“โลกทั้งผองเป็นพี่น้องกัน” ว.วชิรเมธี ผู้อุปถัมภ์ UNHCR ด้านสันติภาพและเมตตาธรรม

“โลกทั้งผองเป็นพี่น้องกัน” ว.วชิรเมธี ผู้อุปถัมภ์ UNHCR ด้านสันติภาพและเมตตาธรรม

แนวคิดไร้พรมแดนของท่านว. วชิรเมธี ที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย นำไปสู่การถวายตำแหน่ง ผู้อุปถัมภ์ UNHCR ด้านสันติภาพและเมตตาธรรม เป็นครั้งแรกในโลก

เมื่อแรกที่พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ทราบว่าสํานักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้ถวายตำแหน่งผู้อุปถัมภ์ UNHCR (UNHCR Patron) ด้านสันติภาพและเมตตาธรรม ซึ่งส่งเสริมการอยู่ร่วมกันโดยสันติระหว่างผู้ลี้ภัยและชุมชนนานาชาตินั้น พระนักคิด นักเขียน และนักพัฒนาสังคมถามกลับไปว่า “แน่ใจหรือ อาตมายังไม่ได้ทำอะไรเลยนะ” ทาง UNHCR ก็ตอบกลับมาว่า ที่ท่านทำอยู่ที่ผ่านมาก็ถือว่าเป็นประโยชน์มากแล้ว

ท่าน ว.วชิรเมธี กล่าวในพิธีถวายตำแหน่งผู้อุปถัมภ์ UNHCR (UNHCR Patron) ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศไทยเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 นับเป็นครั้งแรกของโลกที่ UNHCR แต่งตั้งตำแหน่งผู้อุปถัมภ์ เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณ และเชิดชูความทุ่มเทในการสร้างการรับรู้ และความเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตของผู้ลี้ภัยทั่วโลก โดยครั้งนี้มี เจ้าหญิงซาร่า ซิด จากประเทศจอร์แดน ได้รับการถวายตำแหน่งผู้อุปถัมภ์ ด้านการส่งเสริมสุขภาพของแม่และทารกแรกเกิด ด้วยความทุ่มเทในการทำงานเพื่ออุทิศตนในการให้ความช่วยเหลือแม่และเด็กที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เปราะบางด้วยเช่นกัน ซึ่งเคลลี่ เคลเมนตส์ รองข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ได้มอบประกาศนียบัตรแด่ผู้อุปถัมภ์ทั้งสองในพิธีอย่างเป็นทางการ ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

(1)

ปาฐกถาของท่านว. วชิรเมธีในพิธีถวายตำแหน่งฯ นั้น ได้ตอบคำถามที่อยู่ในใจใครหลายคน ตั้งแต่ทำไมเราต้องช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ไปจนถึงเราจะช่วยให้มีสันติภาพในโลกได้อย่างไร

ท่าน ว.วชิรเมธีเริ่มทำงานร่วมกับ UNHCR มาตั้งแต่ปี 2559 กับแคมเปญ “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างนอก” (Nobody Left Outside) เพื่อเสริมสร้างการรับรู้ และระดมทุน แก่ผู้ลี้ภัยที่ขาดแคลนที่พักอาศัยจำนวน 2 ล้านคนทั่วโลก อาทิ จอร์แดน เลบานอน รวันดา และชาด ท่าน ว.วชิรเมธี ในฐานะผู้อุปถัมภ์ UNHCR ด้านสันติภาพ และเมตตาธรรม ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันโดยสันติระหว่างผู้ลี้ภัย และชุมชนนานาชาติ

โศกนาฏกรรมของโลก

เวลานี้ โลกของเรามีผู้ลี้ภัยถึง 68.5 ล้านคน เฉลี่ยทุกๆ 2 วินาทีจะมีผู้ลี้ภัยเพิ่มขึ้นในโลก 1 คน สถิตินี้ทำให้ท่านว.วชิรเมธีตั้งใจช่วยเหลืองานนี้เต็มที่ “เพราะงานนี้คืองานแห่งมนุษยธรรม

