สธ.กำชับรพ.เอกชน ออก "แพ็กเกจรักษาโควิด19" ต้องยึดมาตรฐานการรักษา

สธ.กำชับรพ.เอกชน ออก "แพ็กเกจรักษาโควิด19" ต้องยึดมาตรฐานการรักษา

สธ.บอกรพ.เอกชนทำได้จัด “แพ็กเกจรักษาโควิด19” เรียกเก็บเงินค่ายา สำหรับคนพร้อมจ่าย ต้องการความสะดวก กำชับทำตามมาตรฐานต้องไม่ใช้ยาในสัดส่วนที่รัฐจัดสรรไปให้รักษาฟรีตามสิทธิ์แจ้งล่วงหน้า

จากกรณีที่รพ.เอกชนบางแห่งออกแพ็กเกจรักษาผู้ป่วยโควิด19  โดยระบุให้เลือกรูปแบบการรักษาและมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน อาทิ ยาฟาวิพิราเวียร์ครบโดส 50 เม็ด ราคา 2,900 บาท หรือยาฟาวิพิราเวียร์แบบครบโดสกับปรอทและเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด ราคา 3,000 บาท หรือยาโมลนูพิราเวียร์ 20-30 เม็ด ราคา 5,700 บาท เป็นต้น

เมื่อวันที่ 11 ก.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ และยาโมลนูพิราเวียร์ รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนให้รพ.รัฐ และเอกชน เพื่อรักษาตามสิทธิ์การรักษา ส่วนรพ.เอกชนที่ออกแพ็กเกจอาจเป็นเรื่องการอำนวยความสะดวกสบาย  เพื่อให้ผู้ป่วยที่สามารถจ่ายได้มีทางเลือก  อย่างไรก็ตาม กรณีเช่นนี้มีอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า  ทำได้หรือไม่ หรือกรอบไหนทำไม่ได้ ก็จะมีการตรวจสอบให้ชัดเจน

“หากเป็นการอำนวยความสะดวกได้จริงและไม่ผิดหลักเกณฑ์ใดๆ ก็น่าจะทำได้ และประชาชนก็ได้ความสะดวกสบาย แต่หากมีกรณีไหนที่เข้าข่ายทำผิด หรือยังไม่ชัดเจน  ให้สอบถามมายังกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพื่อตรวจสอบ แต่ต้องมีหลักฐาน ที่ผ่านมายังไม่เห็นหลักฐานชัดเจน ถ้ามีส่งมาเลย ทุกวันนี้ก็ยังปิดรพ.เอกชนไม่ได้สักแห่ง” นายอนุทินกล่าว

ด้านนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า  หากเป็นคนไข้โควิด19ไปรักษาในรพ.ตามสิทธิ์ เป็นไปตามระบบนั้น โรงพยาบาลที่รักษาตามสิทธิ์นั้นๆ ย่อมไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ เพราะรัฐเป็นผู้สนับสนุนยาไปยังโรงพยาบาล แต่หากรพ.เอกชนต้องการทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องการความสะดวกสบายและมีกำลังจ่าย ก็สามารถทำได้ แต่การรักษาต้องเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาทางการแพทย์ และยาส่วนที่จะนำคิดค่ารักษาจะต้องเป็นของเอกชน  เนื่องจากปัจจุบันในส่วนยาจากภาครัฐจะเตรียมยาไว้ให้รพ.เอกชนที่ดูแลคนไข้ตามสิทธิ์

“สิ่งสำคัญการออกแพ็กเกจใดๆ ต้องอิงอาการคนไข้เป็นหลัก ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการรักษา และมาตรฐานสถานพยาบาล แต่เมื่อมีข้อคิดเห็นกรณีนี้เข้ามา กรมจะมีการประชุมหารือและกำชับรพ.เอกชน ในการปฏิบัติเรื่องนี้ให้ถูกต้อง ซึ่งสัปดาห์นี้จะมีการหารือร่วมกับเอกชนอีกครั้ง โดยหากใครเจอเรื่องลักษณะนี้หรือสงสัยว่า รพ.เอกชนทำได้หรือไม่ให้แจ้งมาที่ สบส. เพื่อตรวจสอบต่อไป และการออกแพ็กเกจต้องแจ้งล่วงหน้า และแจ้งราคาให้ประชาชนทราบล่วงหน้า แต่ที่สำคัญการให้ยาต้องรักษาตามอาการ ตามมาตรฐาน หากทำผิดนอกเหนือจากนั้น จะผิดทั้งพรบ.สถานพยาบาลฯ และหากแพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายนอกเหนืออาการก็จะเข้าข่ายผิดเรื่องการประกอบวิชาชีพ จะเป็นในส่วนของแพทยสภาตรวจสอบ” นพ.ธเรศกล่าว