"อานนท์ ทับเที่ยง" ปั้นมืออาชีพโทรคม-บรอดแคสต์บุกเรดโอเชี่ยน

"อานนท์ ทับเที่ยง" ปั้นมืออาชีพโทรคม-บรอดแคสต์บุกเรดโอเชี่ยน

อดีตซีอีโอทีโอทีวิเคราะห์หนทางอยู่รอด 2 รัฐวิสาหกิจโทรคมนาคมประเทศ "ทีโอที-กสท" ลั่นต้องเร่งปลดแอกรูปแบบการบริหารแบบราชการหันรุกธุรกิจใหม่ๆ

"อานนท์ ทับเที่ยง" อดีตซีอีโอ "บมจ.ทีโอที" ผันตัวสู่อาจารย์ในสถาบันการศึกษานั่งประธานสาขาการจัดการโทรคมนาคม-บรอดคาสติ้ง หลักสูตรผลิตมหาบัณฑิตปริญญาโท หรือ "Graduate School of Management and Innovation (GMI)" มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ใช้ประสบการณ์ในธุรกิจกว่า 30 ปี ลุยปั้นบุคลากรโทรคมนาคม-บรอดแคสต์ยุคใหม่ หนุนภาคธุรกิจ

อดีตซีอีโอทีโอทีวิเคราะห์หนทางอยู่รอด 2 รัฐวิสาหกิจโทรคมนาคมประเทศ "ทีโอที-กสท" ลั่นต้องเร่งปลดแอกรูปแบบการบริหารแบบราชการ หันรุกธุรกิจใหม่ๆ หลังอุตสาหกรรมโทรคม-แบรอดแคสต์เข้าสู่ยุค "เรด โอเชี่ยน" เต็มตัว

"นายอานนท์ ทับเที่ยง" ประธานสาขาการจัดการโทรคมนาคม-บรอดคาสติ้ง จีเอ็มไอ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ให้สัมภาษณ์พิเศษ "กรุงเทพธุรกิจ" ในบทบาทใหม่ที่ได้รับว่า รู้สึกมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น และชอบที่จะสวมบทบาทนี้ เพราะได้ใช้ความรู้ ประสบการณ์ที่ทำงานด้านโทรคมนาคม มา "ถ่ายทอด" ให้ผู้บริหารรุ่นใหม่ที่ต้องการก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ทราบว่า "ของจริง" ที่จะเจอนั้นเป็นอย่างไร

"อยู่ตรงนี้ ผมเป็นเหมือนผู้ให้ ขณะที่ ปัญหาของบุคลากรบ้านเรา คือ เมื่อเข้าไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมแล้ว สภาพแวดล้อมของการทำงานไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะมักเจอกับปัญหาที่ควมคุมไม่ได้ มีหลากมิติที่ต้องเผชิญ โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิด ผู้บริหารในอุตสาหกรรมนี้ ต้องไม่รู้เรื่องแค่เทคโนโลยี แต่ต้องรู้จักบริหารจัดการให้เป็นด้วย"

ปั้นคนโทรคมสู่มืออาชีพบริหาร

การจัดการโทรคมนาคมและบรอดแคสต์ติ้ง เป็นหลักสูตรของจีเอ็มไอที่จะ "หลอมรวม" การจัดการความรู้ด้านการบริหารยุคใหม่ ในทุกมิติของอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคม การกระจายเสียง วิทยุและโทรทัศน์ รวมทั้งการจัดการสารสนเทศทุกประเภทให้แก่ผู้จบการศึกษาปริญญาตรีทั่วไป ตลอดจนผู้ที่ทำงานด้านไอซีทีที่ต้องการเพิ่มพูนความรู้ด้านการจัดการธุรกิจ เทคโนโลยี และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อสร้างเครือข่ายสังคมการทำงานและรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคข้อมูลข่าวสาร ซึ่งหลักสูตรหมายมั่นปั้นมือว่าผู้ที่จบหลักสูตรไปต้องเป็น "มืออาชีพ"

