้อบังคับ กฎหมาย ภาษา สามารถให้บริการหลังการขายได้ดีกว่ารายที่มาจากต่างประเทศ

“เรามีทีมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ 100 คน ทีมบริการลูกค้า 100 คน ปีนี้บริษัทยังแผนลงทุนวิจัยและพัฒนาเพิ่มด้วยงบเกือบ 100 ล้านบาท สำหรับซื้อฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และการเพิ่มสายผลิตภัณฑ์สำหรับธุรกิจขนาดกลาง”

ด้านผลิตภัณฑ์ นำเสนอรูปแบบแพลตฟอร์มโดยมีทั้งซอฟต์แวร์และการบริการ โดยทั่วไปมูลค่าการลงทุนเริ่มต้นจะอยู่ที่ราว 10 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ปีนี้จะเพิ่มทางเลือกสำหรับธุรกิจขนาดกลางใช้งบลงทุนน้อยกว่า 5 ล้านบาท

ลูกค้าหลักของบริษัทมาจากกลุ่มโทรคมนาคม ค้าปลีก การเงินการธนาคาร รวมกว่า 200 ราย ปีนี้ยังคงมุ่งเจาะฐานตลาดเดิม พร้อมขยายไปสู่กลุ่มใหม่ๆ อย่างธุรกิจประกันภัย อุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจขนาดกลางพนักงานประมาณ 100-200 คน เน้นรายที่ต้นทุนมีผลอย่างมากต่อการทำกำไร รายที่ต้องการขยายสาขาไปต่างประเทศ

นอกจากนี้ เตรียมเพิ่มน้ำหนักกิจกรรมทางการตลาดมากขึ้นในปีนี้ เน้นให้ความรู้ความเข้าใจตลาด เข้าร่วมงานสัมมนา อีเวนท์ ด้วยตลาดไทยยังขาดการความเข้าใจและการยอมรับ นิยมซื้อซอฟต์แวร์แบรนด์ต่างชาติมากกว่าบริษัทซอฟต์แวร์ไทย

ที่ผ่านมาประเด็นที่ลูกค้ากังวลมักเป็นเรื่องความเข้าใจ ความไม่มั่นใจ รวมถึงการคืนทุนเมื่อตัดสินใจลงทุน เรื่องนี้จากประสบการณ์พบว่าการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ ปีแรกสามารถลดต้นทุนได้ 10-15% ลดเวลาการทำงานเกิน 50% ทั้งช่วยสร้างมาตรฐานใหม่การจัดซื้อ เมื่อถึงปีที่ 2 ลดต้นทุนได้ไม่น้อยกว่า 20% ทั้งสามารถนำข้อมูลที่เก็บไว้ไปต่อยอดโดยการผสานเทคโนโลยีบิ๊กดาต้า

บริษัทตั้งเป้าไว้ว่า รายได้รวมปีนี้จะเติบโตไม่น้อยกว่า 30% มีลูกค้าเพิ่มขึ้นอีก 20% จากปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดในไทยกว่า 50% ปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกแน่นอน

โดยรวมอีโพรเคียวเมนท์ทำสัดส่วนรายได้ให้บริษัท 80% ส่วนอีก 20% มาจากธุรกิจขายส่งอุปกรณ์สำนักงานบนอีคอมเมิร์ซรูปแบบบีทูบี ผ่านเว็บไซต์ goodchoiz.com ธุรกิจดังกล่าวเติบโตได้ดีมาก เพียงไตรมาสแรกโตไปแล้ว 200% เนื่องจากไม่ได้มีต้นทุนหน้าร้านทำให้สามารถทำโปรโมชั่นลดราคาได้มากขึ้น

พร้อมระบุว่า หลังจากนี้อีก 2-3 ปี มีแผนขยายตลาดอีโพรเคียวเมนท์สู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โมเดลธุรกิจจะเข้าไปตั้งสำนักงานและให้บริการแก่บริษัทในท้องถิ่นนั้นๆ ประเมินขณะนี้คู่แข่งในระดับภูมิภาครวมบริษัทเองมีอยู่เพียง 3 ราย