ถามท่านว่าเกิดอะไรขึ้นกับยุคสมัยเรา จึงมีผู้ลี้ภัยมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ท่านคิดว่า “เป็นปัญหาตกค้างจากศตวรรษเก่า ความขัดแย้งต่างๆ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น หลายอย่างมีอายุยาวนานเป็นร้อยปี อีกอย่าง เมื่อเราเดินทางเข้าสู่ศตวรรษใหม่ โลกของเราก็ยังเผชิญความขัดแย้งอีกมากมาย ทางการเมืองบ้าง เศรษฐกิจบ้าง ความเกลียดชังระหว่างชาติพันธุ์บ้าง เมื่อความขัดแย้งคงอยู่ ทางแก้ไม่ใช่ง่าย แก้ด้วยงานอีเวนท์ไม่ได้ แต่ต้องแก้ด้วยการลงลึกกับมัน ศึกษาอย่างลึกซึ้ง หาวิธีแก้ไขอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ฉะนั้น โลกต้องการความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ถึงจะออกจากวิกฤตินี้ได้”

(5)

งานการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยจึงเป็นสิ่งสำคัญ “เพราะการจะทำงานอะไรก็ตาม สิ่งแรกที่ต้องทำคือรู้ว่าสิ่งนี้คืออะไร ใครคือผู้ลี้ภัย ผู้ลี้ภัยเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วเราจะแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยได้อย่างไร ต้องจับประเด็นให้ชัด เราจะรู้ว่าเราจะก้าวไปข้างหน้าไปได้อย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้่นคือสังคมยังไม่รู้ แยกไม่ออกว่าใครคือผู้ลี้ภัย ใครคือคนไร้สัญชาติ ใครคือผู้พำนักอาศัยในประเทศเราชั่วคราว เรายังไม่รู้เลยว่าสิทธิของผู้ลี้ภัยมีอะไรบ้าง ความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยมีน้อยมาก การแก้ปัญหาจึงยังไม่น่าพอใจ เราต้องปรับให้เข้าใจอย่างถูกต้องทั้งสถานภาพ สถานการณ์ และคุณภาพชีวิต”

จะช่วยผู้ลี้ภัยไปทำไม

ไม่เพียงแค่คิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวแล้ว บางคนยังมาถามท่าน ว. อีกว่า “ช่วยคนไทยดีแล้วหรือ จึงจะไปช่วยผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา” ท่านจึงตอบว่า

“ผู้ลี้ภัยที่อาตมากำลังไปช่วย ไปเยี่ยมค่าย สำหรับอาตมาแล้ว ไม่เคยมองผู้ลี้ภัยว่าเป็นคนชาติไทย หรือชาติใด ๆ แต่เราทุกคนเป็นคนชาติเดียวกัน นั่นคือเป็นมนุษยชาติเหมือนกัน และนี่คือวิธีคิดแบบ ‘โลกทั้งผองเป็นพี่น้องกัน’ ”

(6)

ท่านย้ำว่า ปัญหาหนึ่งที่สถานภาพและคุณภาพชีวิตของผู้ลี้ภัยในเวทีโลกยังไม่ดีขึ้นอย่างที่ควรเป็น เพราะคนส่วนใหญ่ยังมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องต่อผู้ลี้ภัย “เราต้องเร่งสร้างความรู้ว่าผู้ลี้ภัยไม่ใช่บุคคลอันตราย แต่คือคนที่ควรแก่ความเห็นอกเห็นใจ ผู้ลี้ภัยคือขุมพลังในการสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงโลก นี่ไม่ใช่ตรรกะที่เลื่อนลอย”

ท่านเล่าว่าครั้งหนึ่งที่ไปประชุมที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยที่เจนีวา ท่านได้เห็นภาพบุคคลสำคัญของโลกคนหนึ่ง ภาพของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ใต้ภาพเขียนมีว่า ‘Einstein was a refugee – ไอน์สไตน์ก็เคยเป็นผู้ลี้ภัย’

ทำให้ท่านตระหนักว่าศักยภาพที่แท้จริงของผู้ลี้ภัยคือการเป็นมันสมองของโลก บนเรือกลางมหาสมุทร ในขบวนคาราวานของผู้ลี้ภัยมีอัจฉริยภาพด้านต่างๆ ของโลกซ่อนอยู่ เพียงแต่เขาถูกเหตุปัจจัยเรื่องความรุนแรงบีบให้ต้องพลัดจากประเทศของตน หากโลกปิดประตูใส่พวกเขา อัจฉริยภาพเหล่านั้นจะส่องแสงมาสร้างสรรค์แก่โลกได้อย่างไร

