บัณฑิตว่างงาน 4 แสน “โจทย์ใหญ่” ที่ต้องแก้
มหาวิทยาลัยหลายแห่งผลิตคนไม่ตอบโจทย์กับตลาดแรงงานยุคใหม่ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก เห็นได้จากจำนวนของคนว่างงานที่สูงเกือบ 4 แสนคน
ขณะเดียวกันพฤติกรรมของการเรียนส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนไปจากอดีต คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่เลิกยึดติดกับวุฒิการศึกษาจากสถาบันมีชื่อ เพราะเห็นแล้วว่าการเรียนรู้หรือความรู้ที่นำไปใช้งานจริง ไม่จำเป็นต้องมาสถาบันการศึกษา ความรู้หลายเรื่องสามารถแสวงหาได้รอบตัว อย่างไม่จำกัดเวลาสถานที่ จึงหันไปเรียนหลักสูตรที่จบง่าย พึ่งพาการเรียนรู้จากโลกออนไลน์มากขึ้น เพราะตรงกับความต้องการ
ตัวเลขสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้สรุปผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนกันยายน 2562 พบว่า จำนวนผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป 56.64 ล้านคน เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมจะทำงาน 37.72 ล้านคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงาน หรือผู้ที่ไม่พร้อมทำงานมีจำนวน 18.92 ล้านคน โดยผู้ที่พร้อมทำงาน ประกอบด้วยผู้ที่มีงานทำ 37.21 ล้านคนผู้ว่างงาน 3.85 แสนคนผู้ที่รอฤดูกาล 1.2 แสนคน
เมื่อพิจารณาอัตราการว่างงานตามกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่มวัยเยาวชนหรือผู้มีอายุ 15-24 ปี มีอัตราการว่างงาน 6.5% ซึ่งปกติในกลุ่มนี้ อัตราการว่างงานจะสูง ส่วนกลุ่มวัยผู้ใหญ่ อายุ 25 ปีขึ้นไป มีอัตราการว่างงาน 0.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 กลุ่มเยาวชนมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจาก 5.1 %เป็น 6.5%
หากจำแนกตามระดับการศึกษาที่สำเร็จ พบว่าระดับอุดมศึกษา ว่างงานสูงถึง 1.73 แสนคนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า ว่างงาน 8.4 หมื่นคนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ว่างงาน 7.7 หมื่นคนระดับประถมศึกษา ว่างงาน 4.2 หมื่นคนไม่มีการศึกษาหรือต่ำกว่าประถมศึกษา ว่างงาน 9.0 พันคน
Sensorization of Thingsทุกสิ่งวัดได้
สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ยุคแรกของ AI เป็นคอมพิวเตอร์อย่างง่ายๆ ต้องสอนด้วย Big Data Set คือ มี input และ output แต่ยุคนี้เกิดมาเป็น Superprofessor และวันนี้เข้าสู่ยุค Sensorization of Things คือทุกสิ่งอย่างวัดได้หมด ไม่ว่าจะเป็น ตา หน้า เสียง การสัมผัส ท่วงท่าการเดิน และสมองทุกอย่างบันทึกได้และสามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้แทนคนได้หมดแล้ว
