"บอร์ด สปสช." เคาะสิทธิประโยชน์ "รากฟันเทียม" กรณีมีปัญหาการใส่ฟันเทียม

"บอร์ด สปสช." เคาะสิทธิประโยชน์ "รากฟันเทียม" กรณีมีปัญหาการใส่ฟันเทียม

"บอร์ด สปสช." ไฟเขียวเพิ่มสิทธิประโยชน์ใส่ "รากฟันเทียม" กรณีมีปัญหาการใส่ฟันเทียม พร้อมลงพื้นที่ รพ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ จัดบริการดูแลกลุ่มผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป รับฟันปลอม (เทียม) ช่วยบดเคี้ยวอาหาร เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้สูงอายุสุขภาพที่ดีขึ้น

เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2565 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย ทพ.กวี วีระเศรษฐกุล ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 8 อุดรธานี ลงพื้นที่โรงพยาบาลบุ่งคล้า ต.บุ่งคล้า อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ เพื่อเยี่ยมชม “โครงการให้ฟันปลอมผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มีปัญหาไม่มีฟันบดเคี้ยวเนื่องจากเป็นไปตามวัยให้ได้รับการใส่ฟันปลอม (เทียม) เพื่อเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กลุ่มผู้สูงอายุ ช่วยให้มีฟันบดเคี้ยวอาหาร ได้รับโภชนากรที่ดี ส่งผลให้ผู้สูงอายุเหล่านี้มีสุขภาพที่ดีขึ้น” โดยมี ดร.สุนันท์ สาคร สาธารณสุขอำเภอบุ่งคล้า ทพ.อดิศักดิ์ จรัสเมธาวิทย์ หัวหน้าฝ่ายทันตสาธารณสุข โรงพยาบาลบุ่งคล้า ทพ.ฟิสิกส์พงษ์ บึงมุม ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษด้านศัลยกรรมช่องปาก หัวหน้ากลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบาลบึงกาฬ และคณะให้การต้อนรับ

 

ทพ.ฟิสิกส์พงษ์ บึงมุม ทันตแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมช่องปาก หัวหน้ากลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบาลบึงกาฬ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งในต่างประเทศจะมีการเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี แข็งแรง สามารถทำงานได้ ซึ่งการมีสุขภาพที่ดีเกิดจากการรับประทานอาหารได้ รวมไปถึงการพักผ่อนที่เหมาะสม แม้ว่าผู้สูงอายุจะไม่มีฟัน แต่ก็ยังมีฟันเทียมที่สามารถช่วยบดเคี้ยวอาหารได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งการที่ สปสช. มีสิทธิประโยชน์ด้านฟันเทียมให้แก่ผู้สูงอายุ จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดี และจะสามารถช่วยพัฒนาประเทศได้

 

\"บอร์ด สปสช.\" เคาะสิทธิประโยชน์ \"รากฟันเทียม\" กรณีมีปัญหาการใส่ฟันเทียม

สำหรับปัญหาที่ผ่านมาคือผู้สูงอายุยังต้องรอคิวในการทำฟันเทียมนาน เนื่องจากแต่ละโรงพยาบาลทั่วประเทศมีทันตแพทย์เพียงไม่กี่คน ขณะเดียวกันโรงพยาบาลในแต่ละอำเภอก็มีคิวรอทำทันตกรรมเป็นจำนวนมาก มากไปกว่านั้นเมื่อถึงคิวแล้ว การทำฟันเทียมเองก็มีหลายขั้นตอน ต้องมีการวัดความกว้าง สูงของฟันปลอม ขนาด เลือกสีให้เข้ากับสีผิว ซึ่งก็ใช้ระยะเวลาเกือบ 1 เดือน ไม่ใช่มาครั้งเดียวและจะสามารถทำได้เลย 

 


ทพ.ฟิสิกส์พงษ์ ระบุว่า การใส่ฟันเทียมทุกครั้งที่กัดจะเกิดแรงกัดจากฟันเทียมไปยังกระดูกขากรรไกรด้านล่าง และเมื่อใช่ไปเรื่อยๆ กระดูกส่วนนั้นจะเปลี่ยนรูปทำให้ฟันเทียมที่เคยแน่น กระชับ หลวมได้ ฉะนั้น จึงต้องมีการทำฟันปลอมชุดใหม่ เมื่อ 5 ปี

 

ขณะเดียวกันหากมีการใส่รากฟันเทียม แม้กระดูกขากรรไกรล่างจะเปลี่ยนรูปแต่ฟันเทียมก็ยังจะแน่นอยู่ ในกรณีที่ฟันเทียมสภาพดียังใช้งานได้ การทำรากฟันเทียมจะช่วยให้ฟันเทียมเกาะแน่นขึ้น และอาจจะสามารถใช้ได้มากกว่า 5 ปี

 

