ถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสก่อโรคโควิด-19แล้วกว่า 1 แสนตัว
รมช.สธ.ย้ำอย่าเสพติดโควิด-19เป็น 0 ราย ด้าน“หมอยง”คาดสิ้นปี63 ทั่วโลกติดเชื้อทะลุ 80-100 ล้านคน เผยอัตราเชื้อกลายพันธุ์น้อยกว่าไข้หวัดใหญ่ 10 เท่า
เมื่อเวลา 09.00 น วันที่ 30 ตุลาคม 2563 ที่โรงพยาบาลราชวิถี นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) คนที่ 1 เป็นประธานเปิดงาน Virtual Policy Forum : Updating on Diagnosis, Treatment and Vaccine of COVID-19 จัดโดยกรมการแพทย์ ว่า สถานการณ์การระบาดโควิด-19 การระบาดระลอก 2 ย่อมต้องเกิดขึ้น ทั้งกรณีการเดินทางเข้ามาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือการเดินทางเข้าออกรอบบ้านตามช่องทางธรรมชาติ เพราะช่องทางธรรมชาติยังไม่สามารถควบคุมได้เต็มระบบ ซึ่งแน่นอนว่าการเข้าออกทางสนามบินมีระบบที่ค่อนข้างมั่นใจ สิ่งสำคัญเราต้องเตรียมความพร้อมทุกอย่าง และเตรียมรองรับระลอก 2 ที่จะเกิดขึ้นโดยปัจจุบันในกทม. ทางการแพทย์รับได้ประมาณ 200 เตียงต่อวัน ซึ่งก็ถือว่ามั่นใจได้ในทางการแพทย์ ขณะที่กรมควบคุมโรคก็มีการอบรมผู้ที่จะมาสอบสวนโรคเพิ่มเติม แต่สิ่งสำคัญอย่าเสพติดกับตัวเลขผู้ป่วยเป็นศูนย์ราย แต่เราต้องเน้นการสอบสวนโรคให้เร็ว ควบคุมโรคได้ และต้องไม่ปกปิดข้อมูล
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันเชื้อไวรัสโคโรนาตามฤดูกาลมี 4 ตัว และในอนาคตเชื้อที่ก่อโรคโควิด-19 จะเป็นตัวที่ 5 ซึ่งจะกลายเป็นเชื้อตามฤดูกาล อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีข้อมูลว่า กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 30 ปีที่ติดเชื้ออัตราตายน้อยมาก ขณะที่ผู้สูงอายุจะมีอาการและความรุนแรงมากกว่า ซึ่งโรคนี้เมื่อเทียบกับอีโบลายังมีความรุนแรงไม่เท่าอีโบลา จึงพบเกิดการระบาดทั่วโลกได้ง่าย เพราะอีโบลาเป็นแล้วอาการรุนแรง สำหรับอัตราการเสียชีวิตของโรคโควิด-19 เมื่อเทียบกับโรคซาร์ส กับเมอร์ส พบว่า โควิดน้อยกว่ามาก โดยอัตราเสียชีวิตจะสูงขึ้นตามอายุ โดยอายุ 50 ปีขึ้นไปจะพบอัตราเสียชีวิตขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป ส่วนการประเมินสถานการณ์การระบาดของทั่วโลก คาดการณ์ว่า สิ้นปีนี้อาจถึง 80-100 ล้านคน
“ไทยถือว่ารับมือได้ดี อย่างสูงสุดผุ้ป่วย 188 คน ยกตัวอย่าง หากจังหวัดมี 1 ล้านคน มีผู้ป่วยวันละ 5 คน ประเทศไทยรับได้ เพราะเรารู้ว่า ผู้ป่วยจริงๆ ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ มีส่วนน้อยที่มีอาการมากจนต้องเข้าไอซียู ที่น่ากังวล คือ ปัจจุบันคนกลับสแกนไทยชนะน้อยลง ซึ่งจริงๆควรทำอย่างสม่ำเสมอ” ศ.นพ.ยง กล่าว
ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า สำหรับรหัสพันธุกรรมของไวรัสก่อโรคโควิด-19มีการถอดไปแล้วมากกว่า 1 แสนตัว โดยมีของประเทศไทยประมาณ 400 ตัว โดยสายพันธุ์แอล ในยุโรป แตกออกลูกหลานเป็นสายพันธุ์ อีและสายพันธุ์จี แต่สายพันธุ์จีมากสุด และแตกลูกหลานเป็นจีอาร์ กับจีเอส อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์ต้นตอคือสายพันธุ์เอสที่ระบาดในไทยรอบแรก และสายพันธุ์แอลเริ่มหมดไป ทั้งนี้ สายพันธุ์ต่างๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของโรค จึงไม่ได้มีผลต่อการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับอัตราการกลายพันธุ์ของไวรัสตัวนี้น้อยกว่าไข้หวัดใหญ่ 10 เท่า ซึ่งไข้หวัดใหญ่มีการกลายพันธุ์ จึงต้องฉีดวัคซีนใหม่ทุกปี