TCELSแนะรัฐร่วมทุนเอกชนผุดโรงงานสกัดน้ำยางพารา

TCELSแนะรัฐร่วมทุนเอกชนผุดโรงงานสกัดน้ำยางพารา

TCELSเสนอรัฐร่วมลงทุนสร้างโรงงานผลิตสารสกัดน้ำยางพารา เชื่อหากทำเต็มรูปแบบ รอดวิกฤติราคายางตกต่ำ

ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (TCELS) กล่าวว่า มูลค่าการตลาดของไวท์เทนนิ่งในระดับเอเซียแปซิฟิคในอีก 2 ปีข้างหน้าจะสูงถึง 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 300,000 ล้านบาท เครื่องสำอางชะลอวัยจากสารสกัดยางพารา ที่มีทั้งครีมหน้าขาว เจลล้างหน้า และเซรั่มบำรุงผิว

ซึ่งเป็นผลงานการวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และมหาวิทยาลัยนเรศวร นั้นสามารถเข้าไปแชร์ส่วนแบ่งการตลาดได้อย่างแน่นอน เนื่องจากเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีการค้นพบและนำมาผลิตเป็นเครื่องสำอางแล้ว อีกทั้งการออกสู่ตลาดก็ได้รับการตอบรับดีมาก

" ขณะนี้ความสามารถในการผลิตยังอยู่ในระดับต่ำ คือ ผลิตได้เพียง 1% ของศักยภาพการผลิตทั้งประเทศ แต่กำลังอยู่ระหว่างการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่ภาคเอกชน และเมื่อมีการลงทุนพัฒนากระบวนการผลิตขนาดใหญ่ การผลิตก็จะทำได้มากขึ้น ส่วนการลงทุนนั้นอาจจะเป็นการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนหรือเป็นการลงทุนจากภาคเอกชนทั้งหมด ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลและความพร้อมของภาคเอกชนด้วย "

ด้าน ศ.ดร.รพีพรรณ วิทิตสุวรรณกุล เจ้าของงานวิจัยฯ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า เครื่องสำอางจากสารสกัดน้ำยางพารา เป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่ต่างประเทศแข่งขันกับเราไม่ได้ เราเป็นรายแรกและรายเดียวในขณะนี้ที่ทำได้เนื่องจากต้องใช้น้ำยางสด และประเทศไทยเองก็สามารถผลิตน้ำยางสดได้เป็นอันดับ 1 ของโลก จึงถือเป็นความลงตัวที่เป็นจุดแข็ง

ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจในส่วนที่นำมาสกัดเป็นเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอื่น ๆ เชื่อว่ามูลค่าใหม่ที่สร้างขึ้นนี้จะมีรายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาล แม้ว่ากระแสการตอบรับของเครื่องสำอางจะอยู่ในระดับดีมาก แต่ก็มีเสียงสะท้อนถึงการวางตลาดที่ยังจำกัดอยู่ในวงแคบ หาซื้อยากจึงจำเป็นต้องมีภาคเอกชนที่เป็นมืออาชีพเข้ามาร่วมลงทุนในแง่ของการตลาดและการประชาสัมพันธ์ ขณะเดียวกันรัฐบาลเองก็ควรร่วมลงทุนสร้างโรงงานผลิตสารสกัดจากน้ำยางพารา เพื่อป้อน เอกชนต่อไป ทั้งนี้เชื่อว่าหากมีการดำเนินการเต็มรูปแบบแล้ว ปัญหาราคายางตกต่ำจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน