ชีวิตหลังวิกฤติ "โควิด-19" ปรับตัวอย่างไร ให้อยู่ร่วมได้และไม่ประมาท

ชีวิตหลังวิกฤติ "โควิด-19" ปรับตัวอย่างไร ให้อยู่ร่วมได้และไม่ประมาท

เมื่อ "โควิด-19" กำลังขยับสู่การเป็นโรคประจำถิ่น แต่การใช้ชีวิตของเรายังคงต้องไม่ประมาท โควิด-19 สอนให้รู้ว่าต้องรับมือกับวิกฤติด้านสุขภาพ รวมถึงสถานการณ์อื่นๆ ที่คาดไม่ถึงอีกในอนาคต

ปัจจุบัน โควิด-19 เริ่มมีการเตรียมพร้อมสู่การเป็น โรคประจำถิ่น ซึ่งเกณฑ์ คือ ผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 คนต่อวัน อัตราป่วยตายน้อยกว่า ร้อยละ 0.1 เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล น้อยกว่าร้อยละ 10 และ กลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรงได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 โดส มากกว่าร้อยละ 80 

 

และขณะนี้พบว่า มีการผ่อนมาตรการเพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติ รวมถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้ว่าจะยังมีผู้ติดเชื้ออยู่ แต่ระบบสาธารณสุขยังพอรับได้ ขณะเดียวกัน การใช้ชีวิตหลังโควิดยังคงต้องไม่ประมาท เพราะโควิด-19 จะยังไม่หายไป เพียงแค่เราจะอยู่ร่วมกับมันได้มากขึ้น

 

วันนี้ (26 ก.ค. 65) รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ รพ.ศิริราช กล่าวภายในการบรรยาย ชีวิตหลังหมดยุคโควิด-19 จัดโดย สภาอาจารย์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยระบุว่า คำว่า โรคประจำถิ่น จริงๆ ไม่ได้มีนิยามชัดเจน หมายถึงว่า เป็นโรคอะไรบางอย่างที่เราไม่ต้องใช้กลไกพิเศษไปรองรับ 

 

แต่โควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อรับมือ แสดงว่าไม่ใช่กลไกปกติ ถัดมา คือ การเจ็บป่วย ดูแลรักษา ป้องกัน โควิดใช้งบประมาณพิเศษที่รัฐบาลจัดหา ตอนนี้เห็นว่าความรุนแรงของโรคลดลง แต่ขนาดของโรคยังไม่ลดจนปลอดภัยพอที่จะดำเนินการเหมือนโรคประจำถิ่นเต็มตัว

 

"ปัจจุบันโรคโควิด-19 ใกล้เคียงไข้หวัดตามฤดูกาล เพียงแต่ว่ายังติดกันง่ายมาก เมื่อใดก็ตามที่สามารถลดการติดต่อลง หรือมีวัคซีนที่ไม่ต้องฉีดปีละ 2-3 ครั้ง แต่ฉีดปีละครั้ง ก็จะลดลงมาเป็นเหมือนไข้หวัดตามฤดูกาล หรือโรคประจำถิ่น"

“ความรุนแรงลดลงเพราะเราได้วัคซีน โดยเฉพาะเข็มกระตุ้น หากไม่ได้รับจะมีการสูญเสียไปอีกเยอะ โรงพยาบาลต่างๆ ก็ไม่สามารถกลับมาดูแลผู้ป่วยทั่วไปได้อย่างปกติ ขณะที่ รพ.ศิริราชเอง ก็กลับมาดูแลผู้ป่วยปกติได้ราว 80-90% และยังมีผู้ป่วยโควิดอยู่ 5-10% เทียบกับในช่วงเดลตา มีสัดส่วนผู้ป่วยโควิดและผู้ป่วยปกติกว่า 50/50”

 

ป่วยหนัก พบลองโควิดได้มากกว่า 

 

ขณะเดียวกัน เมื่อหลายคนผ่านช่วงการติดเชื้อมาแล้ว ปัญหาหนึ่งที่ตามมาคือ อาการลองโควิด (Long COVID) "รศ.นพ.นิธิพัฒน์"  อธิบายว่า ทำไมเราถึงเป็นลองโควิด เพราะเชื้อโควิด เป็นเชื้อที่มนุษย์ไม่เคยเจอ อะไรก็ตามที่มีการติดเชื้อปฏิกิริยาร่างกายเราจะเยอะ การฉีดวัคซีน เนื่องจากเป็นการติดทางเยื้อบุ วัคซีนทำหน้าที่สองอย่างคือ สร้างแอนติบอดี้ ป้องกันไม่ให้เชื้อเข้ามา หรือเข้ามาก็ทำหน้าที่จัดการ และ กระตุ้นภูมิต้านทานให้ร่างกายรู้จักสิ่งแปลกปลอมเพื่อตอบสนองในทางที่เหมาะสม

