"กำแพงกันคลื่น" ป้องกันการกัดเซาะหรือทำลายชายหาด ?

"กำแพงกันคลื่น" ป้องกันการกัดเซาะหรือทำลายชายหาด ?

โครงการรัฐที่สร้าง"กำแพงกันคลื่น"ป้องกันชายหาดถูกกัดเซาะ นั่นทำให้ชายหาดที่สวยงามหายไปหรือเปล่า หลายฝ่ายจึงกังวลว่า เป็นการทำลายชายหาดมากกว่า แล้วทางออกของปัญหานี้อยู่ที่ไหน

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 65 ได้มีนักท่องเที่ยวโพสต์ภาพชายหาดและทะเลในที่ต่างๆ กลายเป็นกำแพงกันคลื่นมากมาย ไม่มีหาดทรายสวยงามเหมือนในอดีต ภูมิประเทศก็เปลี่ยนไป จนนักท่องเที่ยวไม่กล้าลงเล่นน้ำ หลายคนตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้น

โดยก่อนหน้านั้น วันที่ 22 กรกฎาคม 2564 ทวิตเตอร์ของ Chanon Ngerntongdee ได้โพสต์ภาพถ่ายชายหาดชะอำ จ.เพชรบุรี ที่ไม่มีชายหาด มีแต่บันไดคอนกรีตยาวขนานไปกับทะเล โดยเขียนว่า... 

“ลาก่อนชายหาดชะอำ ต่อไปนี้ต้องเรียกว่า เชิงบันไดริมทะเลชะอำ และแน่นอน อีกไม่นานลูกหลานผมจะไม่เห็นชายหาดอีกต่อไป”

กลายเป็นกระแสในโลกโซเชียล มีผู้นำข้อความแชร์ต่อและแสดงความคิดเห็นมากมายว่า ยังมีชายหาดและทะเลอีกหลายจังหวัดที่เป็นแบบนี้ \"กำแพงกันคลื่น\" ป้องกันการกัดเซาะหรือทำลายชายหาด ? Cr.Chanon Ngerntongdee

  • กำเเพงกันคลื่นหาดชะอำ

     วันที่ 12 มกราคม 2564 มีลมมรสุมพัดเข้า ต.ชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ทำให้คลื่นซัดกัดเซาะชายฝั่งหาดชะอำเป็นแนวยาวกว่า 250 เมตร ต้นสนขนาดใหญ่ล้มกว่า 10 ต้น ชายหาดด้านทิศใต้ถูกกัดเซาะลึกกว่า 3 เมตร เป็นแนวยาวกว่า 200 เมตร

ชายหาดชะอำ จ.เพชรบุรี ที่เคยเป็นหาดทรายกว้าง ลงเล่นน้ำทะเลได้ ปัจจุบัน กรมโยธาธิการได้ก่อสร้างกำเเพงกันคลื่น 3 ระยะ รวม 3 กิโลเมตร 

-ระยะที่ 1 ความยาว 1,438 เมตร งบประมาณ 102.974 ล้านบาท 

-ระยะที่ 2 ความยาว 1,219 เมตร งบประมาณ 74.963 ล้านบาท 

-ระยะที่ 3 ความยาว 318 เมตร งบประมาณ 48.5 ล้านบาท 

และในอนาคต ชายหาดด้านทิศใต้จะมีโครงการฟื้นฟูบูรณะปรับปรุงภูมิทัศน์ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ความยาว 1,438 เมตร ภายใต้งบประมาณของกรมโยธาธิการและผังเมืองรวมทั้งสิ้น 102.924 ล้านบาท

โครงการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นหาดชะอำ ได้เปลี่ยนเเปลงสภาพชายหาดชะอำไปอย่างถาวร หาดทรายหายไป เนื่องจากคลื่นปะทะกำเเพงกวาดทรายออกไป กำเเพงที่มีน้ำท่วมถึงมีตะไคร่น้ำเกาะ ด้านท้ายของกำเเพงก็มีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนเเรง

กำเเพงกันคลื่นเเบบขั้นบันได มีมูลค่าเฉลี่ยกิโลเมตรละ 100 ล้านบาท ส่วนกำเเพงกันคลื่นเเบบหินเรียง เฉลี่ยกิโลเมตรละ 80 ล้านบาท นอกจากสูญเสียภูมิทัศน์ชายหาดแล้ว ยังสูญเสียงบประมาณอีกมหาศาล

\"กำแพงกันคลื่น\" ป้องกันการกัดเซาะหรือทำลายชายหาด ? หาดแก้ว จ.สงขลา Cr.Beach For Life

  • กำแพงกัดเซาะชายฝั่งอีก 5 แห่ง

เหตุการณ์ทำนองนี้ได้เกิดขึ้นอีกใน 5 สถานที่ ได้แก่

1)หาดทรายแก้ว จังหวัดสงขลา มีโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแบบลาดเอียง เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง จากเดิมบริเวณดังกล่าวไม่เคยมีการกัดเซาะชายฝั่งมาก่อน ปัจจุบันมีการเอาไม้ไปปักไว้สลายพลังงานคลื่นแล้ว แต่ไม่เป็นผล

2)หาดหน้าสตน จังหวัดนครศรีธรรมราช กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ก่อสร้างกำแพงกันคลื่นตลอดแนวชายหาดจนมาถึงหมู่ที่ 6 เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง บ้านเรือนและสวนมะพร้าวของประชาชนพังเสียหายจำนวนมาก

3)หาดเกาะแต้ว จังหวัดสงขลา เกิดการกัดเซาะชายฝั่งจากกำแพงกันคลื่น โดยกรมเจ้าท่า จุดสิ้นสุดของกำแพงถูกกัดเซาะจนทำให้ต้นสนล้มหลายสิบต้น มีการใช้ตาข่ายมาดักไว้ก็ไม่เป็นผล กำลังจะปักไม้และเติมทราย

4)หาดสำเร็จ จังหวัดสุราษฎร์ธานี หลังจากก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเสร็จสิ้นในปี 2563 โดยกรมเจ้าท่า ก็เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง

5)หาดสะกอม จังหวัดสงขลา หลังจากก่อสร้างกำแพงกันคลื่นโครงการซ่อมบำรุง โดยกรมเจ้าท่า ชายหาดที่ถูกกัดเซาะชายฝั่งอยู่แล้วกัดเซาะหนักกว่าเดิม ยาวตลอดแนวชายหาดกว่า 1 กิโลเมตร ตัดเป็นหน้าผาลึกกว่า 8 เมตร ในบางจุด

\"กำแพงกันคลื่น\" ป้องกันการกัดเซาะหรือทำลายชายหาด ? หาดสะกอม จ.สงขลา Cr.Beach For Life

  • ชายหาดผืนสุดท้าย

ที่ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้มีการรณรงค์เรียกร้องให้ทุกคนช่วยกันลงชื่อใน https://bit.ly/3GzsoSG เพื่อรักษาชายหาดผืนสุดท้าย หากมีกำเเพงกันคลื่นเกิดขึ้น บริเวณนี้จะกลายเป็นเขื่อนคอนกรีต และชายหาดก็ต้องสูญหายไปอย่างถาวร

ปัจจุบัน ชายหาดนี้เป็นจุดเดียวที่ยังคงสภาพชายหาดธรรมชาติไว้ได้ ไม่มีการกัดเซาะชายฝั่ง เนื่องจากเป็นพื้นที่สะสมตัวของตะกอนทรายชายฝั่ง อันเป็นผลจากเขื่อนกันทรายเเละเขื่อนปากน้ำปราณบุรี

แล้วยังเป็นที่อาศัยของ นกหัวโตมลายู ที่มาวางไข่และหาอาหารอีก 300 กว่าตัว ส่วนดอนทรายในทะเลก็ยังเป็นเเหล่งหอยหวานอีกด้วย

  • คดีชายหาดสะกอม จ.สงขลา

ที่ จังหวัดสงขลา มีการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ 3 แห่งคือ 