"หลักสูตรนี้ เหมือนเป็นการขัดเหลี่ยมความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ให้ออกมาเป็นการบริหารจัดการ สร้างผู้บริหารให้มองตลาด มองธุรกิจ แบบ Outside-in มองว่าอุตสาหกรรมต้องการอะไร แล้วเราจะผลิตบุคลากรเสริมความต้องการนั้นได้อย่างไร วงการโทรคมรวมไปถึงบรอดแคสต์บ้านเรา ยังขาดทักษะการบริหารจัดการ เรามีวิศวกรที่รู้เรื่องเทคโนโลยีมากมาย แต่พอจะต้องบริหารคน ทรัพยากร เงิน ภายในองค์กรกลับทำไม่ได้ นี่คือ จุดอ่อนที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน หลักสูตรนี้จะสร้างองค์ความรู้ด้านการจัดการเฉพาะทาง หรือ Specialized Management ให้นักบริหาร"

นักบริหารในอุตสาหกรรมเทคโนโลยียุคใหม่ ต้องปรับมุมมอง วิธีคิด ปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้อง จะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคง การเลือกเทคโนโลยี ต้องมีตรรกะของการบริหารด้วย

"จุดมุ่งหมายหลักของจีเอ็มไอ คือการสร้างบุคลากร บนความเชื่อที่ว่าแต่ละสาขาต้องการความรู้ด้านการจัดการอย่างน้อย 2 มิติ คือ มิติการจัดการทางกว้าง 'Breath' และมิติการจัดการเชิงลึกตามลักษณะของอุตสาหกรรม 'Depht' ในการตอบสนองกลุ่มอุตสาหกรรมหลักๆ ของประเทศ และที่สำคัญ บุคลากรเหล่านี้ต้องเป็น 'Innovation Agent' ด้วย"

เร่งปรับรับ "เรด โอเชี่ยน"

เขา กล่าวว่า ยิ่งโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในมิติโทรคมนาคม การเดินเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีที่ถาโถมมากมาย ไม่ว่าจะเป็น 3จี 4จี 5จี ไอพีวี6 อาร์เอฟไอดี เอ็มวีเอ็นโอ บีวีเอ็นโอ ฯลฯ มิติด้านบรอดแคสต์ เช่น ดิจิทัลทีวี ไอพีทีวี ทีวีดาวเทียม รวมถึงมิติแอพพลิเคชั่น อย่างโซเชียล มีเดีย อี-คอนเทนท์ คลาวด์ คอมพิวติ้ง อี-คอมเมิร์ซ อี-โซไซตี้ ยิ่งทำให้บริบทการทำธุรกิจ การบริหาร "เปลี่ยนไป" อย่างสิ้นเชิง

"ผมมองว่า ขณะนี้ทั้งโทรคม และบรอดแคสต์กลายเป็นเรด โอเชี่ยน (Red Ocean) แล้ว ผู้เล่นในตลาดเกิดใหม่จะเข้ามาเล่นในตลาดนี้มากมาย ผลพวงจากการหลอมรวมของ 2 เทคโนโลยี เปิดช่องให้เกิดธุรกิจปลายน้ำใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาก กลายเป็นตลาดที่มีความท้าทาย จะเกิดการยุบ ควบรวมธุรกิจระหว่างกันมากขึ้น บรอดแคสต์ และโทรคม จะกลายเป็นตลาดเดียวกัน หากองค์กรไหน ไม่ปรับตัวจะถูกโดดเดี่ยวจากตลาดได้ง่าย จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมสถาบันการศึกษาไทย ซึ่งเป็นต้นน้ำผลิตบุคลากร จำเป็นต้องปรับวิธีการเรียนการสอนใหม่ด้วย"

