'โย-โย มา' สานสัมพันธ์สองซีกโลก

'โย-โย มา' สานสัมพันธ์สองซีกโลก

Silk Road ไม่ได้หมายถึงเส้นทางการค้าที่เชื่อมโลกตะวันตกเข้ากับโลกตะวันออกเท่านั้น แต่ยังเป็นชื่อโปรเจคท์ที่เหล่านักร้อง นักประพันธ์เพลงทั่วโลกมารังสรรค์ดนตรีร่วมกันภายใต้ชื่อ ซิลค์โรดอองซอมเบิล (Silk Road Ensemble)

1 ตุลาคมที่เพิ่งผ่านมา เป็นวันชาติจีน รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้จัดงานฉลองอย่างยิ่งใหญ่อลังการ ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ในกรุงปักกิ่ง

            การฉลองมีความยิ่งใหญ่กว่าทุกปี เนื่องจากครบวาระการสถาปนาสาธารณประชาชนจีนครบ 70 ปี โดยใช้คำขวัญว่า “จีนใหม่” เพื่อแสดงถึงศักยภาพอันเกรียงไกรหลายด้านของจีนยุคใหม่  ซึ่งได้นำมาสู่ยุคแห่งความเป็นประเทศมหาอำนาจ  โดยการนำของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง

            ก่อนหน้านี้ 2 วัน ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องอิสริยาภรณ์ “รัฐมิตรภรณ์” อันเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์สูงสุดสำหรับชาวต่างชาติ แด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี

            ประเทศจีนเจริญรุ่งเรืองแบบก้าวกระโดด พัฒนาล้ำหน้าไปเกือบทุกด้าน  อันเป็นผลจากการสร้างพลเมืองให้มีประสิทธิภาพ มีผู้นำที่มีความมุ่งมั่นในการสร้างชาติ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ใช้ความรู้ ความสามารถทุ่มเทให้กับการบริหารประเทศด้วยปัญญาอันชาญฉลาด สุขุม มั่นคง

            โดยเฉพาะนโยบาย One Belt One Road (หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง) ของ สี จิ้นผิง  ซึ่งเริ่มเมื่อปี 2013 เป็นแนวคิดที่มีวัตถุประสงค์โดยให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง  การติดต่อสื่อสารระหว่างภูมิภาค  อันส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและด้านอื่นที่ตามมา

            One Belt One Road เป็นระบบ Logistics ที่สุดยอดในการคมนาคมทั้งทางบกและทางทะเล  โดยสี จิ้นผิง นำเอาแนวคิดจาก Silk Road  เส้นทางการค้าเมื่อครั้งโบราณกาล มาปรับเปลี่ยน ปรับปรุงให้เข้ากับสถานการณ์ยุคปัจจุบัน ให้เชื่อมต่อกันระหว่างภูมิภาคเอเชีย กับแอฟริกา, ยุโรปตะวันออกกลางและอเมริกา

            Silk Road หรือเส้นทางสายไหม เป็นเส้นการค้าที่เชื่อมต่อระหว่างตะวันออกกับตะวันตก เป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเมือง ศาสนา...

            “ซิลด์โรด” (Silk Road) หรือ “เส้นทางสายไหม” นอกจากเป็นเส้นทางการค้าที่เชื่อมต่อโลกตะวันออกกับตะวันตกแล้ว ยังเป็นเส้นทางที่ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและสานความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรม อารยธรรม และศิลปะ...ด้วย  ดังนั้นเหล่านักร้อง นักดนตรี นักประพันธ์เพลงจากชาติต่างๆ จึงมาร่วมบูรณาการรังสรรค์ดนตรี ในรูปแบบดนตรี "โลก“ หรือ “ดนตรีร่วมสมัย”  นำโดย โย–โย มา        นักเชลโลดนตรีคลาสสิกอันดับต้นๆ ของโลก  โดยใช้ชื่อว่า “ซิลค์โรดอองซอมเบิล” (Silk Road Ensemble) เป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 1998  โดยคณะทำงานด้านศิลปวัฒนธรรม การศึกษาที่ไม่แสวงผลกำไร  เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรม เชื่อมโยงกับศิลปินและผู้ชมผู้ฟังทั่วโลก

            อีกทั้งเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมนวัตกรรมทางดนตรีและการเรียนรู้ผ่านศิลปะ

new-yoyo-1280x853 new-yoyo-1280x853

            โครงการนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากเส้นทางสายไหม เส้นทางการค้าแห่งประวัติศาสตร์ เป็นเส้นทางการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม

            โย–โย มา นักเชลโลอเมริกัน เชื้อสายจีน เกิดในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส อพยพกับครอบครัวมาอยู่นครนิวยอร์กตั้งแต่เด็ก  เรียนดนตรีที่ “จูลลิอาร์ด” สถาบันดนตรีชื่อก้องในนครนิวยอร์ก และมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในนิวยอร์กเช่นกัน เรียนจบระดับปริญญาในสาขา “มานุษยวิทยา” ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเสตส์ สหรัฐอเมริกา

            โย–โย มา ประสบความสำเร็จในอาชีพดนตรีอย่างมาก คว้า “แกรมมี่” มาถึง 19 รางวัล เป็น      นักดนตรีคลาสสิกที่เล่นดนตรีได้หลายประเภท  มักจะเข้าร่วมกิจกรรมที่ขับเคลื่อนดนตรีศึกษา  ทั้งที่มีผลงานอัดแผ่นมานับร้อยอัลบั้ม  มีรายการแสดงคอนเสิร์ตมากมาย แต่ยังเจียดเวลามาช่วยส่งเสริมพัฒนาวงการดนตรี

            โย-โย มา เล่าว่า กลุ่ม “ซิลค์โรดอองซอมเบิล” กับเขาพบกันครั้งแรกแบบคนแปลกหน้าที่ “แทงเกิลวูด” ค่อนข้างจะเป็นชนบท ในเมืองลีน็อกซ์ รัฐแมสซาชูเสตส์ ที่อยู่ของบอสตันซิมโฟนี ออร์เคสตรา เป็นที่ที่จัดแสดงดนตรีทั้งคลาสสิก แจ๊ส ดนตรีร่วมสมัย...และบางครั้งจัดสัมมนาเรื่องดนตรีโดยวิทยากรที่มีชื่อเสียง

            ทุกคนที่มาเจอกันในที่แห่งนี้ มาจากแดนไกล  ทั้งจากมองโกเลีย, จีน, อาเซอร์ไบจาน, อุซเบกิสสถาน, ทาจิกิสถาน, อิหร่าน, อาร์เมเนีย, ตุรกี, อินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลี  หลายคนในจำนวนนี้ไม่เล่นดนตรีสำเนียงเดียวกัน  ไม่ได้พูดภาษาเดียวกัน  บางคนอ่านโน้ตได้ บางคนก็ไม่อ่าน แม้จะมีความแตกต่าง  แต่ทุกคนก็อยากเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

            ตัวอย่างเช่น เขาเพิ่งรู้ว่า “แฮมเบอร์เกอร์” ชาวมองโกเลียเรียกว่า “แกมเบอร์เกอร์”  คนอิหร่านที่เติบโตในทะเลทรายพอเห็นความเขียวขจี รอบบริเวณแทงเกิลวูด ถึงกับจินตนาการว่านี่คือสวรรค์  ทุกคนแบ่งปันความรักในดนตรี ความอยากรู้อยากเห็น ความแปลกใหม่ของโลกได้ทอดยาวไปสู่มิตรภาพ...

            วง “ซิลค์โรดอองซอมเบิล” มาแสดงคอนเสิร์ตที่ศูนย์วัฒนธรรม ค่ำวันที่ 27 เมษายน 2010

            สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาทอดพระเนตรการแสดงคอนเสิร์ตครั้งนี้