1)ปากร่องน้ำทะเลสาบสงขลา 

2)ปากร่องน้ำนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา 

3)ปากร่องน้ำสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

จุดที่หายนะอยู่ที่ ชายหาดสะกอม เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง เป็นหน้าผาลึกกว่า 10 เมตร หลังกรมเจ้าท่าก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำสะกอม ในปี 2541

ปัจจุบัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงนักวิชาการ ต่างยอมรับว่า การก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำคือต้นตอสำคัญของการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทย

\"กำแพงกันคลื่น\" ป้องกันการกัดเซาะหรือทำลายชายหาด ? Cr.Beach For Life

เจ๊ะหมัด สังข์แก้ว ประชาชนชาวสะกอมกล่าวว่า การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านมาก

“จะขึ้นลงชายหาดลำบากมาก ส่งผลกระทบต่อชุมชน ต่อชายหาดที่ชุมชนใช้ประโยชน์ การฟ้องคดีครั้งนี้ ตอนแรกเขาไม่รับฟังความคิดเห็นของพวกเรา​ทั้ง 10 คนเลย พวกเรามีสิทธิที่จะฟ้องคดีกับกรมเจ้าท่าที่ทำชายหาดเสียหาย...​”

ขณะที่ ศุภวรรณ ชนะสงคราม นักพัฒนาเอกชน กล่าวว่า หากย้อนไปสมัยเริ่มทำโครงการ เขาบอกว่าสร้างแล้วจะไม่ต้องขุดลอกอีกต่อไป แต่ท้ายสุดวันนี้ปากร่องน้ำตื้นเขินเหมือนเดิม และเกิดการกัดเซาะชายฝั่งด้านเหนือเขื่อนกว่า 3 กิโลเมตร

“การที่ชุมชนฟ้องคดีต่อศาลครั้งนี้ คาดหวังให้คำพิพากษาสร้างบรรทัดฐานใหม่ เขื่อนหินกันคลื่น ที่ทำโดยไม่ได้ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม EIA ไม่ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น

และสร้างผลกระทบภายหลัง ต้องดำเนินการรื้อออก ไม่อย่างนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะทำแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ในที่สุดชายหาดของประเทศไทยก็จะหมดไป"

  • ยกฟ้องคดีชายหาดสะกอม จ.สงขลา

จากจุดเริ่มต้นในปี 2541 กรมเจ้าท่า ได้ก่อสร้างเขื่อนกันทรายและเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง 4 แห่ง ต่อมาปี 2541- 2551 เกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรงตามแนวชายหาด 3 กิโลเมตร ประชาชนสะกอมลุกขึ้นมาใช้สิทธิฟ้องคดีในปี 2551 นำไปสู่ศาลปกครองสงขลา 

ปี 2554 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โครงการไม่มีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งเเวดล้อม(EIA) ก่อนดำเนินการ เเละสร้างผลกระทบต่อชายหาดอย่างรุนเเรง ให้ดำเนินการทำ EIA ภายใน 60 วัน ต่อมาปี 2554-2565 ได้มีการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

ล่าสุด วันที่ 26 มกราคม 2565 ชาวบ้านสะกอม จ.สงขลา ได้เดินทางมาศาลปกครองสงขลา เพื่อฟังคำพิพากษา “คดีหาดสะกอม จ.สงขลา” ที่ประชาชนลุกขึ้นมาใช้สิทธิตรวจสอบการดำเนินโครงการของภาครัฐ

เป็นคดีที่ใช้เวลาพิจารณานาน 14 ปี ชาวบ้านหวังว่าจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยฟื้นฟูหาดสะกอมให้กลับสู่สภาพเดิมเเละชดเชยค่าเสียหายให้กับชาวบ้าน

ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาว่า เป็นการดำเนินโครงการที่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากในเวลานั้นการก่อสร้างเขื่อนกันทรายเเละคลื่น ไม่ต้องทำ EIA เเละการก่อสร้างเขื่อนกันทรายเเละคลื่นไม่ใช่การถมที่ดินในทะเล รวมถึง กรมเจ้าท่ามีการติดตามอยู่เป็นระยะ จึงยกฟ้องคดี