โควิด-19 ทำมูลฝอยติดเชื้อในไทยกระฉูด เกินศักยภาพกำจัด 2 เท่า
โควิด-19 ทำมูลฝอยติดเชื้อกระฉูด คาดช่วงเม.ย.นี้ พุ่ง789ตัน/วัน เกินศักยภาพระบบกำจัดของประเทศถึง 2 เท่า ประสาน 11 โรงงานอุตสาหกรรมร่วมเผากำจัดบรรเทาปัญหา แนะทิ้งให้ถูกวิธี ห้ามฝัง-เผาเองที่บ้าน
เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2565 นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังแถลงข่าวประเด็น “การบริหารจัดการและแนวปฏิบัติในการจัดการมูลฝอยติดเชื้อภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19” ว่า สถานการณ์ปริมาณมูลฝอยติดเชื้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะมูลฝอยติดเชื้อที่เกิดขึ้นในชุมชน ทั้งจากศูนย์แยกกักในชุมชนและการแยกกักที่บ้าน เนื่องจากทุกครอบครัวสามารถซื้อชุดตรวจ ATK เพื่อนำมาใช้ตรวจโควิด-19 ด้วยตัวเองได้ จึงก่อให้เกิดมูลฝอยทั่วไป และมูลฝอยติดเชื้อจากครัวเรือนมากขึ้น
โดยคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อ เกิดขึ้นสูงสุดในช่วงเดือนเมษายน 2565 เฉลี่ยประมาณ 789 ตัน/วัน ขณะที่ศักยภาพระบบการกำจัดรวมมูลฝอยติดเชื้อ ในภาพรวมของประเทศ สามารถกำจัดได้เพียง 342.3 ตัน/วันเท่านั้น จึงส่งผลให้เกิดปัญหาการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ในหลายพื้นที่ ตั้งแต่ปัญหาการสะสมตกค้าง ณ แหล่งกำเนิด กระบวนการเก็บขนที่มีอยู่ไม่เพียงพอ และไม่สามารถให้บริการได้ครอบคลุม
ขณะนี้กรมอนามัยได้ประสานความร่วมมือกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เทศบาลนครนนทบุรี และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง บูรณาการความร่วมมือ ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ครอบคลุมตั้งแต่การจัดการที่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ทำให้สามารถจัดหาสถานที่กำจัดเพิ่มเติม จำนวน 11 แห่ง มีศักยภาพการกำจัด 1,189 ตันต่อวัน เมื่อรวมกับระบบกำจัดมูลฝอยติดเชื้อเดิม ทำให้ภาพรวมของประเทศมีศักยภาพของระบบกำจัดมูลฝอยติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 1,532 ตันต่อวัน เพียงพอ
และสามารถรองรับปริมาณมูลฝอยติดเชื้อที่เกิดขึ้นของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง การบริหารจัดการ มูลฝอยติดเชื้อที่กรมอนามัยจัดทำขึ้น เป็นการบริหารจัดการที่ให้ความสำคัญตั้งแต่ กระบวนการคัดแยก เก็บขน และกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ โดยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องให้ความร่วมมือในการจัดการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีอำนาจและหน้าที่ในการบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อในพื้นที่รับผิดชอบ
นพ.อรรถพล กล่าวด้วยว่า มูลฝอยที่เกิดขึ้นในชุมชนที่เกิดจากการแยกกักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation ให้ทำการคัดแยกขยะ เพื่อเป็นการลดปริมาณมูลฝอยติดเชื้อที่ต้องกำจัด โดยคัดแยกเป็น 2 ส่วน คือ 1) มูลฝอยที่ไม่ได้ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือ สารคัดหลั่ง เช่น เอกสารกำกับชุดตรวจ และกล่องบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ขยะประเภทนี้ให้เก็บรวบรวมทิ้งถังขยะทั่วไปที่มีฝาปิดมิดชิด 2) มูลฝอยที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือสารคัดหลั่ง เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู ภาชนะใส่อาหารพร้อมบริโภค (แบบใช้ครั้งเดียว) และชุดตรวจ ATK (ตลับหรือแผ่นทดสอบ หลอดใส่น้ำยา ฝาหลอดหยด ไม้ Swap) เป็นต้น ถือเป็นมูลฝอยที่มีความเสี่ยงสูง ให้แยกจัดการเป็นมูลฝอยติดเชื้อ เพราะมีโอกาสแพร่กระจายเชื้อโรคได้
