‘เถ้าแก่น้อย’ จุดเริ่มปั้นนักธุรกิจรุ่นใหม่

‘เถ้าแก่น้อย’ จุดเริ่มปั้นนักธุรกิจรุ่นใหม่

ตามไปดูไอเดียคนปั้นสตาร์ทอัพยุคบุกเบิก

จากไอเดียของลูกชายคนโตเถ้าแก่ดั้งเดิม ยุคบุกเบิกเทคโนโลยีเสาอากาศทีวีแห่งกลุ่มสามารถที่ต้องการคืนกำไรสู่สังคม เป็นจุดเริ่มต้นของการก่อกำเนิดนักพัฒนาเทคโนโลยีรุ่นใหม่เมื่อ 14 ปีก่อน ผ่านโครงการสามารถ อินโนเวชั่น อวอร์ด


ณ วันนี้ พัฒนาเป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มสามารถ สวทช. และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในโครงการ “Young Technopreneur”

นายเจริญรัฐ วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.สามารถ คอร์ปอเรชั่น ย้อนอดีตว่า เป็นไอเดียของตัวเองที่เริ่มทำโครงการสามารถ อินโนเวชั่น อวอร์ด เมื่อ 14 ปีที่แล้ว ก่อนจะมีบริษัทใหญ่ๆ เงินทุุนหนาๆ เข้ามาทำโครงการคล้ายๆ กัน แต่ยิ่งใหญ่ ด้วยมีเงินทุนสนับสนุนจำนวนมากกว่า

“ที่ทำก็เพราะคิดจะคืนกำไรให้สังคมไทย ด้วยบริษัทกลุ่มสามารถเกิดจากอินโนเวชั่นของคุณพ่อผม ที่เรียนโรงเรียนจีน แต่มีพี่ชายเป็นช่าง ก็เรียนรู้กันไป จนกระทั่งประเทศไทยมีสถานีโทรทัศน์ เริ่มแรกก็ช่อง 4 บางขุนพรหม แต่พื้นที่ไกลๆ รับสัญญาณโทรทัศน์ไม่ได้ เช่น ลพบุรี พัทยา สัตหีบ กาญจนบุรี คุณพ่อคิดผลิตเสารับสัญญาณโทรทัศน์ โดยมีโรงงานเล็กๆ ที่สะพานใหม่”

อดีตของการเริ่มผลิตเสาอากาศทีวี ที่ถ่ายทอดจากปากลูกชายคนโตคือ คุณพ่อ (นายเชิดชัย วิไลลักษณ์ หรือนายช่างสามารถ) ปรึกษากับเพื่อนๆ ซึ่งยุคนั้นมีฐานทัพอเมริกันอยู่ในประเทศไทย ทหารอเมริกันมีเครื่องมือเครื่องใช้รับส่งสัญญาณวิทยุที่ดี ยี่ห้อฮิวเลตต์ แพคการ์ด (เอชพี) และมีบริษัทตัวแทนโมโตโรล่าอยู่ในประเทศ จึงได้ไปคุยกับคนของบริษัทนั้นแล้ว“ซื้อตัว” ช่าง กับขอซื้อเครื่องมือเก่าๆ ของทหารอเมริกัน มาสร้างเสาอากาศทีวี ที่ยุคแรกอาจจะใหญ่โต เทอะทะ ความยากของเสาถึง 3 ท่อน

"คุณพ่อไม่ใช่เก่งอย่างเดียว แต่เฮงด้วย จากเดิมมีช่อง 4 บางขุนพรหม เป็นโลว์ แบนด์ ต่อมาก็มีช่อง 7 เป็นไฮแบนด์ โรงงานผลิตเสา เท่าไรก็ไม่พอ มีคนมารอที่โรงงาน และพอพายุมาก็กวาดเสาล้มหมด ต้องซื้อใหม่ ทำยอดขายปีละ 500 ล้านบาท มีเงินส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ"

จากนายช่างสามารถ ที่ลูกชายคนโต เล่าว่า “เอาเทคโนโลยีต่างประเทศที่ซัคเซสฟลู มาอดอปต์กับสังคมไทย” เป็นแรงบันดาลใจให้พอถึงรุ่นตัวเองจึงต้องการคืน“อะไร”แก่สังคมบ้าง ผนวกกับความฝันจะ“เอ็กซพอร์ต” อะไรที่ขายได้ทั่วโลก เป็นจุดก่อเกิดโครงการสนับสนุนนักพัฒนาเทคโนโลยีรุ่นใหม่

ไม่เพียงเท่านี้ จากรุ่นพ่อสร้างเสาอากาศ รุ่นลูกทำดาวเทียม ที่ลูกชายซึ่งออกตัวว่า ผมแก่แล้ว เลยเล่าเรื่องเก่าๆ ให้ผู้ฟังโครงการ Young Technopreneur Meet Investors (เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยีพบนักลงทุน) บอกด้วยว่า การทำจานรับสัญญาณดาวเทียมนั้นขอเงินคุณแม่ ที่เชื่อมั่นในลูกชายที่จะทำอะไรใหม่ๆ ได้ จำนวน 7 ล้าน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของสามารถในวันนี้

ทั้งหมดล้วนเป็นแรงผลักดันให้โครงการเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี มีอย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากเอกชนรายเดียวลุยเดี่ยวสนับสนุน ก็ขยับขยายความร่วมมือกับเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย ภายใต้ สวทช. และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

เบียร์โนวา คว้ารางวัล

ปีนี้ โครงการประกวดผลงานกันมาตั้งแต่ เม.ย. 2559 มีผู้ส่งผลงานเข้าแข่งขัน 66 ทีม การคัดเลือกดำเนินการมาเรื่อยๆ เหลือ 25 ทีม และ 10 ทีมมานำเสนอผลงานแก่นักลงทุน และคัดเลือกผู้ชนะ ได้แก่ Beernova ผู้ผลิตวัสดุทดแทนไม้ ทดแทนกระจกคุณภาพสูงจากกากเบียร์ ที่ผ่านเข้ารอบในประเภทเทคโนโลยีเพื่อการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อม

ส่วนอีก 9 ผลงานที่น่าสนใจ แบ่งเป็นประเภทเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพและเพื่อผู้สูงอายุ คือ อะพาร่า ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสกัดจากเซรั่มน้ำยางพารา Zzzleepillow นวัตกรรมหมอนที่ช่วยแก้ปัญหาการนอนไม่หลับ FitMeUp แอพพลิเคชั่นช่วยแนะนำการออกกำลังกาย

ประเภทเทคโนโลยีเพื่อการพาณิชย์และการขนส่ง คือ HandyWings ระบบบริหารจัดการงานซ่อมแซมที่อยู่อาศัยแบบครบวงจร HOPS แอพพลิเคชั่นที่ช่วยประชาสัมพันธ์ข้อมูลการตลาด JordSabuy บริการจองที่จอดรถ

ประเภทเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา คือ Glurr.com แพลตฟอร์มเพื่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของนักศึกษา จับจ่าย เทคโนโลยีสร้างบัญชีเงินฝากระหว่างนักเรียนกับโรงเรียนด้วยลายนิ้วมือ และมิวอาย เลนส์เปลี่ยนสมาร์ทโฟนเป็นกล้องจุลทรรศน์,