ก่อนหน้านี้ เด็กทั่วโลกอยากเป็นที่สุด ไปทำงานที่สิงคโปร์สามารถมีเงินเดือนเป็นล้าน โบนัสเป็นล้าน แต่ตอนนี้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (AI artificial intelligence) สามารถมาทำงานแทนที่คนได้ อาชีพนักกฎหมาย เป็นอาชีพสุดยอดของคนอเมริกา ค่าจ้างแพงสุดๆ วันนี้มีบางบริษัทลดค่าจ้างนักกฎหมาย โดยใช้ AI มาแทนที่เพราะ สามารถจำรัฐธรรมนูญได้ทุกฉบับทั่วโลก และสามารถเขียนได้หลากหลายภาษา
“วันนี้เด็กยุคใหม่ พวกเขาสามารถเรียนออนไลน์ได้จากศาสตราจารย์ที่ได้รับรางวัลระดับโลกจาก มหาวิทยาลัยชื่อดังระดับโลกขณะเดียวกันคนรับสื่อยุคใหม่ไม่ได้สนใจว่าเรียนในมหาวิทยาลัย คณะสาขาที่ดังขนาดไหน รู้สึกไม่ตอบโจทย์ เด็กวิศวะเกินครึ่งไปทำอย่างอื่น เช่น ไปปลูกผักขายออนไลน์ เด็กสถาปัตย์ไปทำร้านกาแฟ ขายขนมรวย เด็กจบพาณิชย์และบัญชี ไปทำเสื้อผ้าขายออนไลน์ รวย หรือถ้าไปกดค้นหาคนที่รวยที่สุดในโลก 100 คนเช่น มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก บิลเกต ทุกวันนี้คงไม่ต้องการปริญญา โลกไม่ได้ยึดติดเดิมๆ เรียน MASTERCLASS เรียนกับมือหนึ่งของโลกในแต่ละด้าน และมีทุกวิชา ทุกสาขาเพียงจ่ายเงิน 5,000 บาทในยุคดิสรัปชั่น”สุชัชวีร์ กล่าว
วิธีการเอาตัวรอดในยุคดิสรัปชั่น อย่าง แชมป์โลกทางด้านการศึกษา MIT ได้มีการปรับเปลี่ยน ตอนนี้หน้าเว็บของ MIT มีข้อสอบ มีเฉลย มีคลิปวิดีโอให้ดูฟรี และ 2 คู่แข่งตลอดกาลอย่าง Harvard และMIT ซึ่งแข่งกันมาเป็น 100 ปี วันนี้จับมือลงทุนหลายล้านบาท ตั้งแพลตฟอร์ม edx.org ให้คน 1 พันล้านคน มาเรียนฟรี ฉะนั้นทุกองค์กร สถาบันการศึกษาจะต้องปรับตัวให้เร็วที่สุด
AI ดาวเด่นดิจิทัลไทยปี63
สถาบันไอเอ็มซีเปิดเผยแนวโน้มด้านดิจิทัลที่น่าสนใจในประเทศไทยปี 2563 ว่าองค์กรไทยจะตื่นตัวอย่างมากที่จะนำปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) มาปรับใช้ในหลายมิติ, มีการดำเนินการใช้บิ๊กดาต้าอย่างเป็นรูปธรรม, มีการประมูลคลื่นความถี่พร้อมทั้งตื่นตัวและทดลองใช้เทคโนโลยี 5จี, บล็อกเชนจะมีการเริ่มต้นใช้งานจริงมากกว่าเรื่องของเงินดิจิทัล
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 113 รายซึ่งประกอบด้วยองค์กรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ราชการ รัฐวิสาหกิจ และโรงงานอุตสาหกรรมพบว่า ปี 2562 ธุรกิจองค์กรในประเทศไทยเริ่มใช้เอไอมากขึ้น โดยเฉพาะระบบแชทบอท และอาร์พีเอ(Robot Process Automation)
ไอเอ็มซีพบด้วยว่า เมื่อองค์กรต้องการลงทุนด้านเอไอกูเกิลคลาวด์เป็นระบบคลาวด์ที่จะถูกนำมาใช้งานมากที่สุด 64.29% รองลงมาจะเป็นคลาวด์มาตรฐานเปิดหรือโอเพ่นซอร์ท 48.21% ไมโครซอฟท์อาชัวร์ 41.07% และอะเมซอนเว็บเซอร์วิส 38.39%
องค์กรไทยเกือบครึ่งหนึ่ง หรือราว 49.11% มีความรู้ความเข้าใจเอไอในระดับเริ่มต้น ขณะที่ 30.36% มีความรู้ความเข้าใจเอไอในระดับพอใช้ ที่เข้าใจอย่างดีมีเพียง 11.60% องค์กรที่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเอไอเลยมีอยู่ประมาณ 8.93%
