สปสช. ย้ำติด "โควิด-19" รักษาฟรีตามสิทธิ์

สปสช. ย้ำติด "โควิด-19" รักษาฟรีตามสิทธิ์

สปสช. ย้ำ หากโควิด-19 ออกจากภาวะฉุกเฉินวิกฤติรักษาทุกที่ "UCEP" ประชาชนสามารถเข้ารักษาฟรี ตามสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพ ส่วนเอกชน ต้องกรณีฉุกเฉิน

จากกรณีที่มีกระแสข่าวการปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ออกจากภาวะฉุกเฉินวิกฤติรักษาทุกที่ "UCEP" มาเป็นการรักษาตามสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพของแต่ละบุคคล ขณะเดียวกัน ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมามีประชาชนขอตรวจ RT-PCR รพ.จำนวนมาก และหลายรายไม่สามารถติดต่อเข้ารักษาระบบ HI ได้ 

 

ซึ่งเมื่อวันที่ 13 ก.พ.65 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เผยว่า ขณะนี้ยังไม่มีการปลดโควิด-19 ออกจากภาวะฉุกเฉินตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล แต่หากมีการประกาศออกมา ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่รักษาแล้ว ดังนั้น การที่ใช้คำว่า "หมดสิทธิรักษาฟรี" จึงไม่ถูกต้อง ตนขอยืนยันว่ายังรักษาฟรีและรักษาฟรีทุกโรคไม่เฉพาะแค่โควิด 

 

หลักสาธารณสุขไทย

 

สำหรับ หลักการระบบสาธารณสุขของไทย คือ

 

1.เมื่อเจ็บป่วยจะได้รับการรักษาพยาบาลตามสิทธิที่ตัวเองมี เช่น สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม บัตรทอง ฯลฯ

 

2.หากมีอาการฉุกเฉิน ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการในหน่วยบริการที่ใกล้บ้านที่สุดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชน

 

ซึ่งกรณีของโควิด-19 นั้นตั้งแต่ปี 2563 กระทรวงสาธารณสุขประกาศว่าการป่วยเป็นโรคโควิด-19 ถือเป็นเหตุฉุกเฉิน เนื่องจากในช่วงแรกจนถึงช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า มีความกังวลว่าเมื่อป่วยแล้วเชื้อจะลงปอด ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ จึงต้องประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินเพื่อให้รีบนำผู้ป่วยเข้าไปรักษาให้เร็วที่สุด

ประชาชนรักษาได้ตามสิทธิ 

 

อย่างไรก็ดี สายพันธุ์หลักที่ระบาดในขณะนี้คือสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งผู้ป่วย 80-90% แทบไม่มีอาการ สามารถรักษาตัวที่บ้านในระบบ Home Isolation ได้ หรือมีเวลาเดินทางไปโรงพยาบาล ไม่ได้อยู่ในภาวะฉุกเฉิน ไม่มีเหตุที่ต้องรีบเข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ดังนั้นหากมีการประกาศให้โรคนี้ไม่เป็นภาวะฉุกเฉิน

 

ผู้ป่วยก็สามารถไปรับการรักษาพยาบาลได้ตามระบบปกติ เช่น หากใช้สิทธิบัตรทอง จะมีหน่วยบริการประจำที่ลงทะเบียนไว้ ผู้ป่วยสามารถไปรับบริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือหากเข้าระบบการดูแลแบบ Home Isolation สปสช. ก็ยังดูแลค่าใช้จ่ายให้เหมือนเดิม

 

"ดังนั้น ไม่ว่าจะประกาศว่าฉุกเฉินหรือไม่ฉุกเฉิน ประชาชนก็ยังได้รับการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะบัตรทองรักษาทุกโรคอยู่แล้ว" นพ.จเด็จ กล่าว

ติดโควิด ต้องทำอย่างไร 

 

ล่าสุด นพ.จเด็จ เผยเมื่อวันที่ 17 ก.พ.65 เผยถึง การรักษาผู้ป่วยโควิดยังรักษาฟรีเช่นเดิม แบ่งเป็น

 

1. หากประชาชนตรวจเชื้อที่หน่วยบริการ หรือสถานพยาบาล และผลเป็นบวก ทางหน่วยบริการนั้นๆจะเป็นผู้นำท่านสู่การรักษา ซึ่งก็จะสอบถามว่า สะดวกรักษาผ่าน HI หรือไม่อย่างไร

 