 

ป่วยระลอกหลัง อาการลองโควิดลดลง

 

คนที่เกิดลองโควิด มีการศึกษา พบว่า หากป่วยด้วยอาการรุนแรง อาการลองโควิดก็จะเยอะ ขณะเดียวกัน ลองโควิดจะเป็นกับคนที่ไม่มีภูมิมาก่อน แต่คนที่ฉีดวัคซีนแล้ว เรารู้จักเชื้อผ่านวัคซีน ร่างกายก็จะมีภูมิคุ้มกันพอเหมาะในการกำจัดไวรัส การเกิดลองโควิดจึงเกิดคนที่ป่วยระลอกแรกๆ เยอะ และระลอกหลังๆ พบอาการลองโควิดลดลง

 

กรณียังไม่มีวัคซีน จะส่งผลให้โรคเรื้อรังที่มีอยู่กำเริบได้หลังจากที่ติดโควิด-19 ขณะที่ คนที่แข็งแรงดีหากไม่มีวัคซีน ติดโควิดก็จะมีลองโควิดได้เยอะ สุขภาพกายดี สุขภาพใจดี ก็จะเป็นต้นทุนที่ดี

ติดเชื้อเดลตา กว่าครึ่งพบอาการลองโควิด

 

ทั้งนี้ การศึกษาของ รพ.ศิริราช ในช่วงเดลตา ก.ค. – ก.ย. 64 พบว่า คนที่หายจากโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาแล้วราวครึ่งหนึ่งมีอาการลองโควิด ส่วนใหญ่เป็น คนที่อาการหนักจะเป็นลองโควิดเยอะกว่า โดยส่วนใหญ่จะเป็นอาการเหนื่อย แน่นหน้าอก ผมร่วง เป็นต้น และมีผลต่อการดำรงชีวิต

 

เมื่อติดตาม ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเดลตา แต่อาการไม่หนัก พบว่า มีอาการลองโควิดราว 40 กว่าเปอร์เซ็น ซึ่งเป็นยุคที่วัคซีนยังได้ราว 2 เข็ม

 

ขณะที่ ประเทศอิตาลี ศึกษาผู้ป่วยยุคก่อนเดลตา โอมิครอน พบว่า เดลตา และ โอมิครอน เป็นลองโควิดน้อยกว่า , ในอังกฤษพบว่า โอมิครอน ทำให้ลองโควิดลดลงครึ่งหนึ่ง ส่วนหนึ่งมาจากวัคซีนที่ทำให้เกิดลองโควิดลดลง

 

การฉีดวัคซีนยังจำเป็นอยู่หรือไม่

 

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า วัคซีนป้องกันอาการป่วยรุนแรง โอกาสเกิดลองโควิดน้อยลง นี่คือ ประโยชน์ของวัคซีนสำหรับคนทั่วไป หากเป็นคนแข็งแรงดี ต้องได้รับวัคซีนพื้นฐาน 2 เข็ม ทั้งนี้ หากดูข้อมูลการระบาดในไทยช่วงโอมิครอน ม.ค. – มี.ค. 65 หากฉีดครบ 2 เข็มโอกาสอาการรุนแรง เสียชีวิต 50% หากฉีดเข็มที่ 3 โอกาสป้องกันการรุนแรง เสียชีวิต 90%

 

ดังนั้น หากภูมิคุ้มกันดี แนะนำอย่างน้อยในปีนี้ให้ฉีดเข็มกระตุ้น แต่หากเป็นกลุ่มเสี่ยง ต้องพบปะคนเยอะ ควรฉีดเข็มที่ 4 ห่างจากเข็มที่ 3 อย่างน้อย 4 เดือน

 

"กลุ่ม 608 หากฉีดเข็มที่ 1 หลังจากนั้น 3-4 เดือน ภูมิจะเริ่มลดลง จึงมีความจำเป็นว่ากลุ่มเปราะบาง ต้องฉีดเข็มพื้นฐานและเข็มกระตุ้น และขอให้ฉีดเข็มที่ 4 ด้วยในปีนี้ โดยแนะนำฉีด mRNA เป็นเข็มกระตุ้น"

 

