สธ.ย้ำโรงเรียน เตรียมพร้อมรับมือเปิดเทอม 17 พ.ค. คุมเข้มโควิด-19

สธ.ย้ำโรงเรียน เตรียมพร้อมรับมือเปิดเทอม 17 พ.ค. คุมเข้มโควิด-19

สธ. ย้ำประเมินตนเองก่อนเปิดเทอม 17 พ.ค.นี้ หากมีอาการให้ตรวจ ATK พร้อมย้ำโรงเรียนใช้แผนเผชิญเหตุ กรณีพบผู้ติดเชื้อโควิด–19 หรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง

วันนี้ (16 พฤษภาคม 2565) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แม้ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จะมีทิศทางลดลง แต่ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อจำนวนมากได้ โดยเฉพาะช่วงก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2565 ในวันที่ 17 พ.ค. 2565 ซึ่งมีวันหยุดติดต่อกัน 4 วัน ทำให้มีการเดินทางท่องเที่ยว

รวมถึงมีกิจกรรมการรวมตัวทั้งผู้ปกครองและนักเรียนก่อนเปิดเรียน หากไม่ได้มีการป้องกันตนเองอย่างเต็มที่ตามมาตรการ อาจทำให้มีการติดเชื้อและแพร่เชื้อระหว่างกันได้โดยไม่รู้ตัว เนื่องจากสายพันธุ์โอมิครอนส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อมักไม่มีอาการ และเมื่อเปิดภาคเรียนแบบออนไซต์อาจเกิดการแพร่เชื้อภายในโรงเรียนจำนวนมากได้

ดังนั้น ก่อนกลับเข้าสู่ระบบการเรียนการสอนตามปกติ ขอให้ผู้ปกครอง นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ประเมินความเสี่ยงของตนเองก่อน กรณีมีความเสี่ยงหรือมีอาการป่วยให้ตรวจ ATK ทันที หากผลตรวจเป็นบวกหรือติดเชื้อจะได้เข้ารับการรักษาต่อไป

"ขอย้ำว่า ไม่มีมาตรการบังคับตรวจ ATK ก่อนเข้าเรียน และไม่ได้กำหนดให้ต้องตรวจเป็นประจำทุก 3-5 วันหรือทุกสัปดาห์ แต่ขอให้ตรวจเมื่อมีความเสี่ยงหรือเมื่อมีอาการ" นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

 

  • มาตรการป้องกัน 6-6-7 รับมือเปิดเทอม

ส่วน มาตรการป้องกันการติดเชื้อให้ยึดตาม 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม และ 7 มาตรการเข้มของกรมอนามัย เบื้องต้นแนะนำให้ป้องกันตนเองตลอดเวลา โดยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ ตรวจคัดกรอง ลดความแออัด และทำความสะอาด รวมถึงเข้ารับวัคซีนให้ครบ

โดยกลุ่มเด็กมัธยมศึกษา อายุ 12-17 ปี ควรรับเข็มกระตุ้น และกลุ่มเด็กประถมศึกษา อายุ 5-11 ปี ควรรับวัคซีนเข็มปกติให้ครบ จะช่วยลดความเสี่ยงอาการรุนแรงและการเสียชีวิต ทั้งนี้ หากพบผู้ติดเชื้อในโรงเรียน ให้ปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ ไม่จำเป็นต้องปิดทั้งโรงเรียนเหมือนที่ผ่านมา

นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานศึกษาทั่วประเทศจะเปิดเทอม On-Site  ภาคเรียนที่ 1/2565 ในวันที่ 17 พ.ค.นี้ กรมอนามัยขอเน้นย้ำสถานศึกษาปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ  กรณีพบผู้ติดเชื้อหรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ไม่ปิดชั้นเรียนหรือโรงเรียน

สำหรับโรงเรียนประจำ เน้นมาตรการ Sandbox Safety Zone in School (SSS) กรณีนักเรียน ครู หรือบุคลากร เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ เปิดเรียน On-site ปกติ ปฏิบัติตามมาตรการ UP (Universal Prevention) ประเมิน Thai Save Thai (TSC) และเว้นระยะห่างของนักเรียนในห้องเรียน ไม่น้อยกว่า 1 เมตร

กรณีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จัดการเรียนการสอน ปฏิบัติงาน ทำกิจกรรมใน Quarantine Zone ตามมาตรการ SSS เป็นเวลา 5 วัน และติดตามสังเกตอาการอีก 5 วัน กรณีผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบตามคำแนะนำปัจจุบัน ไม่มีอาการ ไม่แนะนำให้กักกัน

 

  • ย้ำกรณีนักเรียน ครูและบุคลากรผู้ติดเชื้อต้องทำอย่างไร?
     

สำหรับการตรวจคัดกรองหาเชื้อด้วย ATK ถ้ามีอาการให้ตรวจทันที ถ้าไม่มีอาการให้ตรวจคัดกรองครั้งแรกในวันที่ 5 และตรวจครั้งสุดท้ายในวันที่ 10 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อ กรณีนักเรียน ครู หรือบุคลากร เป็นผู้ติดเชื้อ ให้ปฏิบัติ ดังนี้

1) พิจารณาร่วมกับหน่วยบริการสาธารณสุข แยกกักกันที่โรงเรียน (School Isolation) และพิจารณาร่วมกับหน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ หรือคณะกรรมการ โรคติดต่อจังหวัด กรณีไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย จัดการเรียนการสอนได้ตามความเหมาะสม เว้นระยะห่าง ไม่น้อยกว่า 2 เมตร งดกิจกรรมรวมกลุ่ม เน้นการระบายอากาศ โดยปฏิบัติตาม UP-DMHTA อย่างเคร่งครัด                

2) ติดต่อหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ตามระบบงานอนามัยโรงเรียน 

3) ทำความสะอาดห้องเรียน ชั้นเรียน สถานศึกษาตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข และเรียนได้ตามปกติ

สำหรับโรงเรียนไป - กลับ กรณีนักเรียน ครูหรือบุคลากร เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ เปิดเรียนในพื้นที่สถานศึกษา  On-Site ตามปกติ ปฏิบัติตามมาตรการ UP (Universal Prevention) ประเมิน Thai Save Thai (TSC) และเว้นระยะห่างของนักเรียนในห้องเรียน ไม่น้อยกว่า 1 เมตร กรณีนักเรียน ครู หรือบุคลากร เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง

กรณีไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ตามแนวทางปัจจุบัน ทั้งมีอาการ และไม่มีอาการ แนะนำให้กักกันตัว เป็นเวลา 5 วัน และติดตามเฝ้าระวัง  อีก 5 วัน ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบตามคำแนะนำปัจจุบัน ไม่มีอาการ ไม่แนะนำให้กักกัน พิจารณาให้ไปเรียนได้

สำหรับการตรวจคัดกรองหาเชื้อด้วย ATK ถ้ามีอาการให้ตรวจทันที ถ้าไม่มีอาการ ให้ตรวจคัดกรองครั้งแรกในวันที่ 5 และตรวจครั้งสุดท้ายในวันที่ 10 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อ กรณีพบนักเรียน ครู หรือบุคลากร เป็นผู้ติดเชื้อ ให้ปฏิบัติ ดังนี้

1) แยกกักกันที่บ้าน (Home Isolation) หรือปฏิบัติตามคำแนะนำของสถานบริการสาธารณสุข

2) พิจารณาจัดทำ School Isolation โดยคณะกรรมการสถานศึกษา หน่วยงานสาธารณสุข และคณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัด

3) จัดรูปแบบการเรียนการสอนอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีอาการ 

4) ทำความสะอาดห้องเรียน ชั้นเรียน สถานศึกษา และเปิดเรียนตามปกติ ทั้งนี้ เน้นย้ำสถานศึกษาจัดการเรียนการสอนอย่างเหมาะสมโดยเว้นระยะห่างไม่น้อยกว่า 2 เมตร สำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และผู้ติดเชื้อ และประสานหน่วยบริการสาธารณสุข     ตามระบบงานอนามัยโรงเรียน