รักไร้พรมแดน

นอกจากงานสร้างความเข้าใจต่อผู้ลี้ภัยแล้ว ท่านว. วชิรเมธี ยังลงพื้นที่ไปเยี่ยมผู้ลี้ภัยในค่าย และทำงานสร้างเครือข่ายคนทำงานด้านมนุษยธรรม

การไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยทั้งในไทย 2 ครั้ง และในมาเลเซีย 1 ครั้ง ท่านเหมือนไปเป็นผู้ให้ก็จริง แต่ทุกครั้งท่านรู้สึกได้รับมากกว่า

“การไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยนั้นได้ฟังเรื่องราวสะเทือนใจมากมาย บางเรื่องแทบกลั้นน้ำตาไม่อยู่ ที่พี่น้องชาวโรฮิงญาเล่าให้ฟัง เขาว่า ชีวิตเต็มไปด้วยความยากลำบาก ใครว่าชีวิตเป็นเรื่องง่าย เขาขอเถียง เขาถูกทำทารุณตลอดเส้นทาง จนขึ้นฝั่งก็ยังถูกนำไปขายแรงงาน ร้องไห้จนไม่มีน้ำตา แทบหมดศรัทธาในความเป็นมนุษย์ อาตมาถามว่า ทารุณกรรมทั้งหมด ใครทำกับคุณ เขาบอก ก็คนอย่างเรานี่แหละ อาตมาถามต่อว่า แล้วคุณรอดมาได้ยังไง เขาตอบว่า ก็คนอย่างเรานี่แหละ

(3)

"อาตมาภาพจึงบอกเขาว่า ฉะนั้น อย่าเพิ่งหมดศรัทธาในมนุษยชาติ จงอยู่อย่างมีความหวัง ไม่ว่าชีวิตจะเจออะไรสาหัสแค่ไหน จงอย่าหมดศรัทธาในมนุษย์ อย่าหมดหวังในชีวิต”

ส่วนงานสร้างเครือข่าย ปีที่แล้วท่านได้จัดการประชุมความร่วมมือคนทำงานด้านมนุษยธรรม ระดับเอเชียเป็นครั้งแรกของโลก ที่เชียงราย และมีแผนว่าจะจัดการประชุมสันติภาพโลกขึ้นในไทย ซึ่งจะเป็นงานที่รวมผู้นำทางศาสนาต่างๆ มาทำงานบนพื้นฐานเพื่อมนุษยธรรมร่วมกัน แต่เสียดายที่ผู้ร่วมงานสำคัญ ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ ล่วงลับไปเสียก่อน ปีนี้จึงยังไม่เกิดขึ้น

(22)

“แต่อาตมาก็จะเดินหน้าต่อไป การเดินทางไปเยือนนครเจนีวาที่ผ่านมา ได้คุยกับผู้บริหารของ UNHCR ยินดีมากที่ปีหน้าจะมีงานถักทอเครือข่ายคนทำงานด้านมนุษยธรรมระดับโลกเกิดขึ้นที่เจนีวา งานนี้ไม่ได้เชิญเฉพาะผู้นำทางศาสนา แต่เชิญผู้นำประเทศ ผู้นำการเมือง ผู้ทรงอิทธิพลในแวดวงต่างๆ มาพบปะกัน เพื่อแสวงหาวิธีแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยร่วมกัน สร้างหลักประกันให้แก่ผู้ลี้ภัยในระดับโลก”

สังฆะ - สงเคราะห์สังคม

อาจมีพระในพุทธศาสนาไม่กี่รูปที่เดินหน้าช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอย่างจริงจัง เมื่อท่านประกาศว่านี่เป็นงานเร่งด่วนที่เราทุกคนต้องช่วยกัน งานนี้จะกลายมาเป็นพันธกิจหลักของท่านหรือ?

