‘ไอ้ไข่’ วัดเจดีย์ นักปั้นเศรษฐกิจเมืองคอน
เมื่อผลลัพธ์ของสตอรี่ที่ถูกสร้างขึ้นจากความเชื่อและความศรัทธา "ไอ้ไข่" วัดเจดีย์ จึงนำพาเศรษฐกิจเมืองคอนอู้ฟู่ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19
หากเอ่ยถึงวัตถุมงคลที่พึ่งทางใจของคนไทยทั่วประเทศ นาทีนี้คงไม่มีใครเกิน ‘ไอ้ไข่’ แห่งวัดเจดีย์ ตำบลฉลอง อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ความหวังใหม่ที่จะบันดาลความสุขความสำเร็จให้สมดั่งใจปรารถนา
เปิดศึกแย่ง ‘ไอ้ไข่รุ่นยอดทรัพย์’ บางรุ่นราคาพุ่งหลักล้าน
แห่ส่องเลขเด็ดอ่างน้ำมนต์ ‘ไอ้ไข่วัดเจดีย์’ ให้โชคตรงๆ 3 งวดติด
อภินิหาร ‘ไอ้ไข่วัดเจดีย์’ ของานได้งาน ขอเงินได้เงิน
พาดหัวข่าวจากหลายสำนักแสดงให้เห็นว่า ที่ผ่านมา ‘ไอ้ไข่’ แห่งวัดเจดีย์ได้ทั้งพื้นที่สื่อและเม็ดเงินเข้าวัดเป็นกอบเป็นกำ หลังคลายล็อกดาวน์เป็นต้นมา ถนนทุกสายมุ่งสู่นครศรีธรรมราช จนทำให้บรรยากาศภายในเมืองแห่งอายรยธรรมแห่งนี้คึกคักสวนกระแสโควิด-19
- เปิดตำนานเด็กวัดเจดีย์
ตามตำนานที่เล่าขานต่อกันมา บ้างก็ว่า ‘ไอ้ไข่’ เป็นวิญญาณเด็กวัดที่ติดตาม ‘หลวงปู่ทวด’ พระเถระแห่งดินแดนศรีวิชัยเมื่อ 300 ปีก่อน ที่มาธุดงค์ยังวัดร้างเมืองคอน ซึ่งก็คือวัดเจดีย์ในปัจจุบัน ได้ให้วิญญาณเด็กแก่สหายนามว่า ‘ขรัวทอง’ เพื่อดูแลพื้นที่แห่งนี้ บ้างก็ว่าไอ้ไข่เป็นเด็กที่ตกน้ำตายในบริเวณนั้น จึงผูกพันกับวัด
ขณะที่อีกหนึ่งตำนานจากคนท้องถิ่น อาจารย์อาภาภิรัตน์ วัลลิโภดม นักมานุษยวิทยาถ่ายทอดให้ฟังว่า ชาวบ้านเห็นวิญญาณเด็กบริเวณนั้นวิ่งเข้าไปในพระพุทธรูปโบราณที่อยู่ภายในวัด ซึ่งเป็นที่รับรู้โดยทั่วกันของชาวบ้าน และไม่ได้มีพิษภัยแต่อย่างใด หนำซ้ำเมื่อคราวที่ชาวบ้านวัวควายหายแล้วมาบนบานก็ช่วยให้หาเจอได้ วิญญาณเด็กตนนั้นจึงกลายเป็นที่พึ่งประจำท้องถิ่น
ทว่าจากเหตุการณ์ราวปี 2525 โดยคนท้องถิ่นที่ชื่อว่า ผู้ใหญ่เที่ยง หรือ 'เที่ยงหักเหล็ก' ฝันเห็นเด็กคนนั้นมาบอกว่าไม่มีบ้าน จึงแกะสลักไม้รูปเด็กอายุราว 9-10 ขวบให้เป็นที่สิงสถิต และนำมาถวายวัดเจดีย์ ซึ่งในสมัยนั้นมีเจ้าอาวาสชื่อ ‘พ่อท่านเทิ่ม’ ซึ่งท่านเรียกชื่อไม้แกะสลักรูปเด็กนั้นว่า ‘ไอ้ไข่’ และได้ทำวัตถุมงคลอย่างเหรียญรูปไอ้ไข่รุ่นแรกออกมาในปี 2526 ซึ่งปัจจุบันราคาสูงถึงหลักแสนทีเดียว
“ประจวบกับช่วงเวลานั้นนครศรีธรรมราชเป็นพื้นที่สีชมพู หรือที่เรียกว่า คอมมิวนิสต์ มีทหารพรานคอยตรวจตราความปลอดภัยตลอด แต่เมื่อตกกลางคืนก็มีเรื่องเล่ากันว่าถูกผีเด็กดึงหัว จับขา รุ่งเช้ามาเล่าให้ชาวบ้านฟัง ชาวบ้านพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นฝีมือไอ้ไข่ และบอกให้ทหารบอกกล่าวไอ้ไข่สักหน่อย กินอาหารก็แบ่งเครื่องเซ่นให้ด้วย เมื่อทหารทำตามแล้วก็ไม่ถูกกวนอีก และได้แจกเหรียญไอ้ไข่ให้กับทหารเหล่านั้นด้วย นี่จึงเป็นจุดที่ทำให้เรื่องราวของไอ้ไข่กระจายออกไปสู่คนภายนอก”
- จาก‘จตุคามรามเทพ’ ถึง ‘ไอ้ไข่’ กุมารเทพ
