"อิเล็กทรอนิกส์ มอนิเตอริ่ง" คุมความประพฤติ ยุคดิจิทัล

"อิเล็กทรอนิกส์ มอนิเตอริ่ง" คุมความประพฤติ ยุคดิจิทัล

ไทยเตรียมนำร่องใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คุมนักโทษกลุ่มเยาวชนทำความผิดสถานเบาในเขตกรุงเทพฯ เน้นคุมความประพฤติที่บ้านแทนการจำคุกในเรือนจำ

งานประชุมทางวิชาการเรื่อง “การนำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring) หรือเครื่องอีเอ็ม มาใช้กับผู้กระทำความผิดในประเทศไทย" จัดโดย คณะอนุกรรมการวิชาการศึกษาสภาพปัญหาผู้ต้องขังในเรือนจำ คณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) และกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ "กรุงเทพไอที" มีมุมมองที่น่าสนใจของการถกเถียงประเด็นดังกล่าว ก่อนจะนำเครื่องมือนั้นมาใช้งานจริง

เล็งใช้อุปกรณ์ดิจิทัลคุม

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม กล่าวภายในงานประชุมครั้งนี้ว่า กรมฯ เตรียมทำโครงการนำร่องใช้เครื่องอีเอ็มกับเด็กและเยาวชน รวมถึงความผิดสถานเบาบางประเภทในเขตกรุงเทพมหานคร แทนการจำคุก เบื้องต้นจำกัดจำนวนไว้ไม่เกิน 1,000 คน คาดว่าจะเริ่มได้จริงภายในไตรมาสที่ 1 ปีนี้

เครื่องมือดังกล่าว จะประกอบด้วย สายรัดที่ข้อเท้าหรือมือ พร้อมเครื่องตรวจจับติดตั้งบริเวณบ้าน และระบบควบคุมที่เกี่ยวข้อง ใช้โมเดลเช่าใช้ระบบ โดยผู้กระทำความผิดไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ยกเว้นแต่กรณีอุปกรณ์เกิดความเสียหายหรือถูกทำลาย

ส่วนขอบเขตการทำงานนั้น ได้หารือกับผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนแล้ว การตอบรับจากหลายฝ่ายเห็นตรงกัน คือ ต้องสร้างความสมดุลและเกิดประโยชน์ในสังคม

"เราเชื่อมั่นอย่างสูงว่าทำได้ ภายใต้คำสั่งของศาลและหลักการเฉพาะที่วางไว้ ขณะเดียวกันได้คิดหาแนวทางป้องกันไว้แล้ว"

ปัจจุบัน มีเด็กและเยาวชนที่ถูกคุมความประพฤติจำนวน 17,161 ราย ส่วนผู้ใหญ่อยู่ระหว่างคุมแต่ยังไม่ได้นำมาร่วมกับโครงการดังกล่าว 148,703 ราย ผู้ถูกคุมประพฤติที่พักโทษ/ลดโทษ 25,469 ราย

เธอกล่าวว่า อุปกรณ์เป็นเพียงเครื่องมือทางเลือกเสริมในการลงโทษไม่ใช่สิ่งทดแทน สิ่งที่ต้องทำคู่กันไปคือโปรแกรมอบรมพฤติกรรม สอดรับกับมาตรฐานที่ใช้สากล

หวั่นสังคมไม่ยอมรับ

นายดล บุนนาค ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ประจำสำนักประธานศาลฎีกา กล่าวในมุมของกฏหมายว่า แนวคิดเรื่องการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาคุมความประพฤติ ถือเป็นอีกทางลือก แต่ที่ต้องระวังคือประเด็นการนำไปสู่การข่มขู่คู่กรณี

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย ที่ยังไม่มีการกำหนดเรื่องของอุปกรณ์อีเอ็มไว้ ขณะที่ สังคมเองยังมีความคิดหลากหลาย เพราะอาจเกิดการไม่ยอมรับให้บางบุคคลที่กระทำผิดแล้วได้รับโทษสถานเบา บางเรื่องความผิดที่ได้รับอาจไม่รุนแรง แต่ความรู้สึกของสังคมอาจคิดว่าไม่เพียงพอต่อการกระทำความผิดก็จะเป็นมุมมองที่แตกต่างกัน ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาเรื่องความพร้อมของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตำรวจ และส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย

ไม่มีคุกที่แหกไม่ได้

พันตำรวจเอกญาณพล ยั่งยืน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการดำเนินการกับผู้ต้องขังมีหลากหลายวิธี ประเด็นนี้คงต้องถกเถียงกันระหว่างฝ่ายที่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพ และผู้ต้องการควบคุม

