ถอดรหัส "THG" ฝ่าทุกวิกฤติ สู่เป้า "Smart Hospital"

ถอดรหัส "THG" ฝ่าทุกวิกฤติ  สู่เป้า "Smart Hospital"

“นพ.บุญ วนาสิน” เผย Key Success นำพา "ธนบุรี เฮลท์ แคร์กรุ๊ป" ฝ่าทุกวิกฤติตั้งแต่ต้มยำกุ้ง จนถึง "โควิด-19" ที่เขย่าวงการธุรกิจ จากขาดทุน 200 ล้านบาทในไตรมาสแรกปี 2564 สู่รายได้เพิ่ม 10 เท่าภายใน 1 เดือน เดินหน้า "Smart Hospital" ยกระดับมาตรฐานการรักษา

ในช่วงที่ผ่านมา “โควิด-19” กลายเป็นวิกฤติของประเทศไทยและทั่วโลก ไม่เพียงแค่ส่งผลต่อระบบสาธารณสุขเท่านั้น ยังกระทบถึงเศรษฐกิจและสังคม แม้แต่ธุรกิจด้านการแพทย์อย่าง โรงพยาบาลเอกชน เอง ก็ได้รับผลกระทบจากการที่ผู้ป่วยต่างชาติเดินทางมารักษาน้อยลง การนำพาองค์กรฝ่าวิกฤติไปได้ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เรียกว่าต้องอาศัยทั้งประสบการณ์ วิสัยทัศน์ และการปรับตัวที่รวดเร็ว

 

สำหรับหนึ่งในกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่อย่าง บริษัท ธนบุรี เฮลท์ แคร์กรุ๊ป จำกัด มหาชน (THG) ซึ่งมีโรงพยาบาลในเครือ 8 แห่งทั่วประเทศ และโรงพยาบาลเครือข่ายอีก 10 แห่ง รวมถึงมีการลงทุนในต่างประเทศ ได้แก่ เมียนมา ภายใต้การบริหารของหัวเรือใหญ่อย่าง “นพ.บุญ วนาสิน” ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) วัย 83 ปี ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ที่นอกจากจะมีบทบาทในการดูแลรักษาคนไข้แล้ว ยังมีวิสัยทัศน์ในการลงทุนและเดินหน้าธุรกิจ ส่งผลให้ ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ที่มีจุดเริ่มต้นจากโรงพยาบาลเพียง 60 เตียง เมื่อกว่า 40 ปีก่อน พัฒนากิจการให้เติบโตแบบก้าวกระโดด สู่การเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเช่นในปัจจุบัน

 

แม้วิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 จะถือเป็นวิกฤติที่หนักมากที่สุดตลอด 40 ปีที่ผ่านมาของการบริหารโรงพยาบาล แต่สถานการณ์โควิด-19 เองก็ถือว่าเขย่าวงการภาคธุรกิจเช่นเดียวกัน ประธานกรรมการ THG ยอมรับว่า โควิด-19 กระทบต่อธุรกิจโดยเฉพาะ โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง ซึ่งก่อนโควิด-19 ให้บริการลูกค้าต่างชาติเป็นสัดส่วนกว่า 99% ส่งผลให้ ไตรมาสแรกของปีนี้ ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ขาดทุนไปกว่า 200 ล้านบาท แต่สามารถพลิกฟื้นสถานการณ์กลับมาได้ในช่วงครึ่งหลังของปี

“นพ.บุญ” เปิดเผยว่า ไตรมาสแรกขาดทุนกว่า 200 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 2 เริ่มฟื้นตัว ต่อมาในช่วงเดือนกรกฎาคม โรงพยาบาลที่รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ไม่เพียงพอ เราจึงเดินหน้าสร้างไอซียูสนาม รองรับผู้ป่วยอาการปานกลางถึงวิกฤต โดยมีเตียงผู้ป่วยเหลืองและแดงรวมประมาณ 650 เตียง และร่วมมือกับโรงแรม ทำฮอสพิเทลสำหรับผู้ป่วยสีเขียวอีกกว่า 4,600 เตียง สามารถช่วยชีวิตคนได้วันละกว่า 300 คน และ รายได้เพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่า ภายในเวลา 1 เดือน