ทีโอที-กสท ต้องคิดใหม่ทำใหม่

นายอานนท์ ยังได้วิเคราะห์ถึง 2 รัฐวิสาหกิจโทรคมในประเทศอย่าง "บมจ.ทีโอที" และ "บมจ.กสท โทรคมนาคม" ด้วยว่า เพราะวงการนี้ไม่ใช่ "บลู โอเชี่ยน" อีกต่อไป 2 องค์กรนี้จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจาก "ปรับตัว" ให้เร็ว และต้องอยู่ได้อย่างยั่งยืน ต้องอาศัยปัจจัยเกื้อหนุนหลายด้าน "ทีโอที" ต้องยืนด้วยขาของตัวเองให้มากที่สุด "สลัดความเป็นภาครัฐให้ออก" เพราะไม่เช่นนั้นด้วยความที่ "ไม่กล้าตัดสินใจ" หลายขั้นตอนยังต้องอิงกระบวนการภาครัฐที่ถูกควบคุมมาโดยตลอด ยิ่งทำให้ก้าวเดินของทีโอที "ช้าลง"

"ผมมองว่า ธุรกิจเคเบิลทีวี ทีวีดิจิทัล จะเป็นธุรกิจที่น่ากลัว และมีความท้าทายที่จะเป็นภัยคุกคาม หากองค์กรที่อยู่ในแวดวงนี้ไม่ปรับตัว เพราะธุรกิจนี้ทำให้เกิด เรด โอเชี่ยน ผู้เล่นหน้าใหม่จะเกิดขึ้นอีกมาก เพราะมันเกิดการหลวมรวมเทคโนโลยีไปทางเดียวกัน เราต้องมาคิดว่าทีโอทีต้องทำอย่างไรถึงให้องค์กรนี้ยั่งยืนอยู่ได้ ท่ามกลางภัยคุกคามรอบด้าน ทีโอทีถือเป็นองค์กรที่ใหญ่มีปัจจัยอะไรเยอะ ทำอย่างไรให้ทีโอทีได้ปลดปล่อย มีความยืดหยุ่นได้มากกว่าที่เป็นอยู่"

เขาบอกว่า แนวคิดของการตั้งบริษัทลูกของทีโอที และกสท เพื่อรองรับสัมปทานสิ้นสุดนั้น เป็นหนทางที่ดีที่สุดแล้ว เพราะจะเกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ แต่ต้องหลุดออกจากระบบการบริหารแบบเดิมๆ ให้ได้

ขณะที่ต้องมีตัวช่วยอย่างกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที) ในฐานะเป็นคนทำนโยบาย และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะคนให้ใบอนุญาตเทคโนโลยีใหม่ๆ ต้องผนึกกำลังผลักดันให้ทั้ง 2 องค์กรเข้มแข็ง

"การที่ทีโอที หรือกสท จะยืนอยู่ได้ เราต้องช่วยให้เขาเข้มแข็งได้ก่อน ต้องให้เวลา อย่างการคืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปจัดสรรใหม่ ผมมองว่า ต้องให้เวลาในฐานะที่ทั้ง 2 องค์กรเป็นอินฟราสทรักเจอร์ด้านโทรคมที่สำคัญของประเทศ แต่การเรียกคืนคลื่นไปทันที จะยิ่งทำให้ทั้งทีโอที และกสท อ่อนแอมากขึ้น ขณะที่เรากลับไปดันให้เอกชนเข้มแข็งเพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งปัจจุบันเอกชนเขาแข็งแรง มีศักยภาพมากกว่า 2 องค์กรนี้มากพออยู่แล้ว ดังนั้นผมเห็นว่า ยังคงต้องให้เวลาทั้งทีโอที และกสท ปรับตัว ท้ายที่สุดก็ไม่ปฏิเสธว่า ทั้ง 2 องค์กรควรต้องยืนได้ด้วยตัวเอง" นายอานนท์ ทิ้งท้าย