2.กรณีประชาชนตรวจหาเชื้อด้วยตัวเองผ่าน ATK และผลเป็นบวก ให้ติดต่อสายด่วนสปสช. 1330 ซึ่งจะติดต่อหน่วยบริการหรือรพ.เพื่อดึงท่านเข้าสู่ระบบ HI นอกจากนี้ ยังสามารถติดต่อผ่านแอดไลน์ สปสช. @nhso และเว็บไซต์สปสช. https://www.nhso.go.th/ โดยเจ้าหน้าที่สปสช.จะมีการประเมินอาการเบื้องต้น ว่าจะเข้าระบบ HI หรือ CI ซึ่งทางหน่วยบริการจะติดต่อกลับภายใน 6 ชั่วโมง 

 

สายด่วน สปสช. สายเข้า กว่า 2 หมื่นสาย

 

ทั้งนี้ ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมาในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล มีคนโทรเข้ามาประมาณวันละ 2 หมื่นสาย โดยเข้าระบบ HI ประมาณครึ่งหนึ่ง เนื่องจากส่วนหนึ่งต้องการเข้าฮอสพิเทล ทำให้ต้องรอ และจัดระบบ อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า หากไม่มีอาการและสะดวกรักษาที่บ้าน ขอให้เข้า HI แต่หากไม่สะดวกจะมีการจัดบริการการรักษาในชุมชน หรือ CI รองรับ ซึ่งทั้งหมดระบบจะดำเนินการให้

 

"ขณะเดียวกัน หากแยกตามสิทธิ สามารถติดต่อได้โดยบัตรทอง 1330 หรือประกันสังคมโทร 1506 แต่ขณะนี้ หากโทรมาที่ สปสช. 1330 ได้ ซึ่งก็ดำเนินการให้ทั้งหมด" นพ.จเด็จ กล่าว 

 

ขณะเดียวกัน ปัญหาเรื่องการตรวจ RT-PCR นพ.จเด็จ ย้ำว่า หากตรวจ ATK เองแล้วผลเป็นบวกก็สามารถรักษาผ่าน HI และ CI ได้ ซึ่งหากไม่มีอาการใดๆ และท่านต้องการไปตรวจ RT-PCR เดิมก็สามารถตรวจได้หมด เพราะเราจะตามจ่ายให้

 

เพียงแต่หากไม่ได้กำหนดว่าอยู่ในยูเซปแล้ว หากไม่มีอาการฉุกเฉิน และต้องการตรวจ RT-PCR ก็ขอไปรพ.ตามสิทธิ หรือรพ.รัฐ ทางเราจะตามจ่าย

 

“ขณะนี้ สปสช จ่ายค่าตรวจ RT-PCR อยู่ที่ 1,200 บาท ส่วน รพ.เอกชนบางแห่ง มีการคิดค่าตรวจตรงนี้เกินนั้น สปสช. ไม่มีอำนาจในเรื่องกฎระเบียบกฎหมาย ต้องเป็นส่วนของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ” เลขาฯ สปสช. กล่าว

 

ป่วยโควิดเข้าเอกชน ต้องฉุกเฉิน

 

สำหรับในกรณีเข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบสุขภาพใดระบบสุขภาพหนึ่ง ในอดีตประชาชนสามารถไปได้เฉพาะในภาวะฉุกเฉินวิกฤติ ซึ่งเมื่อโรคโควิด-19 ถูกประกาศว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน ก็หมายความว่าผู้ป่วยสามารถไปรักษาในโรงพยาบาลประเภทนี้ได้ แต่หากต่อจากนี้ไปโรคนี้ไม่ได้ถูกประกาศว่าเป็นภาวะฉุกเฉินแล้ว ขอแนะนำให้ไปรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ในระบบของสิทธิสุขภาพตามระบบปกติ เพราะหากไม่มีอาการฉุกเฉินแล้วไปโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่นอกระบบ กองทุนสุขภาพต่างๆจะไม่ได้เข้าไปดูแลค่าใช้จ่ายให้

 

นพ.จเด็จ ย้ำว่า การจะเข้ารับบริการในโรงพยาบาลเอกชนนั้นให้ดูอาการเป็นหลัก หากป่วยเป็นโควิดแล้วมีอาการฉุกเฉินด้วย เช่น มีไข้สูง หายใจไม่สะดวก หอบเหนื่อย ความดันต่ำ ไม่ค่อยรู้สึกตัว รู้สึกจะเป็นลม ก็สามารถเข้าโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่นอกระบบได้ด้วยอาการฉุกเฉินวิกฤตินั้น ทางกองทุนสุขภาพของผู้ป่วยรายนั้นๆ จะตามไปดูแลให้ 

 

"สรุป ประชาชนถ้าป่วยด้วยโรคโควิด-19 หากไปเข้ารักษาตามระบบตามสิทธิสุขภาพของตนก็ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆเหมือนเดิม แต่หากไปโรงพยาบาลที่ไม่ได้อยู่ในระบบและไม่มีอาการฉุกเฉิน ทางกองทุนสุขภาพจะไม่ได้เข้าไปดูแลแล้ว" นพ.จเด็จ กล่าว