"ทั้งนี้ หากโควิดเป็นโรคประจำถิ่น ความรุนแรงลดลง ต่อไปก็จะเหมือนไข้หวัดแทรกตัวไปตามเชื้อธรรมชาติ มนุษย์ก็จะรู้ได้ว่าจะกลายพันธุ์มากน้อยแค่ไหนและสร้างวัคซีนดักไว้ก่อน จะระบาดเป็นช่วงๆ ไม่ระบาดทั้งปี"

 

ติดโควิด้องฉีดวัคซีนอีกหรือไม่

 

จากข้อคำถามที่ว่า ติดโควิด-19 จำเป็นต้องฉีดวัคซีนหรือไม่ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ อธิบายว่า หากติดโควิด-19 จะมีภูมิอยู่ประมาณ 6 เดือน เป็นภูมิป้องกันการติดเชื้อซ้ำ โดยเฉพาะใน 3 เดือนแรก โอกาสติดเชื้อซ้ำน้อยมาก แต่ภูมิสำหรับการป้องกันการเสียชีวิต จะอยู่มากกว่า 6 เดือน

 

ดังนั้น หากไม่เคยฉีดวัคซีนเลย แล้วติดเชื้อโควิด-19 ก็เท่ากับฉีดเข็ม 1 แล้ว ให้ไปฉีดเข็ม 2 และเข็มกระตุ้น แต่หากใครที่ฉีดเข็มพื้นฐานแล้ว ติดโควิด ก็ให้รอ 3 เดือน แล้วฉีดวัคซีน

 

อยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างไร

 

ทั้งนี้ การใช้ชีวิตอยู่ในช่วงหลังวิกฤติ อันดับหนึ่ง คือ ต้องรับวัคซีนเข็มมาตรฐานให้ครบ กระตุ้นอย่างน้อยหนึ่งเข็มสำหรับคนทั่วไป และสองเข็มอย่างน้อยสำหรับคนกลุ่มเปราะบาง หรือคนที่ต้องพบปะผู้คนหรือคนดูแลกลุ่มเปราบาง วัคซีนช่วยป้องกันการป่วยรุนแรงและลดโอกาสการเสียชีวิตจากโควิดได้ ช่วยลดโอกาสและลดความรุนแรงของกลุ่มอาการลองโควิด

 

ถัดมา คือ การทำกิจกรรมนอกบ้าน ทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกิจกรรมทางสังคม อย่างมีสติ และพอประมาณ ระมัดระวังตัวเองตลอดเวลา และพร้อมจะปรับเปลี่ยนให้รัดกุมขึ้น เมื่อมีสถานการณ์โรคกระเพิ่มในพื้นที่

 

ทำความคุ้นเคยและรู้จักกับโควิดในฐานะโรคประจำถิ่น ได้แก่

  • ปฏิบัติตัวให้ถูกต้องเมื่อเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง
  • ดูแลตัวเองได้เมื่อเกิดการติดเชื้อแบบไม่มีอาการหรืออาการน้อย คนไม่ใช่กลุ่มเปราะบางส่วนใหญ่ใช้แค่เพียงยารักษาตามอาการก็พอ ไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัส
  • จับสัญญาณการติดเชื้อแล้วมีอาการป่วยรุนแรงให้ได้เร็ว คือ ไข้สูงเกิน 38 องศา ไม่ลงใน 6 ชั่วโมง หรือขณะพักหายใจเร็วเกิน 22 ครั้งต่อนาทีหรือชีพจรเร็วเกิน 100 ครั้ง ต่อนาที หรือวัดออกวิเจนในเลือดได้ 94% ลงไป รีบติดต่อประสานโรงพยาบาลเพื่อประเมิน โควิดสอนเราว่ามนุษย์ควรจะดำรงตนโดยไม่ประมาท

 

"โควิด-19 คงให้บทเรียนเราว่ามนุษย์นั้นดำรงตนด้วยความประมาทในอดีต ไม่รู้จักการเตรียมตัวและรับมือกับวิกฤติสุขภาพ ซึ่งนับวันจะบ่อยและรุนแรงขึ้น ดังนั้น หลังหมดยุคโควิด-19 คงต้องดำรงตน ดำรงชีวิตอย่างมีสติ และมีความพร้อมในการดำรงตนที่จะเผชิญภัยคุกคามด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นโรคติดเชื้อ โลกร้อน มลพิษทางอากาศ ดังนั้น ต้องมีสติและรู้ตัวตลอดเวลา เมื่อถึงเวลาก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือเผชิญเพื่อให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด นี่คือบทเรียนจากโควิด" รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย