ลิ้นหัวใจเสื่อมเปลี่ยนได้ไม่ต้องผ่า

ลิ้นหัวใจเสื่อมเปลี่ยนได้ไม่ต้องผ่า

เหนื่อยง่าย  จุกหรือเจ็บหน้าอก มีอาการวูบ สัญญาณเตือนสำหรับกลุ่มผู้สูงวัยที่มีความเสี่ยงเป็นโรคลิ้นหัวใจผิดปกติ เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงสมองได้ไม่พออาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้ 

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์โดยมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้น 20 %  หรือมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด จึงควรเตรียมความพร้อมในการดูแลกลุ่มผู้สูงอายุเพราะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคต่างๆหนึ่งในนั้นคือลิ้นหัวใจผิดปกติ ที่มีสาเหตุมาจากความเสื่อมตามธรรมชาติของร่างกาย

ลิ้นหัวใจเสื่อมเปลี่ยนได้ไม่ต้องผ่า

" โรคนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ ถ้าเป็นช่วงเด็กอาจเป็นมาแต่กำเนิด โรครูมาติก หรือติดเชื้อจากโรคอื่นๆ มักพบในช่วงอายุ 17-18 ปี ส่วนคนสูงวัย มาจากความเสื่อมของร่างกาย มีปัจจัยมาจากความดัน ไขมันสูง เป็นเบาหวาน ส่งผลให้ลิ้นหัวใจแข็งตัว เสื่อมสภาพ ปิดไม่สนิทเกิดอาการรั่วหรือตีบ มักพบในคนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป" นพ.ระพินทร์ กุกเรยา  หัวหน้าอายุรแพทย์หัวใจ มัณฑนาการหลอดเลือดหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวถึงสาเหตุลิ้นหัวใจผิดปกติ

จากสถิติในต่างประเทศพบว่า ยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งมีโอกาสพบโรคลิ้นหัวใจผิดปกติมากขึ้น ถ้าอายุเกินกว่า85 ปี มีโอกาสที่พบโรคนี้สูงขึ้น 8% หรือ 1 ใน 10 สถิติในประเทศไทยฐานประชากรส่วนใหญ่ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ เฉลี่ยอายุเกินกว่า 60 ปี มีสัดส่วน13% และในอนาคตไม่เกิน 10 ปีจะมีผู้สูงอายุเฉลี่ย 20% หากคิดจากฐานประชากร กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้สูงถึง 200,000 ราย เนื่องจากสาเหตุมาจากความเสื่อมร่างกาย ส่งผลต่อการทำงานของลิ้นหัวใจ ปิดเปิดไม่ดี มีหินปูนทำให้ลิ้นหัวใจแข็งตัว

นพ.ระพินทร์  กล่าวว่า ปัญหาของโรคเกิดจากกลไกการทำงานของหัวใจ ฉะนั้นยารักษาไม่ได้ จำเป็นต้องแก้ไขด้วยการทำให้ลิ้นหัวใจเปิดปิดได้ตามปกติ หากรั่วก็ต้องซ่อมให้หายรั่ว ซึ่งการรักษาลิ้นหัวใจ วิธีแรก คือการผ่าตัดเปิดหน้าอก ซึ่งทำกันมานานกว่า 30-40ปีถือเป็นวิธีการรักษามาตรฐาน ผู้ป่วยทั่วไปมักได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้ แต่จะมีป่วยผู้ส่วนหนึ่ง คือกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งมักมีโรคอื่นๆ ร่วมด้วย ทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดจากการผ่าตัดมากขึ้น เกินกว่าที่จะยอมรับ

นอกจากนี้ยังต้องประเมินด้วยว่า หลังจากผ่าตัดจะมีปัญหาแทรกซ้อนมากน้อยแค่ไหน เพราะหลายคนมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาตามมา  สมัยก่อนไม่มีทางเลือกก็ต้องยอมเสี่ยง  แต่ปัจจุบันวิวัฒนาการและเทคโนโลยีทางการแพทย์ดีขึ้น โดยมีการพัฒนาเทคนิค TAVI (Transcatheter Aortic  Valve Implantation) ที่ใช้สายสวนผ่านหลอดเลือดแดง ไม่ต้องผ่าตัดเปิดหน้าอกเหมือนในอดีต  โดยใช้สายสวนย้อนทางเส้นเลือดไปในตำแหน่งลิ้นหัวใจ

จากนั้นเอาลิ้นหัวใจเทียมเข้าไปทำหน้าที่แทนลิ้นหัวใจเดิมและสามารถทำหน้าได้ทันทีทำให้ ลิ้นหัวใจเปิดปิดได้ตามปกติ การสูบฉีดเลือดดีขึ้น โดยที่คนไข้ไม่ต้องดมยาสลบนาน ซึ่งเท่ากับเป็นการลดความเสี่ยงจากการดมยา ทำให้การฟื้นตัวเร็ว โอกาสที่เกิดปัญหาแทรกซ้อน อาทิ  สมองเสื่อม หรือโรคหลอดเลือดสมอง (สโตรก) ลดลง

ลิ้นหัวใจเสื่อมเปลี่ยนได้ไม่ต้องผ่า นพ.อรรถภูมิ สู่ศุภอรรถ และ นพ.ระพินทร์ กุกเรยา

นพ.อรรถภูมิ สู่ศุภอรรถศัลยแพทย์หัวใจและผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ อธิบายว่า

การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจแบบเปิดหน้าอกต้องใช้เวลาเตรียมการเยอะมาก ต้องใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม ต้องดมยานาน 4-5 ชั่วโมง ทำให้คนไข้ต้องใช้เวลาการพักฟื้นนาน 7-10 วัน มีอาการเจ็บแผลจากการผ่าตัด  ในขณะที่การใช้สายสวนไม่ต้องดมยา ไม่มีแผล ยกเว้นมีปัญหาแทรกซ้อน  และ 12 ชั่วโมงหลังผ่าตัดสามารถลุกขึ้นยืนได้ พร้อมที่จะฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจโดยนักกายภาพในวันถัดมาโดยใช้เวลา 2 -3 วันในการดูอาการที่โรงพยาบาลก่อนกลับบ้าน

โดยการเปลี่ยนลิ้นหัวใจด้วยวิธีผ่านสายสวนสามารถทำได้ โดยการสอดใส่สายสวนเข้าไปทางหลอดเลือดบริเวณขาหนีบ ไปยังหัวใจห้องล่างซ้าย ไปจนถึงตำแหน่งของลิ้นหัวใจเอออติกส์ จากนั้นจึงทำการปล่อยตัวลิ้นหัวใจที่ม้วนอยู่กางออก กลายเป็นลิ้นหัวใจใหม่ ซึ่งมี 2 รูปแบบ แบบแรกจะเป็นลิ้นหัวใจที่สามารถกางเองได้ มีลักษณะเหมือนสปริง แบบที่สอง จะใช้วิธีการแบบบอลลูนถางออก โดยลิ้นหัวใจจะทำมาจากเนื้อเยื้อหุ้มหัวใจวัวแบบเดียวกับที่ใช้ในการผ่าตัดแบบเปิดหน้าอก

ลิ้นหัวใจเสื่อมเปลี่ยนได้ไม่ต้องผ่า

ส่วนจะมีอายุการใช้งานยาวนานเท่ากับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจแบบเปิดหน้าอกหรือไม่นั้น ต้องศึกษากันต่อไป  คาดว่า อายุการใช้งานน่าจะใกล้เคียงกันเฉลี่ย 20 ปี แต่ปัจจุบันอายุการใช้งานแบบสวนเฉลี่ย 5 ปี การติดตามผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นไปได้ยาก เนื่องจากปัจจุบันคนไข้ที่เปลี่ยนลิ้นหัวใจด้วยวิธีนี้อายุเฉลี่ย  80 -90 ปี การติดตามผลไปจนถึง20 ปีนั้น นั่นหมายความว่า เขาต้องมีอายุ 115 ปีขึ้นไป ซึ่งเกินอายุขัยเฉลี่ยของคนทั่วไป

อย่างไรก็ตามในประเทศไทยการเปลี่ยนลิ้นหัวใจด้วยสายสวนเริ่มใช้ในประเทศไทย 5-6 ปีที่ผ่านมาจำนวนคนไข้จึงยังน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ข้อมูลจากทั่วโลกมีการใช้สายสวนเพื่อเปลี่ยนลิ้นหัวใจมีจำนวนหลายหมื่นคน  ยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา มีการใช้30,000-40,000 ราย เช่นเดียวกับยุโรปที่มีตัวเลขใกล้เคียงกัน ส่วนเยอรมัน 50,000 ราย แต่ด้วยราคาสายสวนที่มีราคาสูง จึงเป็นข้อจำกัดของคนไทยในการใช้วิธีการดังกล่าว แต่นิยมนำไปใช้กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงก่อนเป็นอันดับแรก

นพ.ระพินทร์  กล่าวเสริมว่า  ปัจจุบันมีแนวโน้มจะนำวิธีการใช้สายสวน (TAVI) มาใช้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงปานกลางมากขึ้น จากเดิมใช้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง แต่เงื่อนไขคืออายุ 75 ปีขึ้นไป เพราะถ้าอายุน้อยสามารถใช้วิธีการผ่าตัดแบบมาตรฐานเพราะ

ได้ผลดี อายุการใช้งานนาน แต่กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง อายุมากวิธีการใช้สายสวนน่าจะดีกว่า แผลเล็ก โอกาสติดเชื้อน้อย ฟื้นตัวเร็วสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ แต่ยังต้องมาตรวจตามที่แพทย์นัดเป็นระยะๆ พร้อมทั้งดูแลสุขภาพร่างกายออกกำลังกายให้เหมาะสม และพักผ่อนให้เพียงพอ

“เชื่อว่าในอนาคตวิธีการเปลี่ยนลิ้นหัวใจด้วยวิธีใช้สายสวนจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เพราะจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นและราคาอุปกรณ์ถูกลงกว่าครึ่ง ภายในระยะเวลา 5 ปีต่อจากนี้แต่สิ่งสำคัญคือควรตรวจร่างกายประจำปี ไม่จำเป็นต้องรอให้มีอาการ หากพบสิ่งผิดปกติ อย่าละเลยรีบทำการรักษา อย่ารอให้อาการรุนแรงแล้วค่อยมาพบแพทย์”

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร.1719

โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