ข้อมูลน้ำ ป้องน้ำท่วม

ข้อมูลน้ำ ป้องน้ำท่วม

กระทรวงวิทย์ฯ เล็งผุดศูนย์ข้อมูลน้ำระดับจังหวัด นำร่องแพร่-สุโขทัย

กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เล็งจัดตั้งศูนย์บัญชาการบริหารจัดการน้ำระดับจังหวัด เพื่อประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและระบบสารสนเทศติดตามสถานการณ์และบริหารจัดการน้ำ พร้อมทั้งเฝ้าระวังและสนับสนุนการแจ้งเตือนภัยในพื้นที่ เบื้องต้นเตรียมนำร่องที่จังหวัดแพร่และสุโขทัย

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มอบหมายให้ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์บัญชาการบริหารจัดการน้ำระดับจังหวัด เพื่อให้หน่วยงานท้องถิ่นได้มีระบบข้อมูลเชิงพื้นที่ (Internet GIS) และระบบเว็บไซต์ (Website) ติดตามสถานการณ์น้ำประกอบการปฏิบัติงานวางแผนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ และใช้สนับสนุนการแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมในพื้นที่ โดยเบื้องต้นจะเริ่มนำร่องที่จังหวัดแพร่และสุโขทัย เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาด้านน้ำมาโดยตลอด

นายวรวัจน์ กล่าวว่า เนื่องจากพื้นที่จังหวัดแพร่และสุโขทัย ประสบปัญหาเรื่องน้ำเป็นประจำทุกปีทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2554 ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่ เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่อย่างมาก แสดงให้เห็นว่าการบริหารจัดการน้ำเป็นเรื่องสำคัญ

หากมีศูนย์บัญชาการบริหารจัดการน้ำระดับจังหวัด ที่เป็นทั้งศูนย์ข้อมูลสำหรับติดตามสถานการณ์ในภาวะปกติ และศูนย์บัญชาการสำหรับบริหารจัดการในภาวะวิกฤต ก็จะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพให้กับหน่วยงานท้องถิ่น ให้สามารถเข้าถึงข้อมูล ติดตามสถานการณ์ สามารถวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในด้านความพร้อมของข้อมูลที่จำเป็นสำหรับศูนย์บัญชาการบริหารจัดการน้ำระดับจังหวัด ประกอบด้วยข้อมูลที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลพื้นฐาน โครงสร้างด้านทรัพยากรน้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติและโครงการต่างๆ แผนที่น้ำท่วมน้ำแล้ง ปริมาณน้ำฝนรายวัน สถานการณ์น้ำในเขื่อน เป็นต้น

สสนก. ได้รวบรวมและจัดทำข้อมูลระดับจังหวัดแล้วจำนวน 4 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ และในปี 2557 จะจัดทำให้ครบทุกภาคทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลแหล่งน้ำระดับตำบลที่รวบรวมจากเทศบาล และ อบต. ที่มีศักยภาพจำนวน 500 ตำบลนำร่อง ช่วยเติมเต็มข้อมูลแหล่งน้ำขนาดเล็กให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

หากมีข้อมูลครบถ้วนทั้งประเทศก็จะเป็นประโยชน์ต่อระดับนโยบายต่อไป และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลจากท้องถิ่นสู่ส่วนกลาง เข้าสู่ “คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ” สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล ที่ให้ทุกหน่วยงานได้บูรณาการข้อมูลร่วมกัน พร้อมสำหรับปฏิบัติการทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต และยังสนับสนุนการแจ้งเตือนภัยได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะช่วยป้องกันหรือลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้