ขณะที่ 74.11% ของกลุ่มตัวอย่างยอมรับว่าเอไอจะมีผลกระทบทำให้อุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยมีเพียง 16.07% เท่านั้นที่คิดว่ามีผลเพียงเล็กน้อย ส่วนที่เหลือตอบว่าไม่แน่ใจหรือคิดว่าไม่น่าจะเปลี่ยนแปลง
แนวโน้มการดำเนินการด้านเอไอขององค์กรไทย ส่วนใหญ่เป็นการจ้างบุคคลภายนอก(outsource) ราว 40.18% รองลงมาเป็นการดำเนินการเองในบริษัท(in house) 32.14% ขณะที่ 17.86% ของกลุ่มตัวอย่างใช้วิธีจัดหาซอฟต์แวร์สำเร็จรูป
มีองค์กรเพียง 10.7% เท่านั้นที่ใช้งานเอไอแล้ว ขณะที่อีก 25.9% ระบุว่ากำลังอยู่ในแผนดำเนินการ และ 39.29% กำลังดำเนินการศึกษา โดยหากมีการนำเอไอไปประยุกต์ใช้ในองค์กร ราว 60.71% จะเลือกทำแชทบอท ตามมาด้วยระบบอัตโนมัติอาร์พีเอ 49.11% รองลงมาเป็นระบบแบ่งกลุ่มลูกค้า ระบบจดจำใบหน้า ระบบป้องกันการล่อลวง ระบบบริหารทรัพยากรบุคคล และระบบอื่นๆ
ในภาพรวมการสำรวจชี้ว่า ผู้บริหารระดับสูงในองค์กรไทย 50% เห็นความสำคัญของการนำเอไอมาประยุกต์ใช้เป็นพิเศษ ขณะที่ 35.1% ตอบว่าสำคัญปานกลาง และ 14.29% ยังไม่ให้ความสำคัญและยังไม่มีการกล่าวถึงเอไอในองค์กร
ยุคใหม่ทำงานข้ามศาสตร์
“แสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์” ผู้ร่วมก่อตั้ง และหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการ จ๊อบไทย ระบุว่า พฤติกรรมของผู้ประกอบการในความต้องการรับคนเข้าทำงานในยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต องค์กรต่างๆ เริ่มปรับตัว บางสายไม่เน้นไปที่ผู้จบการศึกษาจากศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งโดยตรงอีกต่อไป
“เทคโนโลยียุคใหม่เปิดโอกาสให้สามารถทำงานข้ามศาสตร์ได้มากขึ้น จึงหมายความว่าความรู้เฉพาะในห้องเรียนอาจจะไม่เพียงพอสำหรับการทำงานยุคปัจจุบัน ต้องมีการอัพเดทความรู้เรื่องเทคโนโลยีตลอดเวลา ขณะเดียวกันหลายคนก็ใช้ศักยภาพที่มีทำงานอิสระ หรืองานฟรีแลนซ์มากขึ้น เพราะมองว่างานฟรีแลนซ์นั้นตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของตัวเองได้มากกว่า”แสงเดือน กล่าว
จ๊อบไทย เคยสำรวจพบว่าคนรุ่นใหม่ไม่ต้องการทำงานประจำ และบางส่วนเลือกงาน ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนคนที่ทำงานฟรีแลนซ์จากการเก็บตัวเลขของจ๊อบไทย มีอัตราอยู่ 4.36% เมื่อเทียบกับคนทำงานประจำ แบ่งสัดส่วนเป็นกลุ่มคน Gen X (คนที่มีอายุ 43 ปีขึ้นไป) = 6.62% จากคนที่สนใจทำงานฟรีแลนซ์ทั้งหมด Gen Y (คนที่มีอายุ 25-42 ปี) = 78.65% จากคนที่สนใจทำงานฟรีแลนซ์ทั้งหมด และ Gen Z (คนที่มีอายุไม่เกิน 24 ปี) = 14.74% จากคนที่สนใจทำงานฟรีแลนซ์ทั้งหมด โดยแนวโน้มความสนใจงานอิสระยังคงเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มีโอกาสที่จะกลับเข้าทำงานประจำ หากมีปัจจัยที่สนองตอบความต้องการดีพอ
ปัจจจุบันสถานประกอบการบางแห่งเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่เข้าค่ายกิจกรรม เปิดเวิร์กช็อปเก็บตัวให้มาอยู่ร่วมกัน ให้โจทย์ในการทำงาน นำเสนอรูปแบบธุรกิจจำลอง เพื่อสังเกตทัศนคติ ความคิด ตัวตนของแต่ละคนว่ามีคุณสมบัติตรงตามความต้องการหรือไม่ เพื่อคัดเลือกเข้าทำงาน