“จริงๆ อาตมาก็ทำงานเดิมของอาตมานั่นแหละ งานผู้ลี้ภัยก็เป็นอีกงานที่เป็นงานของพระด้วย อาตมามีงานอยู่ 4 เรื่อง

"1. ส่งเสริมการศึกษา ให้การศึกษาแก่เยาวชน อาตมภาพมีโรงเรียนปริยัติธรรมสำหรับสามเณรที่ยากจน เราให้เรียนฟรีที่จังหวัดเชียงราย เป็นงานที่สร้างคน ถ้าเขาได้รับการศึกษาที่ดีแล้วก็มีสิทธิ มีโอกาสที่เท่าเทียมกับผู้อื่น แต่ถ้าไม่ได้รับการศึกษาที่ดี เขาก็อาจเป็นบุคคลที่น่าเป็นห่วงของสังคมในอนาคต งานการศึกษาเป็นงานหลักที่อาตมาเลือกและตั้งใจที่จะทำ ถึงพูดเสมอว่าที่ไร่เชิญตะวัน เราทำงานสร้างคน

“2. งานเผยแผ่ เราทำงานเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไปสู่ประชาคมโลก ไม่ใช่เฉพาะชาวไทยหรือชาวพุทธ ตอนนี้มีผู้แปลงานของอาตมาออกไป 12 ภาษาแล้ว 3. งานพัฒนาสังคม สังคมมีปัญหาเราต้องลุกขึ้นมาช่วยพัฒนา เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และ 4. งานเพื่อสันติภาพโลก คืองานฝึกสติให้แก่ชาวไทยและชาวต่างชาติ อาตมาเชื่อว่าสติเป็นรากฐานของสันติ สันติภาพในใจคนเป็นรากฐานของสันติภาพโลก และแน่นอนงานด้านมนุษยธรรม งานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยก็อยู่ในพันธกิจที่ 4 คืองานสร้างสรรค์สันติภาพโลกนั่นเอง

(7)

“นี่คือ 4 งานที่ทำอยู่ และจะทำต่อไป งานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยไม่ถือเป็นงานใหม่ งานช่วยคนถือเป็นงานของพระทุกรูป พระพุทธองค์พูดเสมอว่า พระทุกรูปมีหน้าที่อย่างน้อย 3 ประการนะ คือ 1. คันถะธุระ เรียนพระธรรมคำสอน 2. วิปัสสนาธุระ ฝึกจิตให้มีคุณภาพ สุขภาพ และสมรรถภาพ 3. สังคหธุระ ช่วยเหลือเกื้อกูลประชาคมโลก ฉะนั้นอาตมาก็ไม่ได้ทำอะไรใหม่เลย”

วิธีสื่อสารกับคนไม่เข้าใจ

หากอ่านข่าวเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยในไทย เรามักพบทั้งความเห็นที่แสดงความเห็นใจ และความคิดขัดแย้งเดียดฉันท์ ทำนองว่า “ถ้าเห็นใจมาก ก็รับผู้ลี้ภัยไปอยู่บ้านตัวเองซิ” กับทัศนคติแนวนี้ ท่านว.วชิรเมธี คิดว่าเป็นตรรกะไม่สมเหตุสมผล

“คุณกำลังพูดถึงชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์ด้วยความคิดความอ่านที่น้อยเกินไป ลองคิดดู หากวันหนึ่งญาติคุณเป็นผู้ลี้ภัยทั้งครอบครัว ไปขอลี้ภัยในประเทศหนึ่ง แล้วเขาบอกว่า เราไม่รับนะ คุณจะรู้สึกไหมว่านี่เป็นเรื่องเล็ก เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าคุณจะมาพูดส่งเดช เป็นปัญหาที่คุณไม่สามารถแสดงทัศนคติอย่างผิวเผินได้ นี่คือความเป็นความตายของมนุษยชาติ เป็นชะตากรรมของคนทั้งโลก