สำหรับแนวทางการจัดการมูลฝอยติดเชื้อเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค แบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่ 1) กรณีในพื้นที่หรือชุมชน มีระบบการเก็บขนมูลฝอยติดเชื้อ ให้เก็บรวบรวมแล้วเคลื่อนย้ายไปไว้ยังจุดพักขยะที่จัดไว้เฉพาะ ก่อนนำมูลฝอยติดเชื้อไปกำจัดอย่างถูกต้อง 2) กรณีในพื้นที่ที่ระบบการเก็บขนมูลฝอยติดเชื้อไม่สามารถเข้าถึงได้ ให้มีการทำลายเชื้อก่อนนำไปกำจัดเป็นมูลฝอยทั่วไป จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคต่อประชาชนทั่วไป รวมถึงเกิดความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานเก็บขน และกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ
“ไม่แนะนำให้ประชาชนนำมูลฝอยติดเชื้อไปฝังกลับหรือเผาเอง ส่วนกรณีที่จะใช้เตาเผาศพเผานั้น ถ้าเป็นเตาประเภท 2 เตาสามารถทำได้เป็นครั้งคราว อย่างไรก็ตาม จะต้องทำความเข้าใจกับชุมชนด้วย ด้วยเนื่องจากเกี่ยวข้องกับความเชื่อว่าไม่ควรนำเตาเผาศพคนมาเผาขยะ”นพ.อรรถพลกล่าว
นายภัทรพล ลิ้มภักดี ผู้อำนวยการกองบริการงานอนุญาตโรงงาน 2 กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2564 ให้มีการนำขยะมูลฝอยติดเชื้อจากโควิด-19 มาเป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า เป็นการชั่วคราว อาทิ โรงงานปูนซีเมนต์ โรงงานกำจัดขยะเฉพาะ รวมกำลังการกำจัดขยะติดเชื้อมากถึง 750 ตันต่อวัน ซึ่งจากข้อมูลสรุปจนถึงเดือนม.ค.ที่ผ่านมามีการกำจัดขยะติดเชื้อจากโควิด-19แล้ว 9,235.29 ตัน ถือว่าช่วยบรรเทาปัญหาขยะติดเชื้อจากโควิดติดเชื้อได้จำนวนมาก ทั้งนี้โรงงานที่จะเข้ามาร่วมจะต้องสามารถทำลายมูลฝอยติดเชื้อได้ด้วยความร้อน อุณหภูมิ 760 องศาเซลเซียส และทำลายอากาศเสียด้วยความร้อนในอุณหภูมิ ไม่ต่อกว่า 1,000 องศาเซลเซียส สามารถควบคุมอากาศที่ปล่อยออกมาได้ตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อม
ด้านนายวิศิษฐ์ ประยูรสวัสดิ์เดช รองปลัดเทศบาลนครนนทบุรี กล่าวว่า จังหวัดนนทบุรีเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีขยะติดเชื้อจากโควิดมาจากสถานที่กักตัวทางเลือก เรือจำที่ใช้กักตัว ศูนย์พักคอย รวมๆ วันละประมาณ 1,000 กิโลกรัม นอกจากนี้ยังมีขยะติดเชื้อจากผู้ติดเชื้อดูแลตัวเองที่บ้าน และที่ชุมชน (HI/CI) เฉลี่ยวันละประมาณ 2,000 กิโลกรัม จึงได้มีการประสานกับหน่วยงานกำจัดขยะเพื่อขอรถมาเก็บขยะติดเชื้อจากโควิดเฉพาะ 4 คัน และของดเว้นค่าจัดเก็บและงดเว้นค่าทำลายขยะติดเชื้อดังกล่าวด้วย
ดังนั้น ในจังหวัดอื่นสามารถประสานหน่วยงานในพื้นที่เพื่อของดเว้นค่าธรรมเนียมจัดเก็บและค่าทำเนียมทำลายขยะได้ อย่างไรก็ตามปัญหาที่เราพบคือแม้ว่าจะมีการจัดตั้งถังขยะสีแดงเอาไว้ให้แต่ประชาชนยังเอาขยะทั่วไปมาทิ้งในถังขยะติดเชื้อ สะท้อนว่ายังไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการคคัดแยกขนยะ จึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจและคัเดยกขยะ ไม่เช่นนั้นการแก้ปัญหาขยะติดเชื้อจากโควิดก็จะไม่มีวันจบ.