ผ่าอาณาจักร "ซอยสายลม" ที่ทำไมใครๆ ก็อยากเป็น "กสทช."

ผ่าอาณาจักร "ซอยสายลม" ที่ทำไมใครๆ ก็อยากเป็น "กสทช."

"กรุงเทพธุรกิจ" ชวนผ่าอาณาจักร​ของ กสทช. ณ ซอยสายลม ที่มีความท้าทายบริหารสินทรัพย์ด้านคลื่นความถี่ที่เป็นสมบัติของชาติ ทั้งคลื่นโทรคมนาคม วิทยุ ไปจนถึงเปิดประมูลวงโคจร รับเสรีดาวเทียม ขุมทรัพย์หลายแสนล้านบาทนี้ เป็นสิ่งที่น่าจับตามองการทำงานของ บอร์ดกสทช.ชุดใหม่

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุด มีมติอนุมัติหลักการ ร่างพ.ร.ฎ.ค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวกับการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ต่างท้องที่ของประธานกรรมการและกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. ....

โดยเป็นไปตามที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

ซึ่งได้ปรับอัตราค่าตอบแทนเหมาจ่ายเป็นรายเดือน เพื่อให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นตามที่กฎหมายบัญญัติ รวมทั้งกำหนดเพิ่มค่าเสียโอกาส เพื่อสำหรับการดำรงชีพในช่วงระยะเวลาต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งใด ๆ หรือไปประกอบอาชีพ หรือดำเนินกิจการที่มีลักษณะที่มีส่วนได้เสีย หรือมีผลประโยชน์ขัดหรือแย้งไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมกับการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด

พร้อมกำหนดให้มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ต่างท้องที่ โดยให้ได้รับสิทธิในอัตราเดียวกับรัฐมนตรี โดยให้นำพ.ร.ฎ.ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการและระเบียบกระทรวงการคลังมาใช้บังคับโดยอนุโลม

สำหรับการปรับปรุงค่าตอบแทนครั้งนี้ ได้ปรับอัตราค่าตอบแทนเหมาจ่ายรายเดือน และเพิ่มค่าเสียโอกาส มีดังนี้ 

ประธาน กสทช. 

  • ค่าตอบแทนเหมาจ่ายรายเดือน 361,167 บาท (เดิม 335,850 บาท) ประกอบด้วย เงินเดือน 269,000 บาท  ผลประโยชน์อื่น 67,250 บาท ค่ารักษาพยาบาล 2,500บาท บำเหน็จค่าตอบแทน 22,417 บาท ค่าเสียโอกาส 89,667 บา

กรรมการ กสทช.                                                                                  

  • ค่าตอบแทนเหมาจ่ายรายเดือน 289,167 บาท (เดิม 269,000 บาท) ประกอบด้วย เงินเดือน 215,00 บาท ผลประโยชน์อื่น 53,750บาท ค่ารักษาพยาบาล 30,000 บาท บำเหน็จค่าตอบแทน 17,917 บาท ค่าเสียโอกาส 71,667 บาท

    

โดย อำนาจหน้าที่ของ กสทช. มีดังต่อไปนี้ตามที่ประกาศไว้ในพ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 ระบุไว้จำนวน 25 ข้อ อาทิ 

1.ทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม แผนความถี่วิทยุ แผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และแผนเลขหมายโทรคมนาคม และดำเนินการให้เป็นไปตามแผนดังกล่าว แต่แผนดังกล่าวต้องสอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

2.กำหนดการจัดสรรคลื่นความถี่ระหว่างคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการวิทยุคมนาคม และกิจการโทรคมนาคม

3.พิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่และเครื่องวิทยุคมนาคมในการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือในกิจการวิทยุคมนาคม และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาต เงื่อนไข หรือค่าธรรมเนียมการอนุญาตดังกล่าว ในการนี้ กสทช. จะมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. เป็นผู้อนุญาตแทน กสทช. เฉพาะการอนุญาตในส่วนที่เกี่ยวกับเครื่องวิทยุคมนาคมตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ กสทช. กำหนดก็ได้

4.กำหนดหลักเกณฑ์การใช้คลื่นความถี่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและปราศจากการรบกวนซึ่งกันและกัน ทั้งในกิจการประเภทเดียวกันและระหว่างกิจการแต่ละประเภท

5.กำหนดโครงสร้างอัตราค่าธรรมเนียมและโครงสร้างอัตราค่าบริการในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ให้เป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการโดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ

 6.กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
    

ทั้งนี้ กรรมการ กสทช.ชุดปัจจุบันประกอบด้วย ศาสตราจารย์คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ , พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ , ศาสตราจารย์ พิรงรอง รามสูต , นายต่อพงศ์ เสลานนท์ และ รองศาสตราจารย์ ศุภัช ศุภชลาศัย และที่ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบประวัติจากวุฒิสภาเหลืออีก 2 รายคือ  ศาสตราจารย์อภิรัฐ ศิริธราวัตร และ พลตำรวจเอก ณัฐธร เพราะสุนทร

สำหรับกรรมการชุดนี้ นับเป็น กสทช. ชุดที่ 2 ที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 และพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2564 โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี

โดยที่ผ่านมาจากการประมูลคลื่นความถี่ในฝั่งโทรคมนาคมเริ่มตั้งแต่ 3จี 4จี และ 5จี สามารถทำเงินได้มากกว่า 350,000 ล้านบาท ส่วนคลื่นทีวีดิจิทัลและคลื่นวิทยุทำเงินได้ราว 10,000 ล้านบาท

ขณะที่ ปลายปี 2565 นี้ กสทช.มีแผนจะออกหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความ 3500 MHz ซึ่งการประมูลคลื่นความถี่ในด้านโทรคมนาคมนี้เป็นการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าสำหรับ 6จี และคลื่นในย่านดังกล่าวยังสอดคล้องกับการทำอินเทอร์เน็ตดาวเทียมในระยะวงโคจรต่ำ (LEO) ด้วย

พร้อมกับต้องวางหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นดาวเทียม ว่าจะเดินหน้าประมูลต่อหรือไม่อย่างไร เพราะทางสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) จะปล่อยให้มีประมูลหากวงโคจรที่หลุดจากประเทศไทยโดยไม่มีการใช้งาน ขณะที่กสทช.เองต้องมีหน้าที่รักษาวงโคจรตามกฎหมาย

ดังนั้น การทำหน้าที่ของกรรมการกสทช.บนกองขุมทรัพย์คลื่นความถี่เหล่านี้จึงต้องไปเป็นด้วยความโปร่งใสอย่างที่สุด หลายตากำลังจับจ้องมาที่กรรมการกสทช.ทั้ง 7 คน เพราะจากผู้ที่สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกสทช.เฉียด 100 คน แต่สุดท้ายเฟ้นจนได้ 7 คนนี้ ก็เป็นสิ่งที่สังคมอยากรู้ว่าจะมีของดีอะไรซ่อนอยู่ !!!