‘ระฆังดี…ไม่ตีก็ (ไม่) ดัง!’ ฟื้นธรรมเนียมตีระฆังฝรั่งฯ ด้วยเทคโนโลยี

‘ระฆังดี…ไม่ตีก็ (ไม่) ดัง!’ ฟื้นธรรมเนียมตีระฆังฝรั่งฯ ด้วยเทคโนโลยี

"ระฆังฝรั่ง" วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม พระอารามหลวงชั้นเอก และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 4 กลับมาดังกังวานส่งสัญญาณกิจสงฆ์อีกครั้ง หลังจากที่วิศวะ มจธ. ประดิษฐ์ชุดควบคุมการตีระฆังอัตโนมัติ

ข้อมูลจากหนังสือราชประดิษฐพิพิธทรรศนา ระบุว่า "ระฆัง" ที่ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาสั่งให้หล่อระฆังจากโรงหล่อ Whitechapel Bell Foundry กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นโรงหล่อที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1570 และยังคงดำรงอยู่จวบจนปัจจุบัน ผ่านบริษัท Colman Palmer & Company เพราะในขณะนั้น สหราชอาณาจักรหรืออังกฤษถือเป็นประเทศที่มีสัมพันธไมตรีต่อสยามมากที่สุดประเทศหนึ่ง

ระฆังดังกล่าวเป็นระฆังฝรั่ง 3 ใบ แขวนอยู่บนหอระฆังเรียงจาก ใบกลาง ใบใหญ่ และใบเล็ก ซึ่งระฆังฝรั่งใบใหญ่มีความพิเศษกว่าระฆังใบอื่น คือ ตอนกลางของระฆังมีจารึกพระปรมาภิไธยย่อ (พระนามย่อ) ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอักษรภาษาอังกฤษ ตัวพิมพ์ใหญ่ (capital letter) ว่า SPBPMM โดยทั่วไปแล้วมีอักษรเพียง 5 ตัว คือ S.P.P.M.M. ย่อจากพระปรมาภิไธยภาษาอังกฤษ คือ Somdetch Phra Paramendr Maha Mongkut ซึ่งระฆังใบนี้มีอักษร B เพิ่มมา 1 ตัว ใต้พระปรมาภิไธยย่อบนระฆังระบุตัวเลข ค.ศ.1861 ล้อมรอบด้วยดาวหกแฉกหลายดวง ตรงกับ พ.ศ. 2404 หรือ 3 ปีก่อนการสถาปนาวัด บริเวณปากระฆังมีข้อความว่า FOUNDERS LONDON เป็นข้อความที่ระบุถึงการผลิตที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร แสดงให้เห็นว่า ได้ทรงเตรียมการเกี่ยวกับหอระฆังของวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามเป็นอย่างดีมาก่อนที่จะตั้งพระอารามแห่งนี้ และต้องการให้เป็นของดีสำหรับวัด

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ระฆังใบใหญ่ได้แตกร้าวไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ จึงทรงพระราชทาน “ระฆังฝรั่งเรือรบสามใบเถา” เปลี่ยนถวายเพื่อใช้ตีบอกเวลาประกอบกิจของสงฆ์ตามระเบียบของพระอารามต่อไป เป็นการสืบสานพระราชปณิธานในการอุปถัมภ์พระอารามต่อจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นเครื่องแสดงถึงพระราชศรัทธาในการทำนุบำรุงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ตราบนาน

159894753654

ภายหลังจากการใช้งานมายาวนาน “ระฆังฝรั่งเรือรบสามใบเถา” ได้แตกร้าวจนใช้งานไม่ได้ตามปกติ จึงตีเฉพาะในวันสำคัญทางศาสนาเท่านั้น และเปลี่ยนมาใช้การสั่นกระดิ่งเป็นการบอกเวลาประกอบกิจสงฆ์แทนในวันธรรมดา

“ประมาณ 6 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้รับแจ้งจากทางวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามว่า ทางวัดมีความประสงค์ที่จะจัดสร้างระฆังใบใหม่เพื่อทดแทนใบเดิมที่เกิดการแตกร้าว โดยประสานขอความอนุเคราะห์ให้ทางมหาวิทยาลัยฯ ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลของระฆังใบเก่า เพื่อนำไปใช้ประกอบในการจัดสร้างระฆังใบใหม่ให้เหมือนต้นแบบมากที่สุด ซึ่งในครั้งนั้นทางทีมงาน มจธ. นำทีมโดย รศ.ดร.เชาวลิต ลิ้มมณีวิจิตร ได้ประสานงานนำเครื่องวิเคราะห์ส่วนผสมทางเคมีของโลหะเข้าทำการทดสอบส่วนผสมทางเคมีจากระฆังใบเดิมซึ่งเป็นระฆังพระราชทาน” ดร.ศุภฤกษ์ บุญเทียร และ ดร.ก้องเกียรติ ปุภรัตนพงษ์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เล่าถึงที่มาก่อนที่ทางมหาวิทยาลัยจะได้ประดิษฐ์เครื่องควบคุมการตีระฆังอัตโนมัติ

การวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของระฆัง โดยใช้เครื่องวิเคราะห์ส่วนผสมทางเคมีของโลหะแบบเคลื่อนที่ พบว่าระฆังมีส่วนผสมของทองแดงและดีบุก โดยมีดีบุกประมาณ 18-20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งฝรั่งเรียกว่า “bell metal” ส่วนผสมดังกล่าวจะทำให้ได้ระฆังที่มีเสียงที่ไพเราะกังวานมากกว่าโลหะอื่น ถ้าเป็นระฆังที่ผลิตจากทองเหลืองธรรมดาทั่วไป เวลาเคาะเสียงจะไม่หวาน ไม่กังวาน ไม่ดังไกลเหมือนส่วนผสมของโลหะชนิดนี้

หลังจากทางวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับส่วนผสมทางเคมีของระฆังแล้ว จึงก็ได้ประสานไปที่กรมสรรพาวุธทหารบก เกี่ยวกับโรงหล่อระฆังที่อังกฤษ ซึ่งทางกรมสรรพาวุธมีข้อมูลติดต่อกับโรงหล่อโลหะเหล่านี้ จึงทำให้ทราบว่า ยังมีโรงหล่อระฆังเก่าแก่ที่ยังเปิดอยู่ 2 โรงงาน น่าจะอยู่ในช่วงเดียวกับระฆังของวัดที่สั่งหล่อขึ้น จนนำไปสู่การหล่อระฆังของวัดในปัจจุบัน ประกอบด้วย ระฆังใบเล็ก ใบกลาง และใบใหญ่ พร้อมชุดคอนโทรลอิเล็กทรอนิกส์ และมีค้อนไฟฟ้าที่เป็นตัวตีระฆังมาด้วย

159894746988

“ทางโรงงานแจ้งว่า ปัจจุบันมีเทคโนโลยีกลไกอัตโนมัติที่ควบคุมด้วยระบบไฟฟ้าเป็นตัวตีแทนกำลังคน ทำให้น้ำหนักการตีเป็นระดับเดียวกัน ซึ่งแพร่หลายในยุโรป” พระครูอุทิจยานุสาสน์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามกล่าว

หลังจากติดตั้งเสร็จก็ทดสอบตีระฆังด้วยระบบอัตโนมัติ แต่ปรากฏว่าพบปัญหาเรื่องจังหวะการตีระฆัง ที่ไม่ได้เป็นทำนองโบราณแบบไทย แต่จังหวะการตีมีลักษณะแบบระฆังฝรั่ง ทีมงานจึงพยายามติดต่อไปทางโรงงานผู้ผลิตเพื่อให้แก้ไข แต่ปรากฏว่าโรงหล่อได้ขายทอดกิจการไปแล้ว ทำให้ทางมหาวิทยาลัยต้องประดิษฐ์ชุดควบคุมระบบตีระฆังขึ้นมาใหม่ ด้วยโจทย์ที่ทางวัดให้มา คือ การฟื้นธรรมเนียมการตีระฆังฝรั่งสามใบเถาจะเป็นการตีระฆัง สี่ช่วงเวลา คือ เช้า สาย เย็น ค่ำ ในวันธรรมดา และ เพิ่มเป็นบ่าย ในวันพระปกติ วันพระใหญ่และวันสำคัญทางพุทธศาสนา

สำหรับหลักการทำงานของระบบควบคุม เมื่อกดปุ่มที่ต้องการแล้วพอถึงเวลาระบบจะสั่งจ่ายกระแสไฟเข้าไปที่จานแม่เหล็กไฟฟ้า ตัวค้อนจะถูกดึงเข้าหาจานแม่เหล็กไฟฟ้าพร้อมกับเคาะที่ตัวระฆัง จากนั้นสปริงจะทำหน้าที่ดึงค้อนกลับห่างออกจากจานแม่เหล็กไฟฟ้า พอจ่ายไฟอีกทีค้อนก็จะถูกดูดมาเคาะที่ระฆังอีกครั้ง ที่สำคัญจังหวะการเคาะที่ควบคุมด้วยระบบอัตโนมัตินี้ จะช่วยทำให้ตัวระฆังมีอายุการใช้งานได้นานขึ้น

“อย่างไรก็ตาม แม้เราไม่สามารถเซ็ตระบบตลอดทั้งปีได้ เนื่องจากปฏิทินวันพระมีการเปลี่ยนแปลงทุกปี เพราะฉะนั้นหากวันใดตรงกับวันพระทางวัดเพียงแค่กดปุ่มสำหรับวันพระไว้ก่อนเวลาตีระฆังปกติในตอนเช้าและกดปุ่มวันธรรมดาในเช้าวันถัดไป ซึ่งผลทดสอบระบบในช่วงที่ผ่านมาประมาณเดือนกว่า ทั้งในวันพระใหญ่ พระเล็ก เป็นไปด้วยความเรียบร้อย” ดร.ศุภฤกษ์ กล่าว