"สมาร์ทโฟน-แทบเล็ต" แซงหน้าประชากรโลก

"สมาร์ทโฟน-แทบเล็ต" แซงหน้าประชากรโลก

ผลวิจัย "ซิสโก้" ชี้ สมาร์ทโฟน แทบเล็ต จะมากกว่าจำนวนประชากรโลกที่มีอยู่ราว 7 พันล้านคนภายในปีนี้

กระแสนิยมสมาร์ทโฟน แทบเล็ตที่เห็นกันอยู่รอบตัวและรายงานการเติบโตของยอดขายจากบรรดาผู้ผลิตแบรนด์ต่างๆ คงไม่เกินความคาดหมายนักถ้าหากจะบอกว่า จำนวนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้เหล่านี้จะมีรวมกันมากกว่าประชากรโลก

เดอะการ์เดียนของอังกฤษตอกย้ำให้มั่นใจด้วยผลวิจัยที่ระบุว่า จำนวนอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ (โมบาย อินเทอร์เน็ต ดีไวซ์) เช่น สมาร์ทโฟน และแทบเล็ต 3จีจะมีจำนวนมากกว่าประชากรโลกภายในปีนี้

ผลวิจัยฉบับล่าสุดจากผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายรายใหญ่ของโลก "ซิสโก้" เผยว่า โมบาย อินเทอร์เน็ต ดีไวซ์ที่กำลังเติบโตเป็นกลุ่มประเภทที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตสำหรับใช้เพื่อการควบคุม หรือ "สมาร์ท มิเตอร์ริ่ง" เช่น กล้องวงจรปิด อุปกรณ์บำรุงรักษาระยะไกล ระบบควบคุมอาคาร, อุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้ใช้ทั่วไป

อุปกรณ์ดังกล่าวเป็นกลุ่มที่เรียกว่า "แมชชีน-ทู-แมชชีน (เอ็ม2เอ็ม)" โดยเป็นระบบที่เครื่องสามารถสื่อสารโดยตรงกับคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่ต้องอาศัยการควบคุมโดยมนุษย์

ซิสโก้ยังคาดการณ์ว่า การเติบโตของการใช้อุปกรณ์ประเภทสมาร์ทโฟนและแทบเล็ตรวมกันจะมากกว่าจำนวนประชากรโลกที่มีอยู่ราว 7 พันล้านคนในปัจจุบัน โดยเฉพาะในแถบเอเชียและแอฟริกา

บีบโลกเคลื่อนสู่"ไอพีวี6"

การเติบโตอย่างรวดเร็วดังกล่าวยังเป็นปัจจัยสำคัญที่บีบให้โครงข่ายอินเทอร์เน็ตเดิมเริ่มรองรับไม่ไหว และบังคับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีสู่ระบบการจัดการบนโลกอินเทอร์เน็ตยุคหน้า หรือที่เรียกว่าระบบ "ไอพีวี6" เพื่อเพิ่มระบบระบุตัวเลขให้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้จากระบบเดิม "ไอพีวี4" รองรับได้ราว 4.3 พันล้านเครื่องสู่ระบบใหม่ "ไอพีวี6" ที่ใช้ระบุเลขเครื่องได้จำนวนมหาศาลนับไม่ถ้วน

นายเทรฟเฟอร์ เดวีส์ ผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดันการใช้ระบบไอพีวี6ในอังกฤษ กล่าวว่า แม้ระบบระบุตัวเลขอุปกรณ์เครื่อง หรือไอพีวี4 เริ่มใกล้จะหมดในช่วงเดือน ก.พ.ปีที่ผ่านมา แต่การรับรู้และการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้ระบบใหม่กลับเป็นไปอย่างเชื่องช้า

แต่ทั้งนี้รายงานของซิสโก้ชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงที่น่าตื่นเต้นเริ่มเกิดขึ้นแล้วในตลาด "โมบาย คอนเนคติวิตี้" หรืออุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้

โดยเฉพาะ "โมบาย วีดิโอ" ที่มีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของการรับส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตทั่วไป และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2 ใน 3 ภายในปี 2556

ส่วนอัตราเฉลี่ยการเข้าถึงข้อมูลผ่านสมาร์ทโฟนเติบโตขึ้นถึง 81% หรือจาก "189 เมกะไบต์ต่อเดือน" ในปี 2554 เป็น "342 เมกะไบต์ต่อเดือน" เมื่อปี 2555

ขณะที่ "สมาร์ทโฟน "เป็นอุปกรณ์ที่ถูกใช้สำหรับเข้าอินเทอร์เน็ตคิดเป็นสัดส่วน 92% ของโมบาย ดาต้า ทราฟฟิกทั่วโลก ส่วน "ฟีเจอร์โฟนทั่วไป" ถูกใช้สำหรับเข้าอินเทอร์เน็ตเพียง 2% ของสมาร์ทโฟน หรือราว 6.8 เมกะไบต์ต่อเดือน