“คุณรู้ไหมว่าตอนนี้มี Boat People เป็นล้านคน ลอยคออยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ลอยคออยู่ในทะเลอันดามัน ใกล้ประเทศไทย ในบังคลาเทศอีกเป็น 8 แสนคน คุณคิดว่านี่คือเรื่องล้อเล่นหรือ พูดอะไรส่งๆ แล้วคิดว่าตัวเองเท่มากเลย อย่างนั้นหรือ คุณต้องไปดูหน้างาน ไปเห็น Boat People เรือลำหนึ่งเขาพาคนมา 1,000 – 5,000  คน ต้องอดข้าวอดน้ำ ตายกลางทะเล เรือนั้นอุตส่าห์พาเขามาขึ้นฝั่งได้ แต่ไม่มีประเทศไหนอ้าแขนรับเขา ต้องมาตายที่ชายทะเล อุตส่าห์มาถึงฝั่ง แต่ขึ้นสู่ความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมคนอื่นไม่ได้ เขามีชะตากรรมที่หลายซ้ำหลายซ้อนมาก

(8) (1)

“เวลาเราพูดถึงผู้ลี้ภัยต้องคิดเสมอว่า 1. นี่ไม่ใช่เรื่องที่จะหยิบมาพูดเล่น 2. ไม่ใช่เรื่องโรแมนติก แต่เป็นโศกนาฏกรรมระดับโลก 3. ชีวิตของคนทุกคนก็เหมือนชีวิตของคุณนั่นแหละ คุณเรียกร้องต้องการอะไร เขาต้องการเช่นนั้น เขามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมเหมือนกับคุณ”

สิ่งที่เราควรทำคือลุกขึ้นมาศึกษาว่า อะไรคือปัญหาผู้ลี้ภัย เราจะช่วยเหลือเขาได้อย่างไร ถ้าเราเย็นชาปัญหาเหล่านั้นจะเชื่อมโยงถึงเราอย่างไร และในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เราได้รับมามากมายจากโลกเหลือเกิน เราจะคืนสู่โลกนี้ได้อย่างไร นี่ต่างหากคือวิธีคิดที่ถูกต้องต่อผู้ลี้ภัย

คนธรรมดาก็สร้างสันติภาพโลกได้

ไม่ได้เป็นผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด แต่มีใจอยากจะช่วยเหลือ คนธรรมดาอย่างเราก็สามารถช่วยเรื่องนี้ได้ ท่านบอกว่าให้เริ่มที่ตัวเอง

“คุณต้องฝึกตนให้เป็นบุคคลแห่งสันติภาพ ทุกเรื่องที่คิด ทุกกิจที่ทำ ทุกคำที่พูด ทุกอิริยาบถที่เคลื่อนไป ในเชิงสันติภาพ อย่าทำตัวเองให้เป็นเมล็ดพันธุ์ของความรุนแรง การที่เราใช้ชีวิตอย่างมีสติ นี่แหละคือวิธีที่เราจะรับผิดชอบต่อสังคม ต่อโลกใบนี้

“พระพุทธเจ้าเคยเล่าเรื่องหนึ่งเอาไว้ มีนักกายกรรมสองพ่อลูกเล่นกายกรรมไต่เชือกด้วยกัน ลูกจะขี่อยู่บนไหล่พ่อ พ่อก็เดินอยู่บนเชือก ลูกบอกว่า ‘พ่อ ระวังผมให้ดีดีนะ” พ่อตะโกนขึ้นไปว่า “พ่อจะระวังตัวเองให้ดีที่สุด ลูกก็ระวังตัวเองให้ดีที่สุด เธอไม่ต้องระวังพ่อ พ่อไม่ต้องระวังเธอ แต่เมื่อเราระวังตัวเองอย่างดีที่สุด จะเป็นการระวังคนอื่นไปด้วยพร้อมๆ กัน’

“ฉะนั้น ถ้าเราดูแลตัวเองให้มีสติ โลกนี้ก็มีสันติ ดูแลตัวเองให้ตัวเองมีเมตตาการุณย์ นั่นก็ดูแลโลกไปพร้อมๆ กัน เมื่อเราใช้ชีวิตอย่างมีสติ ก็ไม่มีใครเดือดร้อนเพราะตัวเราใช่ไหม เมื่อเรามีเมตตาการุณย์ก็จะไม่มีใครเป็นทุกข์เพราะการกระทำของเรา เราก็สามารถช่วยสันติภาพโลกได้”

/////////////////

เรียบเรียงจากปาฐกถา “โลกทั้งผองเป็นพี่น้องกัน” และบทสัมภาษณ์พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ในพิธีถวายตำแหน่งฯ