‘ข้าว ต้นสมบูรณ์’ โรลโมเดลสายวิทยาศาสตร์

‘ข้าว ต้นสมบูรณ์’ โรลโมเดลสายวิทยาศาสตร์

ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์ เจ้าของรางวัล FameLab คนแรกในไทย เดินหน้าทำหน้าที่โรลโมเดลสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ สนใจวิทยาศาสตร์และอาชีพนักวิจัยในแล็บ

            มโนภาพนักวิจัยดีกรีระดับด๊อกเตอร์ที่สวมแว่นหนาเตอะฝังตัวอยู่ในห้องแล็บ และพูดคำศัพท์เข้าใจยากๆ อาจใช้ได้กับนักวิจัยทั่วไปแต่ต้องไม่ใช่ “ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์” ซึ่งมีไลฟ์ชีวิตผิดแผกออกไป เขาชื่นชอบการทำกิจกรรมนอกแล็บ ชื่นชอบการสื่อสารเรื่องยากๆ ให้เข้าใจง่าย พร้อมกับเป็นโรลโมเดลสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กไทยสนใจวิทยาศาสตร์ และอาชีพนักวิจัยในแล็บ

              ดร.ข้าว เป็นที่รู้จักมากขึ้นในฐานะที่คว้ารางวัล FameLab คนแรกในประเทศไทยเมื่อปีที่ผ่านมา จากการเข้าร่วมการแข่งขันการนำเสนอทางด้านวิทยาศาสตร์ในลักษณะแปลกใหม่ น่าสนใจ สามารถดึงดูดคณะกรรมการและผู้ชมให้เข้าใจและประทับใจในสิ่งที่นำเสนอ หน้าที่การงานในปัจจุบันเป็นนักวิจัยด้านการตรวจวัดทางชีวภาพหรือไบโอเซ็นเซอร์ ประจำศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ทั้งยังรั้งตำแหน่งนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ที่นำเสนอข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องแก่สาธารณชนแทนที่จะรับฟังแต่ความเชื่อผิดๆ หรือกลลวงโลกในรูปแบบต่างๆ เพราะที่ผ่านมาผู้คนมักมองว่า วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องไกลตัวและเป็นเรื่องยากต่อการทำความเข้าใจ ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่ค่อยจะมีเหตุผล (ในบางครั้ง)


                อีกอย่างหนึ่งที่เขาต้องการทำคือ การเป็นโรลโมเดลเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ สนใจวิทยาศาสตร์และอาชีพนักวิจัย จากเดิมไม่ค่อยเป็นที่รู้จักและพ่อแม่ไม่อยากให้ลูกเรียนเพราะคิดว่าเป็นเส้นทางที่ไม่ก้าวหน้า ทั้งๆ ที่เป็นอาชีพที่มีความสำคัญกับประเทศชาติ เขาบอกว่า  "วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุก และนักวิทยาศาสตร์ก็เป็นอาชีพที่ท้าทายและน่าตื่นเต้น ผมว่าการเป็นนักวิทยาศาสตร์มันก็เหมือนกับการเล่นเกม เราจะต้องคิดเพื่อจะฝ่าด่านแต่ละด่านไปให้ได้ เพื่ออัพเลเวลขึ้นไปเรื่อย ๆ และเมื่อเราทำสำเร็จ ก็จะภาคภูมิใจและสนุกไปกับมัน”

              จุดหักเหบนเส้นทางชีวิตของ ดร.ข้าว เกิดในช่วงเรียนมัธยมปลาย ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา เมื่อคุณยายมีปัญหาหัวเข่าจนเดินไม่ได้และต้องรักษาด้วยการผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียม ปรากฏว่าคุณยายสามารถกลับมาเดินได้อีกครั้ง กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เด็กหนุ่มเกิดความรู้สึกว่า คนที่ผลิตเข่าเทียมเป็นฮีโร่และอยากจะเป็นฮีโร่แบบนั้นบ้าง จึงตัดสินใจสละสิทธิ์การเป็นนักศึกษาแพทย์ ทั้งจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แล้วติดต่อขอรับทุนของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อไปศึกษาต่อด้านวิศวกรรมการแพทย์ระดับปริญญาตรี-เอกที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ  ทั้งๆ ที่เคยมีความฝันอยากเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ นักร้อง หลังจากเรียนจบก็กลับมาทำงานใช้ทุนที่ไบโอเทค

          “กว่าจะเรียนจบได้ต้องปรับตัวเยอะมาก เพราะสาขาวิชาที่เรียนยาก แต่คนเราพอมีความฝันก็จะทำให้มีแรงจูงใจและความมุ่งมั่น สุดท้ายกลับรู้สึกสนุกกับการเรียนจนจบปริญญาเอก ผมไม่ใช่คนหัวดีมากแต่จะตั้งใจเวลาที่จะทำอะไร ทำให้ผลการเรียนออกมาดี”  

            นักวิจัยหนุ่ม กล่าวว่า เป้าหมายสูงสุดในชีวิตของผม คือ การใช้ชีวิตให้มีความสุข ไม่ใช่คนบ้างานแต่ก็ทำงานให้เต็มที่ เสร็จแล้วก็พักผ่อนอยู่กับครอบครัว อยู่กับคนที่เรารัก
เมื่อให้มองและอธิบายตัวเอง คำตอบที่ได้รับคือ ดร.ข้าวเป็นผู้ชายที่มีความยูนีค ไม่เหมือนใคร เพราะเชื่อว่าคนที่จะประสบความสำเร็จได้ต้องมีอะไรที่ไม่เหมือนใคร อย่างตัวเขาแม้จะเป็นนักวิทยาศาสตร์แต่ก็มีบุคลิกไม่เหมือนนักวิทยาศาสตร์ทั่วไป เพราะพยายามทำอะไรที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ด้วยการนำความฝันของตนเองที่อยากอยู่ในวงการบันเทิงมาร่วมกับการเป็นนักวิทยาศาสตร์ ทำให้ไม่เหมือนคนอื่น หรือแม้กระทั่งการเรียนก็ยังเลือกเรียนในสาขาที่ต้องเรียนหลายวิชามาก คนส่วนใหญ่มักจะเรียนไม่ค่อยได้

“ผมอยากทำอะไรที่ต่างจากคนอื่น เพราะมันจะทำให้โอกาสดีๆ เข้ามาในชีวิตเรามากขึ้น โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็มากขึ้นด้วย”

*บทสัมภาษณ์เผยแพร่ใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ (กายใจ) ฉบับวันเสาร์ที่ 28 มกราคม 2559