จุฬาฯเปิดหลักสูตรออนไลน์แห่งแรก
ศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทบางกอก อินโนเวชั่น เฮ้าส์ จำกัด (BIH) เปิดตัวโครงการนำร่อง “Upskilling / Reskilling Industrial Workforce for Thailand 4.0 : Data Science Pathway by Western Digital and CHULA MOOC Achieve” เป็นการเรียนรู้แบบผสมผสานบนแพลตฟอร์มการเรียนรู้แบบออนไลน์ ใน 5 สายงาน ได้แก่ การบริหารจัดการ (Management) วิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT/Data/Technology) ภาษา (Languages) ศิลปะและการพัฒนาตนเอง (Art&Self Development) วิทยาศาสตร์สุขภาพ (Health Science)
เนื้อหากระชับ เข้าใจง่าย เข้าถึง ได้ทุกที่ทุกเวลา พร้อมกับการฝึกปฏิบัติและการทดสอบ รวมถึงกิจกรรมเสริมหลักสูตรอื่นๆ เมื่อเรียนจบชุดวิชา (Pathway) ผู้เรียนที่สอบผ่านเกณฑ์ภายในระยะเวลาที่กำหนด จะได้รับใบประกาศนียบัตรจากโครงการ CHULA MOOC Achieve
ทุ่ม8.6พันล้านช่วยบัณฑิตตกงาน
จากการสำรวจพบว่ามีบัณฑิตที่ตกงานมากถึง 370,000 คน และในเดือน มี.ค.2563 หรือในอีก 4 เดือนข้างหน้า จะมีบัณฑิตกำลังจะจบจากมหาวิทยาลัยอีก 3 แสนคน ซึ่ง 50 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าจะตกงาน ทำให้มีบัณฑิตกำลังจะตกงานรวมกว่า 5 แสนคน รัฐบาลจึงมอบให้ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดทำโครงการ ใช้งบประมาณ 8,600 ล้านบาท
โครงการยุวชนสร้างชาติ จะรับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยและบัณฑิตจบใหม่ จำนวนกว่า 50,000 คน ลงไปพัฒนาพื้นที่ในชุมชนร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ ระยะเวลา 12 เดือน ได้เงินเดือน 10,000-15,000 บาท สมัครได้ที่มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ
โครงการบัณฑิตอาสา รับนักศึกษาที่จบมหาวิทยาลัยไปทำงานพัฒนาชนบท โครงการที่สองคือโครงการอาสาประชารัฐ งบประมาณ 500 ล้านบาท ให้นักศึกษาปี 3-4 จำนวน 10,000 คน ทำงาน 4-5 เดือนหรือ 1 ภาคเรียน ร่วมกับชาวบ้านและสามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้ทั้งหมดมีค่าเบี้ยเลี้ยงให้คนละ 5 พันบาท
สุดท้ายโครงการกองทุนยุววิสาหกิจเริ่มต้น งบประมาณ 100 ล้านบาท ให้นิสิตนักศึกษาร่วมกับบุคลากรมหาวิทยาลัย ระยะเวลา 3-5 ปี พัฒนาผลิตภัณฑ์ จัดตั้งสตาร์ทอัพ พัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ให้เกิดเป็นนวัตกรรมทางธุรกิจ นวัตกรรมสังคมและนวัตกรรมสร้างสรรค์
จะช่วยลดจำนวนบัณฑิตตกงานได้ประมาณร้อยละ 10 โดยจะเริ่มโครงการอาสาประชารัฐก่อนในเดือน ธ.ค.นำร่องในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 จังหวัดที่ยากจนที่สุดของประเทศ เชื่อว่า จะช่วยพัฒนาชุมชนในมิติต่างๆและก่อให้เกิดอาชีพใหม่ด้วย