แม้เรื่องราวของไอ้ไข่จะยังไม่สามารถสืบสาวหาต้นตอได้อย่างชัดเจน แต่เรื่องราวอิทธิฤทธิ์ของเด็กวัดเจดีย์กลับเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางและไม่ได้ลดน้อยถอยลงแม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป อะไรทำให้ความเชื่อยังคงทรงพลังในสังคมไทย นักมานุษยวิทยามีคำอธิบาย
“ความเชื่อมีอยู่ตลอดและมักจะตอบสิ่งที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถตอบได้ ความเชื่อที่มองไม่เห็นจะไปอุดช่องว่างทันที และตอบโจทย์การต้องพึ่งพิงทางด้านจิตใจของมนุษย์ เห็นได้ชัดเจนคือเรื่องการเจ็บป่วยที่ในบางครั้งมักหาสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้ ทางการแพทย์ก็ตอบได้ไม่ชัด หรือแม้แต่การที่เราพยายามพึ่งทุกทางเพื่อให้หายจากความเจ็บป่วยนั้น และเผอิญว่าไปสัมพันธ์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ”
อาจารย์อาภาภิรัตน์ บอกว่าความเชื่อความศรัทธามีอยู่ในทุกพื้นที่ของสังคมไทย ทว่าที่น่าสนใจคือ วัตถุมงคลชื่อดัง กระแสฟีเวอร์ต่างๆ มักเกิดขึ้นที่ 'นครศรีธรรมราช'
ที่น่าสนใจคือ วัตถุมงคลชื่อดัง กระแสฟีเวอร์ต่างๆ มักเกิดขึ้นที่ 'นครศรีธรรมราช'
ถ้ายังจำกันได้ เมื่อหลายปีก่อนก็มีกระแสศรัทธา ‘จตุคามรามเทพ’ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่นครศรีธรรมราชเช่นกัน เรื่องนี้นักมานุษยวิทยาคนเดิมวิเคราะห์เปรียบเทียบ โดยเริ่มต้นที่คำว่า ‘ไข่’ ซึ่งเป็นชื่อที่ชาวใต้มักใช้เรียกแทนเด็กชายเชิงเอ็นดูว่า ‘ไข่นุ้ย’
นอกจากนั้นยังมีอีกความหมายที่ซ่อนอยู่ นั่นคือชื่อ ‘ไอ้ไข่’ บังเอิญไปพ้องกับอาณาจักรตามพรลิงค์ (อาณาจักรโบราณที่มีศูนย์กลางอยู่บริเวณเมืองนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน) เพราะคำว่า ‘ตามพ’ แปลว่า ทองแดง หรือ สีแดง ส่วน ‘ลิงค์’ เป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์บอกเพศหรืออวัยวะเพศ
“ไอ้ไข่ก็เกิดมาจากอาณาจักรไข่แดง อีกทั้งยังเป็นดินแดนที่ช่วงศาสนาฮินดูเข้ามาจะมีวัตถุโบราณอันหนึ่งที่โดดเด่นมาก โดยเฉพาะในอำเภอสิชล ก็คือพวกศิวลึงค์ขนาดต่างๆ หรือจะเรียกว่าเป็น ดงไข่พระศิวะ ไอ้ไข่กับพื้นที่นี้จึงมีความเชื่อมโยงกัน” อาจารย์อาภาภิรัตน์ ตั้งข้อสังเกต
ยุคแห่งจตุคามรามเทพเริ่มต้นราวๆ ปี 2540 และโด่งดังขีดสุดในปี 2550 ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มีการประเมินมูลค่าเงินหมุนเวียนของจตุคามรามเทพในช่วงนั้น โดยมีมูลค่าสูงถึง 2.2 หมื่นล้านบาท ผลักดันจีดีพีของประเทศโตขึ้น 0.1-0.2 เปอร์เซ็นต์ ในภาวะเศรษฐกิจซบเซา
“ทั้งสองอย่างเกิดขึ้นที่นครศรีธรรมราชเหมือนๆ กัน แต่จตุคามฯเป็นกระแสที่ร้างราไปแล้ว เคยโด่งดังเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว หลังจากนั้นก็ค่อยดิ่งหายไป พอถึงจุดพีคมากๆ แล้ว ที่ไหนๆ ก็ปลุกเสกจตุคาม กลายเป็นว่าออกมาเป็นร้อยรุ่นพันรุ่น กระแสมันก็ยากขึ้นเรื่อยๆ อีกอย่างเรื่องการปลุกเสกพอคนทำเยอะ ก็ต้องหาจุดขาย และจุดขายก็เริ่มซับซ้อนพิศดารไปเรื่อยๆ”