“ในปีนี้ก็มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์รากฟันเทียมที่จะฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรล่าง เมื่อฝังเข้าไปและแผลหายดีตรงนี้ก็จะทำหน้าที่ช่วยยึดฟันปลอมล่างให้แน่นขึ้น ทำให้ใช้งานได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งค่าใช้จ่ายถ้าไปทำเองจะต้องใช้ทุนทรัพย์ค่อนข้างสูง แต่ในปีนี้สามารถทำได้ฟรี เป็นสิ่งที่น่ายินดีว่าในอนาคตจะมีผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ และคุณภาพที่ดี” ทพ.ฟิสิกส์พงษ์ ระบุ 

นายทองดี ศรีจันทร์ ผู้สูงอายุที่ได้รับการใส่ฟันเทียม อายุ 92 ปี เปิดเผยว่า เนื่องจากในสมัยก่อนไม่มีแปรงสีฟัน และยาสีฟัน ทำให้ต้องใช้นิ้วมือในการแปรงฟันควบคู่ไปกับการใช้เกลือแทน ทำให้เกิดเหงือกอักเสบ และสูญเสียฟันในที่สุด จากนั้นในปี 2545 มีโครงการพระราชทานจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเปิดให้มีการใส่ฟันเทียมได้ทั่วประเทศ จึงเริ่มใส่ฟันเทียมนับจากนั้นเป็นต้นมา 

 

อย่างไรก็ดีในช่วงแรกของการใส่ฟันเทียมยังไม่ค่อยเข้าที่ หลวม จึงได้เดินทางไปยังโรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อให้ขอรับการแก้ไขจากทันตแพทย์ เมื่อแก้ไขให้เข้ากับช่องปากมากขึ้นก็ทำให้สามารถรับประทานอาหารได้สะดวกยิ่งขึ้น

 

\"บอร์ด สปสช.\" เคาะสิทธิประโยชน์ \"รากฟันเทียม\" กรณีมีปัญหาการใส่ฟันเทียม

 

“หลังจากใส่ฟันปลอมหมอก็แนะนำให้แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น นำฟันปลอมแช่น้ำในช่วงกลางคืน และแช่ฟันปลอมลงในน้ำส้มสายชูอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ตั้งแต่ใส่ฟันปลอมสามารถกินข้าวได้หมด ไม่มีอุปสรรคในการเคี้ยว ซึ่งก็อยากให้มีหมอเข้ามาทำฟันปลอมให้คนแก่ที่ไม่มีฟันมากขึ้น ถ้ามีหมอฟันมาทำปลอมให้ดีมาก เพราะบ้านนอกไม่ค่อยมีหมอฟัน” นายทองดี ระบุ 

 

เพิ่มสิทธิประโยชน์ รากฟันเทียม

 

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ หลักประกันสุขภาพทางด้านทันตกรรมมีตั้งแต่ขูดหินน้ำลาย ถอนฟัน อุดฟัน ฯลฯ และที่สำคัญยังมีบริการฟื้นฟูด้วยการใส่ฟันเทียมสำหรับผู้ที่ไม่มีฟันซึ่งสามารถเข้ารับบริการใส่ฟันเทียมได้ที่หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั่วประเทศ 

 

อย่างไรก็ดี การใส่ฟันเทียมทั้งปากนั้นเป็นเรื่องที่ยาก โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีฟันมาเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากสันกระดูกขากรรไกรส่วนล่างจะแบน ซึ่งทางคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จึงได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่โดยการฝังรากฟันเทียมบริเวณเขี้ยว 2 ข้าง เพื่อเป็นหลักยึดให้กับฟันเทียมทั้งปาก ทำให้ผู้ป่วยสามารถบดเคี้ยวอาหารได้ดีขึ้น ซึ่งปกติแล้วรากฟันเทียมมีราคาสูง แต่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยบอร์ด สปสช. ก็ได้เห็นถึงความสำคัญของผู้ที่ไม่มีฟัน และไม่สามารถใส่ฟันเทียมในกรณีปกติได้ จึงเกิดเป็นสิทธิประโยชน์ต่อประชาชนที่ไม่มีฟันทั้งปากอย่างแท้จริง 

 

“เราจะฝังรากฟันเทียมในกรณีที่สันกระดูกด้านล่างที่จะรองรับฟันไม่มี หรือมีน้อยมาก ทำให้การยึดแน่นไม่ดีเท่าที่ควร จึงต้องฝังรากฟันเทียมเพื่อเป็นหลักยึด ทำให้แน่นมากพอที่จะเคี้ยวอาหารได้ ซึ่งผู้ป่วยที่ฝังรากฟันเทียมจะเป็นผู้ป่วยใหม่ที่ไม่เคยใส่ฟันเทียมเลยก็ได้ หรือผู้ป่วยเก่าที่ฟันเทียมแล้วมีปัญหาก็ได้ คาดว่าเดือนกรกฎาคมน่าจะทำพร้อมกันได้ทั่วประเทศ ตอนนี้อยู่ในระหว่างการจัดหารากฟันเทียม และการชี้แนวทาง หลักเกณฑ์ให้แก่หมอฟันทั่วประเทศ” ทพ.อรรถพร ระบุ 

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