 

จากการปรับตัวที่รวดเร็ว ส่งผลให้การดำเนินงานของ ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยไตรมาส 3/2564 ทำกำไรสุทธิ (ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่) 833 ล้านบาท เติบโตจาก 75 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อน และรายได้รวม 3,861 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1,913 ล้านบาท จากการจัดส่งบุคลากรทางการแพทย์ ร่วมมือภาครัฐดูแลคนไข้โควิด-19 ในไอซียูสนาม โรงพยาบาลในเครือ และฮอสพิเทล โดยมีการคาดการณ์ว่าแนวโน้มไตรมาสสุดท้ายเติบโตดี จากรายได้ที่เกี่ยวเนื่องกับโควิด-19

 

ความสำเร็จดังกล่าว ผนวกกับการดูแลธุรกิจโรงพยาบาลในเครือ 8 แห่ง ในต่างประเทศอีก 1 แห่ง และธุรกิจเสริมอื่นๆ รวมถึงพาองค์กรก้าวผ่านวิกฤติโควิดจนมีการเติบโตสวนกระแส ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายในยุคสมัยที่ถูกดิสรัปด้วยโรคระบาดเช่นในปัจจุบัน

“นพ.บุญ” เปิดเผยถึง Key Success ว่า ต้องมองอนาคตให้ออกว่าการเติบโตอยู่ตรงไหน ยกตัวอย่าง การทำธุรกิจโรงพยาบาลหากเป็นโรงพยาบาลทั่วไปกว่าจะคืนทุนได้ต้องใช้เวลากว่า 8 ปี แต่ของเรา 5 เดือนแรกได้กำไร เพราะจับกลุ่มลูกค้าต่างชาติ เมืองไทยเป็นจุดมุ่งหมายของ Medical Tourism นักท่องเที่ยวที่นิยมเข้ามารักษาในไทยด้วย 3 เหตุผลหลัก คือ โรงพยาบาลที่ดี แพทย์เก่ง และสิ่งสำคัญที่สุด คือ ราคาถูกกว่าต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ค่าใช้จ่ายแพงกว่าไทย 60% สหรัฐอเมริกา ค่าใช้จ่ายแพงกว่าถึง 3 เท่า ขณะเดียวกัน ประเทศไทย ยังนับเป็น “World Class Destination” สำหรับนักท่องเที่ยวซึ่งที่พาพ่อแม่มารักษาและลูกหลานก็ได้เที่ยวด้วย

 

สำหรับก้าวต่อไปของ ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ที่นอกจากจะเน้นมาตรฐานการรักษาด้วยเทคโนโลยีทันสมัยและได้มาตรฐาน ยังมุ่งพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่อง อาทิ ห้องปฏิบัติการหรือห้องแล็บ ที่มีการตั้งเป้าเป็นห้องแล็บที่ดีที่สุดระดับโลก รวมถึงพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และการใช้ไอทีเข้ามารักษาผู้ป่วยที่บ้าน ช่วยลดระยะเวลาการรอคอยผลแล็บจากเดิมที่ต้องรอนานข้ามวัน เหลือเพียง 20 นาที

 

“ที่นี่จะเป็น Smart Hospital เราลงทุนเรื่องเทคโนโลยีสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ การผ่าตัดทางไกล ผ่าตัดด้วยกล้องที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา อีกทั้งการพัฒนาแล็บ และระบบโลจิสติกส์ส่งยาถึงบ้าน ใช้เทคโนโลยีด้านไอทีดูแลผู้ป่วยถึงบ้าน เช่น ผู้ป่วยติดเตียง ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการมาโรงพยาบาลครั้งละประมาณ 1,500 บาท ลูกต้องหยุดงาน 3 คน แต่หากมีระบบดูแลผู้ป่วยถึงบ้าน เช่น ที่ จ.ภูเก็ต จ่ายแค่ 200 บาท มีแพทย์ นักกายภาพ พยาบาล ไปรักษาที่บ้าน ดังนั้น ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมาก เพื่อลดค่าใช้จ่ายผู้ป่วยไม่ให้มาโรงพยาบาลบ่อยๆ”

 