หลังจากกระแสจตุคามรามเทพหายไปก็ไม่เคยมีวัตถุมงคลใดโด่งดังถึงขีดสุดเช่นนั้นอีก จนกระทั่ง พระครูพุทธเจติยาภิมณฑ์ หรือ 'อาจารย์แว่น' เจ้าอาวาสวัดเจดีย์ปัจจุบัน ได้หากุศโลบายให้คนมาทำบุญที่วัดจนกลายเป็นส่วนสำคัญในการปลุกปั้นกระแสไอ้ไข่ขึ้นมา
“ตอนนั้นวัดเจดีย์ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักสักเท่าไร ที่นี้ท่านแว่นเองก็อยากจะเชื้อเชิญให้มาทำบุญ จึงไปตกลงกับทางกรมทางให้เขียนป้ายติดตามทางหลวงว่า วัดเจดีย์ (ไอ้ไข่) เวลาคนมาเที่ยวขับรถผ่านไปมาเห็นจะสะดุดตา และต้องเอะใจกันบ้างว่า วัดนี้น่าจะเป็นวัดดังของที่นี่" อาจารย์อาภาภิรัตน์ เล่าถึงที่มา
และที่ทำให้ไอ้ไข่โด่งดังขึ้นมาเป็นเรื่องของการจัดการด้วย ว่ากันว่า มีเซียนพระจับมือกันถอดบทเรียนจากกระแสจตุคามรามเทพที่ซบเซาลงไป น่าจะมีการปลุกกระแสอะไรขึ้นมาใหม่ และไอ้ไข่ก็ค่อนข้างจะเข้าถึงง่าย ไม่ซับซ้อนเหมือนรูปลอยตัวของจตุคาม นอกจากเรื่องปาฏิหาริย์ต่างๆ แล้ว ไอ้ไข่ยังเป็น 'เด็กปั้น' ที่เกิดจากการร่วมมือของคนจัดการอยู่เบื้องหลัง”
- ‘ไอ้ไข่’ จากศรัทธาสู่สินค้าทางวัฒนธรรม
ปัจจุบันนอกจากจะปลุกกระแสการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นในจังหวัดนครศรีธรรมราชแล้ว ‘ไอ้ไข่’ ในรูปของวัตถุมงคลยังถูกนำไปประดิษฐานยังวัดต่างๆ ทั่วประเทศ รวมถึงวัดที่ใกล้กรุงเทพฯ มากขึ้น เช่น นนทบุรี ปทุมธานี ราชบุรี อ่างทอง ฯลฯ คล้ายเป็นแฟรนไชส์ของไอ้ไข่ที่ขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ได้เกิดจากการตกลงร่วมกันเพื่อนำไปสร้าง เนื่องจากไอ้ไข่วัดเจดีย์ได้ถูกจดลิขสิทธิ์ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา ประเภทศิลปกรรม ‘รูปหล่อบูชา ไอ้ไข้วัดเจดีย์’ เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2551 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังมีลิขสิทธิ์อีก 10 รายการที่ประกอบสร้างจากไอ้ไข่ด้วย
อาจารย์อาภาภิรัตน์ มองเรื่องการจดลิขสิทธิ์ว่า ถ้าตัด ‘ศาสนา’ และ ‘ความเชื่อ’ ออกไป นี่ก็เป็นเพียงธุรกิจรูปแบบหนึ่ง ที่ต้องการสร้างความยั่งยืนให้กับแหล่งที่เกิด สร้างความเป็นของแท้และดั้งเดิม ซึ่งถ้ามองในแง่ของความอยู่รอดก็ไม่ผิดเพราะวัดเองก็ต้องหารายได้ แล้วการหารายได้ของวัดก็สามารถช่วยทำให้ชาวบ้านมีรายได้ไปด้วย ทั้งยังช่วยธุรกิจที่อยู่บริเวณใกล้เคียง จึงต้องจัดการจดลิขสิทธิ์ว่า ถ้าดั้งเดิมของแท้ต้องมาจากวัดเจดีย์เท่านั้น
“ที่เราเป็นอยู่ตรงนี้ไม่ใช่ศาสนาพุทธแล้วล่ะ แต่เป็น ‘ศาสนาผี’ ที่เน้น survival การอยู่รอดในชีวิต คิดถึงปัจจุบันมากกว่าการสั่งสมบุญไปข้างนอก แต่ทั้งหมดเข้าใจได้ เพราะว่าเราจะไปต่อได้ยังไง ถ้าปากท้องเรายังไม่อิ่ม”
