‘70 ชุด 70 ปี’ ดวงตราไปรษณียากร เฉลิมพระเกียรติ 'รัชกาลที่ 9

‘70 ชุด 70 ปี’ ดวงตราไปรษณียากร เฉลิมพระเกียรติ 'รัชกาลที่ 9

ตราไปรษณียากรเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชตลอด 7 ทศวรรษ มีทั้งสิ้น 70 ชุด 349 แบบจำนวนพิมพ์กว่า 2 พันล้านดวง

ธ สถิตอยู่ในใจไทยทั้งปวงวลี ที่คนไทยคุ้นหูกันดีด้วยพระราชกรณีกิจและพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ทรงครองสิริราชสมบัติเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า หลายหน่วยงานจึงได้จัดทำผลงานหรือสิ่งของที่ระลึก พระราชกรณียกิจและพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้รับการถ่ายทอดผ่านดวงตราไปรษณียากรจำนวนมาก เพื่อให้พสกนิกรได้ซาบซึ้งถึงพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น

นายวิบูลย์ เสรีชัยพร ผู้จัดการฝ่ายตลาดไปรษณียากร บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เล่าว่า ตราไปรษณียากรเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชตลอด 7 ทศวรรษที่ผ่านมามีทั้งสิ้น 70 ชุด 349 แบบจำนวนพิมพ์กว่า 2 พันล้านดวง จำแนกแต่ละชุดได้ดังนี้

1.ตราไปรษณียากรพระบรมฉายาลักษณ์ 10 ชุดหรือการจัดทำแสตมป์ทั่วไป (definitive stamp) โดยปกติจะทำเป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระมหากษัตริย์ของประเทศ โดยจัดทำขึ้นชุดแรก เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2490 ชื่อชุด พระบรมฉายาลักษณ์ ร.9 ชุด 1 (สยาม) หลังจากนั้นได้จัดทำขึ้นอย่างต่อเนื่องอีก 9 ชุด จนถึงชุดสุดท้ายปี 2553 รวมทั้งสิ้น 10 ชุด

2.ตราไปรษณียากรฉลองครบรอบพระชนมายุจำนวน 24 ชุด จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวันคล้ายวันพระราชสมภพ 5 ธ.ค.ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เริ่มต้นจัดทำชุดแรกในวโรกาสที่ทรงสามารถใช้สิทธิตามกฎหมาย เมื่อทรงพระชนมายุ 20 พรรษา และจากนั้นมีการจัดทำทุก 1 รอบ (12 ปี) ในปี 2506, 2518, 2530, 2542, 2554 ซึ่งหลังจากชุดปี 2554 ก็ทำขึ้นทุกปี และชุดสุดท้าย คือ ชุดที่ระลึกวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อพระชนมายุ 88 พรรษา ในปี 2558

3.ตราไปรษณียากรพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ 13 ชุด เพื่อเฉลิมฉลองวโรกาสพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทำขึ้นครั้งแรกในวโรกาสที่ระลึกพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ปี 2493 และจากนั้นเป็นการจัดทำตราไปรษณียากรที่ระลึกในวโรกาสครองสิริราชสมบัติครบ 25 ปีชื่อชุด ที่ระลึกรัชดาภิเษก และชุดครบรอบ 28 ปี 50 ปี จนถึงชุดสุดท้ายครบรอบ 60 ปี ที่จัดทำขึ้นในปี 2553

4.ตราไปรษณียากรพระราชกรณียกิจและพระอัจฉริยภาพ 5 ชุด จัดทำขึ้นเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงพระราชกรณียกิจ ที่ทรงทุ่มเทปฏิบัติด้วยพระอัจฉริยภาพ ชุดแรกที่จัดทำ คือ ตราไปรษณียากรที่ระลึกโครงการดำเนินการตามพระราชดำริ เพื่อเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและชุดอื่นๆ ได้แก่ ที่ระลึกพระราชอัจฉริยภาพด้านโทรคมนาคม ที่ระลึกการเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่ระลึกพระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย และชุดสุดท้ายชื่อชุด ที่ระลึกพระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดินเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในพระราชกรณียกิจด้านการศึกษา ที่จัดทำขึ้นเมื่อปี 2555

5.ตราไปรษณียากรราชาภิเษกสมรส 4 ชุด เพื่อร่วมบันทึกความประทับใจและร่วมเฉลิมฉลองวโรกาสราชาภิเษกสมรสระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ โดยมีไฮไลต์ เป็นชุดพิเศษ คือ ตราไปรษณียากรที่ระลึก 60 ปี ราชาภิเษกสมรสซึ่งประดับด้วยคริสตัลแท้จากออสเตรียเป็นภาพ 2 ชุด พระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ทรงฉายไว้เมื่อครั้งพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสพื้นแบคกราวน์สีชมพูและพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถพระชนมพรรษาปัจจุบัน พื้นแบคกราวน์สีเหลืองประดับด้วยวัสดุการพิมพ์เป็นภาพเพชรรูปหัวใจจำนวน 6 เม็ด

6.ตราไปรษณียากรที่ระลึกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 17 ชุด เป็นตราไปรษณียากรที่จัดทำขึ้นเนื่องในวโรกาสต่างๆ โดยแต่ละชุดล้วนแสดงถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทั้งสิ้น เช่น ตราไปรษณียากรที่ระลึกเอเชี่ยนเกมส์ตราไปรษณียากรที่ระลึกงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ตราไปรษณียากรที่ระลึกงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์

อย่างไรก็ตาม ตราไปรษณียากรเฉลิมพระเกียรติชุดล่าสุด และถือเป็นชุดสุดท้ายที่จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 คือ ชุด 100 ปีงานวิจัยข้าวไทยกำหนดออกจำหน่ายเมื่อวันที่ 16 ส.ค.2559 เป็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย ทุ่งมะขามหย่อง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา