ถึงเวลาไทยพลิกโฉม “ความมั่นคงอาหาร” สร้างสังคมอิ่มท้อง พร้อมรับมือวิกฤติ

ถึงเวลาไทยพลิกโฉม “ความมั่นคงอาหาร” สร้างสังคมอิ่มท้อง พร้อมรับมือวิกฤติ

จากข่าวคราวที่คนทั่วโลกต้องประสบภาวะอาหารไม่เพียงพอหรือขาดอาหารอย่างเฉียบพลันในช่วงวิกฤตโควิด-19 กำลังเป็นสัญญาณสะท้อนให้เห็นว่า แท้จริงแล้วหลายประเทศทั่วโลกอาจกำลังเผชิญ “ความเปราะบาง” ของระบบ “ความมั่นคงอาหาร” อยู่หรือไม่?

ความขาดแคลนอาหารในช่วงดังกล่าวอาจเป็นซีนาริโอระดับโลกของ “ความมั่นคงอาหาร” ที่ส่งเสียงถึงทุกฝ่ายว่าถึงเวลาต้องร่วมจับมือกัน เพื่อหาแนวทางของข้อสรุปว่า “ทำอย่างไรจะช่วยให้ประชาชนพลเมืองทั่วโลกสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัยต่อสุขภาพได้”

ไทยต้องอิ่มและดี 2030

การสร้างระบบความมั่นคงทางอาหารเป็นอีกหนึ่งวาระสำคัญที่ต้องจับตา รวมถึงประเทศไทย ที่แม้จะได้ชื่อว่าเป็น “เมืองอู่ข้าวอู่น้ำ” แต่ด้วยทรัพยากรการผลิตอาหารที่นับวันมีแต่จะลดลง ปฏิเสธไม่ได้ว่าอนาคตประเทศไทยอาจมีโอกาสเผชิญวิกฤติ

ข้อกังขาดังกล่าวทำให้ 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จึงหารือร่วมกันวางแนวทางการปรับเปลี่ยนการจัดการระบบอาหารและเกษตรไปสู่ความยั่งยืน

ล่าสุดได้จัดเวที ชวนคิด..ชวนคุย ระดับชาติ (National Dialogues) ร่วมกัน 3 ครั้ง เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals 2030 : SDGs) ทั้ง 17 ข้อ ภายในปี 2573 โดยเฉพาะเป้าหมายด้าน “การยุติความหิวโหย การบรรลุความมั่นคงทางอาหาร ปรับปรุงภาวะโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน” ที่นำมาสู่แนวทาง และมาตรการที่มุ่งเน้นการพลิกโฉมระบบอาหาร ไปสู่ระบบอาหารที่ดี ยั่งยืน และเป็นธรรมมากขึ้น ภายใต้แนวคิด “อิ่มและดี 2030” “Healthy Diets for All” ซึ่งกำลังเป็นข้อเสนอสำคัญของประเทศไทยกับการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก (UN Food Systems Summit 2021: UNFSS 2021) อีกด้วย

ความมั่นคงอาหาร

ดร.ธนวรรษ เทียนสิน ประธานคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก (Chairperson of Committee on World Food Security หรือ CFS) และผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงโรม (FAO/IFAD/WFP) กล่าวว่า ในปี 2562 เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ประกาศในที่ประชุมของคณะกรรมการความมั่นคงทางอาหารโลกที่กรุงโรมว่า ถึงเวลาแล้วที่นานาประเทศสมาชิกต้องร่วมกันปรับเปลี่ยนระบบอาหาร หรือ Food System ทั่วโลก โดยมีแนวทางร่วมกัน 5 ประการ ซึ่งใจความหลักๆ คือการทำยังไงให้เข้าถึงอาหารที่เพียงพอและดีต่อสุขภาพ ทำอย่างไรให้ระบบการผลิตอาหารและการบริโภคอาหาร โดยไม่ส่งผลต่อกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ สร้างความเท่าเทียมลดความเหลื่อมล้ำ ทุกคนมีงานทำเหมาะสม สร้างบทบาทชุมชนให้มีส่วนร่วมในระบบอาหารอย่างจริงจังและสร้างระบบอาหารให้มีความยืดหยุ่น เพราะไม่ว่าจะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างไร ต้องมีระบบอาหารมั่นคง ที่จะสามารถเลี้ยงคนทั้งประเทศและคนในโลกได้

Food system มีความกว้างใหญ่กว่า เรื่องของความมั่นคงของอาหาร และมากกว่าห่วงโซ่การผลิตอาหาร เพราะอาหารเกี่ยวข้องกับทุกอย่าง ที่ผ่านมาภาคีทั่วโลกมีการจัดประชุม National dialogue มากกว่าเก้าร้อยครั้ง ในเรื่องอาหาร รวมถึงประเทศไทย” ดร.ธนวรรษ กล่าว

ดร.ธนวรรษ เอ่ยต่อว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนระบบความมั่นคงอาหารไปสู่ความมั่นคงทางอาหารยั่งยืน โดยในอนาคตจะมีการขับเคลื่อนต่อในระดับประเทศและระดับโลก ด้วยการติดตาม ให้มีการรายงานต่อสหประชาชาติทุกสองปีเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการปรับเปลี่ยนระบบอาหารของแต่ละประเทศ
 

ครัวไทย ยังเป็นครัวโลก?

ด้าน ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติและการเกษตรต่างประเทศ กล่าวต่อว่า แม้ประเทศไทยมีความเป็นอู่น้ำอู่ข้าว เหมาะกับการทำกสิกรรมและเกษตรกรรม ซึ่งนอกจากเลี้ยงประชากรประเทศเรายังเลี้ยงประชาชนหรือพลเมืองของโลกอีกด้วย โดยเป็นผู้ส่งออกผลิตผลด้านการเกษตรในนานาประเทศ

สมัยก่อนเราอาจบริโภคอาหารจากฟุ่มเฟือย เนื่องจากประชากรยังมีไม่มาก แต่ปัจจุบันจำนวนประชากรที่มากขึ้น ทำให้ประสบปัญหาเรื่องแหล่งผลิตหรือปัจจัยการผลิตที่ยังคงมีเท่าเดิม หรือลดลง เช่นทรัพยากรน้ำ ที่ปัจจุบันทั้งเสื่อมโทรมและไม่เพียงพอ” 
ความมั่นคงอาหาร

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จึงมีการกำหนดนโยบาย และแผนยุทธศาสตร์ในด้านการพัฒนาระบบของอาหารและการเกษตรยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย 3 s ได้แก่ Safety Security Sustainability

คือความปลอดภัยของการบริโภค ตั้งแต่แหล่งผลิต ไร่ฟาร์มไปจนถึงกระบวนการส่งผลผลิต การแปรรูป และการส่งต่อไปถึงมือผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ การมีวิธีการหรือมีแนวทางในการทำการเกษตรที่ดีและมีมาตรฐานปลอดภัย เพื่อสร้างความเชื่อใจผู้บริโภคปลายทาง ด้วยมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็น GAP GMP
โดยผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับว่า ผลิตผลนั้นมีแหล่งที่มาจากไหน และมีความมั่นคง คือคือการทำให้ระบบอาหารและการเกษตรมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น เกษตรกร สถาบัน หน่วยงานราชการ ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในการรักษาและต่อยอด ส่งเสริมให้เกษตรกรมีความภาคภูมิใจในการทำเกษตรกรรม รวมถึงการนำนวัตกรรมและงานวิจัยเข้ามาพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้
” ดร.ทองเปลว อธิบาย

ล่าสุด ได้มีการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อต่อยอดความร่วมมือในการสร้างความรู้และระบบรองรับการทำงานในระบบการจัดการร่วมกัน ในการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ และการสื่อสารกับสังคมไทยเพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องความมั่นคงทางอาหารยั่งยืน

“อิ่มท้อง” ต้องสร้างสุขภาพ

อีกหนึ่งหน่วยงานที่ขับเคลื่อนประเด็นอาหารเพื่อสุขภาพมาตลอด อย่าง สสส. เอ่ยถึงเป้าหมายสำคัญในการเดินหน้าสร้างความมั่นคงทางอาหาร ว่าคือการส่งเสริมให้คนไทยเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพและถูกสุขภาพมากขึ้น

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า แนวคิดดังกล่าวเกิดจากความเชื่อว่า อาหารเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดสุขภาพคนเราตั้งแต่ก้าวแรกของชีวิต แต่ปัจจุบัน คนไทยกำลังเผชิญโรคที่เกิดมาจากพฤติกรรมสุขภาพอย่างกลุ่ม โรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เรียกว่า NCDs อาทิ โรคเบาหวาน ความดัน กำลังกลายเป็นสาเหตุความเจ็บป่วยและเสียชีวิตที่สำคัญของคนไทยไม่น้อย 

สสส.

ปัจจุบันคนไทยสามในสี่เสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเป็นผลจากการบริโภคที่ไม่ถูกโภชนาการและการมีพฤติกรรมสุขภาพไม่เหมาะสมในแง่เศรษฐกิจทำให้ประเทศไทยต้องใช้งบในการรักษาและการป้องกันโรคปีละไม่ต่ำกว่าสองแสนล้านบาท และขณะที่ไทยเป็นประเทศที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะผัก แต่คนไทยยังจำเป็นต้องบริโภคผักเพิ่มอีกถึง 37% ถึงจะเหมาะสมกับสุขภาพ ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้

ตลอด 20 ปีและในอนาคต สสส. ยังคงเดินหน้าทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพคนไทย ซึ่งก้าวต่อไปของ สสส.และภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพยังขอประกาศเจตนารมณ์ที่จะเข้ามีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคส่วนต่างๆ รวมถึง กระทรวงเกษตรในการสนับสนุนการพัฒนาระบบความมั่นคงอาหารและการเข้าถึงอาหารของคนไทย โดยจะพยายามมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นทางระบบผลิต เพื่อให้เกิดระบบผลิตอาหารที่ปลอดภัยยั่งยืน ไปจนถึงสามารถมีพื้นที่ที่จะเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าผลผลิตทางการเกษตรที่ดีถึงมือผู้บริโภคอย่างปลอดภัย เพื่อนำไปสู่สุขภาพที่ดี” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

อาหารมั่นคง เสริมเศรษฐกิจฐานราก

อาหารคือความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤต คนไทยควรได้รับการรับรองสิทธิ์ในการเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอร่วมกัน ซึ่งต้องมีการดำเนินการร่วมกันเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวถึงการสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนให้ประเทศไทยมีความพร้อมและสามารถรับมือกับปัญหาอาหารในยามภาวะวิกฤติได้ ซึ่งที่ผ่านมา มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 เรื่อง “ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤติ” เกิดจากกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม โดย431 องค์กรสมัชชาสุขภาพ ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเป็นนโยบายสาธารณะ และประชาชนทุกคนในภาวะวิกฤติจะได้รับการคุ้มครองสิทธิ์ในการเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ

ความมั่นคงอาหาร

มีการกำหนดเป้าหมายไว้ 5 ปีข้างหน้าคือภายในปี 2568จะสามารถจัดการภาวะอาหารวิกฤต  ส่งเสริมให้ชุมชนมีแหล่งผลิตอาหารสามารถพึ่งพาตนเองในทุกภาวะวิกฤต ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการและกระจายแลกเปลี่ยนอาหารจากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภคอย่างหลากหลายและสอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของชุมชนและวิถีวัฒนธรรม” นพ.ประทีปเอ่ย

ยกระดับมั่นคงทางอาหารตลอดห่วงโซ่

น.สพ.ยุคล ลิ้มแหลมทอง ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านความมั่นคงทางอาหารตลอดห่วงโซ่ คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ เอ่ยว่าการสร้างระบบอาหารเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับหลายหลายหน่วยงานด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น การจะทำให้มีการบูรณาการทุกภาคส่วนในการดำเนินการส่วนหนึ่งควรมีการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในกลไกในการบริหารจัดการที่ดี

นอกเหนือจากประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านความมั่นคงทางอาหาร ที่ดูแลทรัพยากรการผลิตให้มีความยั่งยืนสร้างความเป็นธรรมและการเข้าถึง การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มีความปลอดภัยและถูกหลักตามโภชนา การมีการกำหนดเขตการผลิตสินค้าเกษตรที่เรียกว่าโซนนิ่ง มีการสร้างสมาร์ทฟาร์มเมอร์ และมีการกระจายอาหารเพื่อเกิดความเข้าถึงของครัวเรือนชุมชน รวมถึงพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อรองรับภาวะวิกฤติ

โดยกล่าวต่อว่าหากดูจากอัตราส่วนการพึ่งพาตนเองของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2559 ถึง 2563 ไทยมีความมั่นคงอาหารระดับที่ดีพอสมควร แต่ก็ยังมีปริมาณไม่เพียงพอความต้องการหลายประเภท

อย่างไรก็ดี ในการดำเนินการความมั่นคงทางอาหาร ยังมีดำเนินการในหลายมิติ อาทิ การศึกษาอาหารเสียกะศึกษาเรื่องการสูญเสียอาหาร รวมถึงปัจจุบันมีการตั้งศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่ภูมิภาค การจัดตั้ง Agricultural Big Data Center ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินการปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมให้มาเป็นพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ได้ 730,000 กว่าไร่ในพื้นที่ 16 จังหวัด มีการจัดทำปฏิทินสินค้าเพื่อกำหนดสินค้าเกษตรในระดับราย รวมถึงบางจังหวัดใช้โอกาสในช่วงโควิด เพื่อนำร่องพื้นที่ในบางจังหวัดว่าเมื่อล็อคดาวน์พัฒนาระบบความมั่นคงทางอาหารชุมชน เป็นต้น” น.สพ.ยุคลกล่าว

ส่วนเป้าหมายระยะยาว น.สพ.ยุคล ให้ข้อมูลว่า มีการกำหนดมาตรฐานคุณภาพความปลอดภัยให้สอดคล้องกับมาตรฐานทั่วโลก มีระบบประกันคุณภาพมีการดูแลมาตรฐานตั้งแต่ในระบบฟาร์ม เน้นการวิจัยและพัฒนาสร้างองค์ความรู้เผยแพร่กระจายไปสู่เกษตรกรและชุมชน ไปจนถึงผู้บริโภค ต่อยอดนำภูมิปัญญาท้องถิ่นประสานกับเทคโนโลยี และการบริหารจัดการการพัฒนาโครงสร้างระบบการบริหารจัดการระบบอาหารของประเทศต่อไป

ถึงเวลาไทยพลิกโฉม “ความมั่นคงอาหาร” สร้างสังคมอิ่มท้อง พร้อมรับมือวิกฤติ