จากบทความวิชาการเรื่อง ‘พุทธ : ไสย ไอ้ไข่วัดเจดีย์กับกระบวนการกลายเป็นสินค้า’ โดย บุญยิ่ง ประทุม สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ที่อธิบายถึงตำนานของไอ้ไข่วัดเจดีย์และพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ การเข้ามาของการนับถือผีเชื่อมโยงกับบริบทเชิงพื้นที่ ผูกโยงกับความเชื่อและพิธีกรรม การแก้บน จนถึงกระบวนการกลายเป็นสมัยใหม่และการกลายเป็นสินค้า
เริ่มตั้งแต่กระบวนการสร้างพื้นที่ ความหมายที่เกี่ยวกับที่มาดั้งเดิม การสร้างตัวตนขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือชุมชนสังคมชาวบ้านในรอบพื้นที่ เช่น ตำนานการบนบานสานกล่าวเรื่องสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านหรือสิ่งของที่หายไป
เมื่อได้มาบนกับไอ้ไข่วัดเจดีย์ก็จะได้คืน กระทั่งการสร้างเหรียญเป็นรูปไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์รุ่นแรก และมีวัตถุมงคลอื่นๆ ออกมามากมาย ไม่ว่าจะป็นผ้ายันต์ รูปแกะสลัก รูปเหรียญ รูปหล่อชนิดต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดการผลิตซ้ำ การสร้างมูลค่า และคุณค่า จนกลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง
เชื่อมโยงกับการผลิตซ้ำพิธีกรรม ความเชื่อ หนึ่งในหัวข้องานวิจัย ‘วัดเจดีย์ไอ้ไข่ : การประกอบสร้างให้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ภายใต้วิกฤติทันสมัย โดย สิทธิพงษ์ บุญทอง สาขาวิชาพัฒนามนุษย์และสังคม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่อธิบายไว้ว่า เมื่อได้ในสิ่งที่เอ่ยปากขอแล้วก็ต้องมีการแก้บน ในปัจจุบันมีการจุดประทัดบ้าง นำรูปปั้นไก่ชนมาถวายบ้าง ชุดทหารและของเล่นต่างๆ และยังมีบริการแก้บนแทนเมื่อไม่สะดวกมาเองด้วย โดยราคาของประทัดแก้บนหลักๆ เริ่มต้นที่ 1,000 นัด 100 บาท ไปจนถึง 100,000 นัด 1,000 บาท ส่วนรูปปั้นไก่ชนหลากหลายขนาด ราคาตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงตัวละ 1.5 ล้านบาท ความสูง 11 เมตร ตั้งเด่นอยู่หน้าอุโบสถของวัด
ทว่าอาจารย์อาภาภิรัตน์ชวนตีความการแก้บนใหม่ เพื่อให้ไอ้ไข่มีอยู่อย่างยั่งยืน โดยทิ้งสิ่งที่เป็นรอยเท้าถาวรไว้ เอาความร่ำรวยตรงนี้ไปทุ่มกับสิ่งแวดล้อม เอาไปใส่กับธนาคารปู ธนาคารปลา การช่วยกันเก็บขยะในทะเล หรือสิ่งที่จะเป็นการตีความร่ำรวยที่ไม่ใช่การรวยคนเดียว แต่ให้กระจายความร่ำรวยออกไป และต้องเป็นองค์รวมด้วย
“นิเวศวิทยาและสภาพแวดล้อมต้องเป็นไม้บรรทัดในการกำหนดทุกอย่าง แม้กระทั่งนโยบายทางการเมือง และใช้ความเชื่อนี่แหละเป็นพลังในการขับเคลื่อนทั้งสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ” อาจารย์อาภารัตน์แสดงความเห็นเรื่องการแก้บนแบบนิวนอร์มอล
ปัจจุบันวัดเจดีย์มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก มีอุโบสถหลังใหญ่แทนเจดีย์เก่า ศาลาปฏิบัติธรรม สถานที่สำหรับจุดประทัดแก้บน มีพื้นที่สำหรับร้านค้ามากมาย ทั้งหมดเป็นผลจากผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามาตามความเชื่อความศรัทธาที่มีต่อไอ้ไข่ จนได้รับการยกย่องให้เป็น ‘เทพแห่งสามัญชน’ ขวัญใจคนตกทุกข์ได้ยาก