"การนำเครื่องอีเอ็มมาใช้ โดยส่วนตัวคิดว่า เหมาะกับคนที่กระทำความผิดเพียงเล็กน้อย และไม่ได้ทำเป็นสันดาน"

อย่างไรก็ตาม ประเด็นการแฮกหรือเจาะระบบคงมีโอกาสเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ที่ผ่านมาไม่มีคุกไหนที่แหกไม่ได้ ผิดถูกอย่างไรต้องลองทำกัน อนาคตน่าจะมีทางออกที่ดีมากขึ้น

ส่วนที่ดีของการใช้อุปกรณ์นี้เป็นการมอบโอกาสให้คนที่ไม่เคยกระทำความผิด หรือกระทำผิดเล็กน้อยได้กลับตัว ไม่ใช่กลายเป็นตราบาปจนส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมในอนาคต

ยึดหลักมนุษยธรรม

นายนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เห็นว่า สิ่งที่ต้องหยิบยกมาพูดก่อนนำเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มาใช้ คือ หลักการด้านมนุษยชนที่ต้องคำนึงถึงความเป็นคน ความเอื้ออาทร เป็นหลักคุณธรรมพื้นฐานที่มีอยู่ในทุกสังคม บางครั้งการใช้อำนาจจัดการได้ไปล่วงละเมิดความเป็นคน จนทำให้ไทยถูกมองว่าไม่ได้นำหลักคุณธรรมมาร่วมพิจารณา

“การนำเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มาใช้ไม่ใช่เพราะอยากใช้ แต่ต้องคำนึงถึงมิติของสังคม และมนุษยธรรมซึ่งในสังคมไทยมีมุมมองไม่ตรงกัน และต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับหลักการ 3 ประการคือ ประชาธิปไตย สิทธิมนุยชน และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน”

อย่างไรก็ดี สังคมไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เป็นหนึ่งในกระบวนการพัฒนาของระบอบประชาธิปไตย แต่มีสัญญานที่ดีที่ทุกวงการเริ่มตื่นตัว และให้ความสนใจเรื่องกระบวนการยุติธรรม

แฮกระบบ = แหกคุก

นายธนิต ประภาตนันท์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและปราบปราม การกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวเสริมในฐานะผู้ดูแลด้านเทคนิคว่า การจัดซื้ออุปกรณ์อีเอ็มเบื้องต้นมีจำนวน 1,000 เครื่อง ราคาเครื่องละไม่เกิน 2 หมื่นบาท แนวทางที่เหมาะสม คือ การเช่าซื้อมากที่สุด เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญจัดการทางเทคนิคที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน ทั้งอยู่ระหว่างจัดทำทีโออาร์ คาดว่า จะได้เห็นในอนาคตอันใกล้นี้ โดยระบบที่ใช้ได้มีทั้งแบบอาร์เอฟไอดี (RFID) และจีไอเอส (GIS) แล้วแต่ความเหมาะสมและกรณี

เขาให้ข้อมูลว่า การแก้ไข เปลี่ยนแปลง ทำให้เสียหาย เคลื่อนย้าย หรือเจาะระบบเพื่อหลบหนีมีโอกาสเกิดขึ้นได้จริง ทว่าผู้กระทำถือเป็นการแหกคุกอย่างหนึ่ง เรื่องนี้จะมีเจ้าหน้าที่คอยควบคุม แล้วรายงานต่อพนักงานที่เกี่ยวข้อง แต่คาดว่าคงเป็นไปได้ยากที่จะเกิดขึ้น เพราะผู้กระทำความผิดที่ได้รับโทษด้วยวิธีนี้ ถือว่าได้รับการผ่อนผันจากกระบวนการยุติธรรมอยู่แล้วระดับหนึ่ง การทำแบบนี้ถือว่าไม่มีประโยชน์ ขณะที่ผู้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ต้องโทษจะมีโทษตามพรบ.คอมพ์คือจำคุก 5 ปีฉะนั้นน่าจะหมดกังวลได้

“ทางปฏิบัติต้องมีการเฝ้าระวัง หน่วยงานที่นำไปใช้ต้องดูแลให้ดี หากมีกรณีเกิดขึ้นทางไอซีทีพร้อมรับเรื่องร้องเรียนเพื่อสืบย้อนหาต้นทางให้” นายธนิตกล่าว

ส่วนความเหมาะสมของการนำอุปกรณ์อีเอ็มเข้ามาใช้ ทุกภาคส่วนของสังคมคงต้องช่วยกันหาคำตอบว่า แนวทางการนำมาใช้ควรเป็นอย่างไร