            เริ่มรายการด้วย Silk Road Suite เป็นบทเพลงชุด ประพันธ์โดย อาเหม็ด อัดมัน ไซกุน นักเชลโล นักประพันธ์เพลงชาวตุรกี ผู้ประพันธ์ได้นำเอาเทคนิคของดนตรีคลาสสิกแบบตะวันตก มาผสมผสานกับดนตรีพื้นเมืองในถิ่นกำเนิดให้กลมกลืนกันอย่างงดงามลงตัว  โดยเริ่มจาก Partita Opus 31 (Allegretto) แล้วต่อด้วย Ascending Bird ทำนองเพลงพื้นเมืองเปอร์เซีย เรียบเรียงโดย คอลิน เจคอบสัน นักไวโอลินในวงซิลด์โรดอองซอมเบิล  โดยให้ ไกฮัน กัลฮอร์ เป็นผู้บรรเลงทำนองด้วย “กามันเชห์” เครื่องดนตรีเปอร์เซีย  บทเพลงท่อนนี้เล่าขานเกี่ยวกับเรื่องของนกตัวหนึ่งพยายามจะบินไปยังดวงอาทิตย์ แต่ล้มเหลวสองครั้ง  ครั้งที่สามต้องมอดไหม้ไปกับแสงอาทิตย์ สังเวยด้วยวิญญาณดับสูญ

            Empty Mountain Spirit Rain แอนเจล หลำ ประพันธ์บทเพลงนี้เพื่อรำลึกถึงคุณย่าของเธอ บรรยายถึงกาลครั้งหนึ่งเธอวิ่งฝ่าสายฝน จากโรงเรียนที่ตั้งอยู่บนเขาจนกลับถึงบ้าน

            จบครึ่งแรกด้วย Sulvasutra ผลงานของ เอวาน ซิโปริน นักประพันธ์เพลงที่ได้รับอิทธิพลจากดนตรี “กัมลัน” แห่งเกาะบาหลี Sulvasutra  เป็นบทเพลงที่ประพันธ์ในรูปแบบ Minimalism ที่น่าฟังยิ่ง

            ครึ่งหลังของคอนเสิร์ต เริ่มด้วย Silent City ประพันธ์โดย ไกฮัน กัลฮอร์ นักประพันธ์เพลงชาวอิหร่านที่เล่น “กามันเชห์” ในวงนั่นเอง

           กามันเชห์ เป็นเครื่องดนตรีเปอร์เซียโบราณ เป็นเครื่องสายชนิดสี เดิมมี 3 สาย  แต่ละสายทำด้วยไหม  ต่อมามี 4 สาย เป็นสายทำด้วยโลหะ กามันเชห์ (Kamanchech) หมายถึง “คันชักเล็ก” ในภาษาเปอร์เซีย kaman แปลว่า “คันชัก” cheh แปลว่า “เล็ก” เป็นเครื่องดนตรีที่นิยมกันในประเทศอิหร่าน, อาเซอร์ไบจาน, อุซเบกิสถาน, ตุรกี                                                                                                                                                                                                                                   

นักกามันเชห์ชาวอิหร่านที่มีชื่อเสียง อาทิ อาลี อัสการ์, บาฮารี ฮาร์เดสซีร์, ซาอีด ฟารัสโปอุรี รวมถึงไกฮัน กัลฮอร์  เพลงนี้นำออกแสดงครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ปี 2005 กัลฮอร์แต่งเพลงนี้เพื่อบรรยายถึงเหตุการณ์ทำลายหมู่บ้านฮัลลับจาของชาวเคิร์ด ในประเทศอีรัก ราบคาบลงคงเหลือแต่ความอ้างว้างวังเวง  กลายเป็นเมืองแห่งความเงียบ

            Yonzi (Small Song) เพลงพื้นเมืองที่ หวู่ ถง ร้องดูเอ็ตกับเชลโล โย-โย มา อวดฝีมือเต็มที่ เป็นที่ชื่นชมของผู้ชมมากเป็นพิเศษ

            Ambush From Ten Sides เปิดทางให้ วู หมั่น นักพีผาชื่อดังชาวจีนที่ยืนอยู่แถวหน้าในวงการดนตรีระดับโลก เธอดีดพีผาเครื่องสายจีนสุ้มเสียงก้องกังวาน แพรวพราว

            การบรรเลงของวงซิลด์โรดอองซอมเบิล จบลงด้วยความรื่นรมย์สำหรับผู้ชื่นชอบดนตรีร่วมสมัยและดนตรีโลก แต่อาจจะไม่ปลื้มสำหรับผู้ชอบดนตรีคลาสสิก

            วง “ซิลค์โรดอองซอมเบิล” นำโดย โย-โย มา มีผลงานเกือบ 10 อัลบั้ม เช่นชุด Silk Road Journey : When Strangers Meet; Off the Map; A Playtist  Without Borders; Sing Me Home; The Vietnam War…