"ทราฟฟิก" บีบยกเครื่องโครงข่าย

ซิสโก้ยังเชื่อว่า ภายในปี 2560 โดยเฉลี่ยสมาร์ทโฟนจะสร้างทราฟฟิก หรือใช้ข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตราว 2.7 กิกะไบต์ต่อเดือน หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่าจากปัจจุบัน และเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความต้องการโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่ดีมากขึ้น การเติบโตอย่างรวดเร็วของการเชื่อมต่อแบบ 4จี ที่เริ่มแพร่หลายในอังกฤษทำให้ทราฟฟิกอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นถึง 19 เท่า

ขณะที่แทบเล็ตเชื่อมต่อ 3จีหรือเทคโนโลยีสูงกว่ามีอัตราการเติบโตสูงขึ้น และแต่ละเครื่องสร้างทราฟฟิกบนอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 820 เมกะไบต์ต่อเดือน หรือ 2.4 เท่าของทราฟฟิกที่ใช้ผ่านสมาร์ทโฟนโดยเฉลี่ย

รายงานดังกล่าวยังระบุว่า โน้ตบุ๊คที่เชื่อมต่อ 3จีได้มีจำนวนราว 161 ล้านเครื่อง และสร้างทราฟฟิกมากกว่า 7 เท่าของสมาร์ทโฟน หรือราว 2.5 กิกะไบต์ต่อเดือน

แทบเล็ตโตเร็วสุด

ซิสโก้ ยังเชื่อว่า อุปกรณ์ที่มีแนวโน้มเติบโตเร็วที่สุดภายใน 5 ปีข้างหน้าคือ "แทบเล็ต" โดยคาดว่าจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 46% ต่อปี ส่วนการใช้ดาต้าผ่านแทบเล็ตคาดว่าเพิ่มมากกว่าเท่าตัว หรือ 113% ต่อปี

ส่วนอุปกรณ์ถัดมาที่มีแนวโน้มเติบโตเร็วที่สุดรองลงมาคือ "เอ็ม2เอ็ม" ซึ่งมีสัดส่วนราว 5% ของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ในปัจจุบัน และมีอัตราเติบโตราว 36% ต่อปี และยังพบว่าการใช้ดาต้าผ่านอุปกรณ์เหล่านี้เพิ่มถึงราว 89%

ขณะที่ "สมาร์ทโฟน" คาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มราว 20% แต่อัตราการใช้ดาต้าผ่านสมาร์ทโฟนจะเติบโตสูงถึง 81% แต่อุปกรณ์ที่มีจำนวนมากที่สุดคือ "ฟีเจอร์โฟน" หรือโทรศัพท์ไม่มีระบบปฏิบัติการแต่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ เช่น อัชช่าของโนเกีย ซึ่งท่องเน็ตได้ผ่านเบราเซอร์และส่งอีเมลได้ แต่ใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆ ไม่ได้

แต่ซิสโก้เชื่อว่า หลังจากปี 2559 จำนวนฟีเจอร์โฟนโดยรวมจะเริ่มลดลงเป็นครั้งแรกและสมาร์ทโฟนจะมีจำนวนแซงหน้า

"ในขณะที่เอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลางและแอฟริกายังคงมีอัตราการเติบโตของฟีเจอร์โฟนเป็นตัวเลขหลักเดียว แต่ในตลาดอื่นๆ กลับเริ่มเห็นสัญญาณหดตัวลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะแถบอเมริกาเหนือ และยุโรปตะวันตก"

โดยในอังกฤษมีอัตราผู้ใช้สมาร์ทโฟนแล้วที่ 58% ส่วนสหรัฐ 54% และมีแนวโน้มเติบโตสูงในตลาดจีนและแอฟริกา ซึ่งการเติบโตของสมาร์ทโฟนเหล่านี้ รวมถึงแทบเล็ตที่ใช้ 3จี และ 4จีได้ ตลอดจนโน้ตบุ๊ค และเอ็ม2เอ็ม ดีไวซ์ ล้วนมีส่วนทำให้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้รวมกันแล้วมากกว่าจำนวนประชากรในปีนี้

ส่วนพื้นที่ที่การใช้ดาต้าเติบโตเร็วที่สุดคือ ตะวันออกกลางและแอฟริกา ด้วยอัตราเติบโตรวมต่อปี 77% ภายใน 5 ปีจากนี้ ส่วนเอเชียแปซิฟิกเติบโตรวม 76% นำหน้าละติน อเมริกาที่ 67%