“ตอนนี้หมดสมัยที่จะเน้นสินค้าและบริการเพราะเราทำมาแล้วกว่า 40 ปี ต้องเอาไอทีเข้ามาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาและลดต้นทุน การทรานสฟอร์มดังกล่าว ส่งผลให้เราได้รับรางวัลยอดเยี่ยมระดับโลก World’s Best Hospitals ในประเทศไทย ทั้งปี 2020 และ 2021โดยให้ รพ.ธนบุรีติดอันดับ Top 10 โรงพยาบาลยอดเยี่ยมที่สุดในประเทศไทย ประจำปี 2020 และ Top 5 ในปี 2021”

 

เมื่อมองความสำเร็จของ ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ในวันนี้ หลายคนอาจเกิดความสงสัยว่าการใช้ชีวิตใน 24 ชั่วโมงต่อวันของผู้บริหารในวัย 83 ปี เป็นอย่างไร นพ.บุญ เปิดเผยว่า ส่วนตัวมีธุรกิจเสริม 50 อย่าง และ 8 เดือนที่ผ่านมา ดูแลคนไข้ต่อวัน 15-16 ชั่วโมง แทบจะไม่ได้นอน รวมถึง ต้องคุยกับประเทศสหรัฐอเมริกา เยอรมนี อิสราเอล ในการนำเข้าวัคซีน

 

“สิ่งสำคัญ คือ ต้องออกกำลังกาย ผมตื่น 04.00 น. เพื่อฟังข่าวและอ่านหนังสือ หลังจากนั้นวิ่งบนสายพาน 1 ชั่วโมง 06.30 น. กินข้าว อาบน้ำ มาทำงาน ส่วนกลางคืนกลับถึงบ้านประมาณ 20.30 น. ต้องว่ายน้ำอีก 2 ชั่วโมง ทำแบบนี้เป็นประจำกว่า 40 ปี ขณะเดียวกัน ในเรื่องของอาหาร ตลอดชีวิตจะเน้นทานปลากับผัก และกินวันละมื้อ อาหารต้องครบทุกหมู่ ตอนหนุ่มคุณต้องกินอาหารเหมือนยา มิฉะนั้นตอนแก่คุณจะกินยาเป็นอาหาร ท่องคำนี้ไว้เลย”

 

ส่วนทิศทางในอนาคตที่หลายคนจับตาของ ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป คือ การส่งไม้ต่อให้กับรุ่นต่อไป ซึ่งปกติแล้วเรามักจะพบการส่งไม้ต่อให้กับรุ่นต่อรุ่น แต่แนวคิดในฐานะ ประธานกรรมการ THG กลับมองไกลกว่านั้น คือการข้ามรุ่นลูกไปสู่การส่งไม้ต่อให้รุ่นหลานแทน

 

“คนจีนบอกว่าพอถึงเจเนอเรชั่นที่ 3 ธุรกิจคุณจะกลายเป็นล้มละลาย เพราะเขามองว่าพ่อแม่รวยจะทำงานทำไม มีทุกอย่างแล้ว ดังนั้น ผมบอกลูกทุกคนหยุดทำงาน ให้ไปทำแต่การกุศล ให้รับใช้สังคม ไปดูคนจน ซึ่งมันได้ผล เพราะหากหลานวันๆ ได้ยินแต่พ่อแม่พูดเรื่องเงินเรื่องทองก็จะบ้าเงินไปด้วย ตอนนี้ทุกคนจึงสนใจความรู้ สนใจเล่นกีฬา แค่นั้นผมก็พอใจแล้ว เราต้องเลี้ยงให้เขาดูแลตัวเองได้ เป็นคนดีต่อสังคม ใช้วิธี Skip ข้ามเจนเนอเรชั่นหนึ่ง โดยใช้เวลา 30 ปี รอให้หลานมาทำงานเท่านั้นเอง เพราะเขาประสบความสำเร็จและเห็นคุณค่าของเงิน แต่หากเลี้ยงแบบคนรวยทั่วไปอาจจะพังไปแล้วก็ได้” นพ.บุญ กล่าวทิ้งท้าย

 

ถอดรหัส \"THG\" ฝ่าทุกวิกฤติ  สู่เป้า \"Smart Hospital\"