ย้อนรอยเส้นทาง ' Build to Be’ ผู้ประกอบการไทยหัวใจนวัตกรรม 'IDE Center'

ย้อนรอยเส้นทาง  ' Build to Be’  ผู้ประกอบการไทยหัวใจนวัตกรรม 'IDE Center'

 

ผู้ประกอบการคือพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ  แต่ในยุคที่โลกกำลังถูกป่วนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล พวกเขาต้องปรับตัวอย่างไร? 

นี่คือโจทย์ใหญ่ ที่นำไปสู่การจัดตั้งศูนย์การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation Driven Entrepreneur) หรือ IDE Center โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อปี 2559 

 

นวัตกรรมคือคำตอบ

IDE Center ถือเป็นวิสัยทัศน์ของ "รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์" อธิการบดี ม.หอการค้าไทย ที่มองว่า ชุดความรู้เดิม หรือศาสตร์เดิมๆ เช่น บริหารจัดการ หรือเอ็มบีเอ ไม่อาจตอบโจทย์โลกยุคใหม่ซึ่งมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันของธุรกิจในประเทศมหาอำนาจหรือประเทศที่พัฒนาแล้วในเวลานี้ต่างก็ว่าด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม

"หอการค้าไทยถือเป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนสาขาผู้ประกอบการเป็นแห่งแรกในประเทศไทย  แต่เมื่อ 5-6 ปีก่อน มองเห็นว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เรามีความจำเป็นจะต้องมีความรู้ใหม่ ๆเพื่อมาช่วยพัฒนา และยกระดับผู้ประกอบการไทย ต้องไม่คิดอย่างที่หลายคนเคยเชื่อกันมาว่าผู้ประกอบการที่เก่ง หรือเจ๋งมาจากพรสวรรค์หรือ Born To Be ในเวลานั้นก็เฝ้ามองและพยายามหาคำตอบมาโดยตลอดว่า  จะมีศาสตร์ใดมาช่วยทำให้ผู้ประกอบการทันสมัย ทันต่อโลก"

ในปี 2557 รศ.ดร.เสาวณีย์  มีโอกาสได้รู้จักกับหลักสูตรของศาสตราจารย์ "Bill Aulet" ผู้เขียนหนังสือ Disciplined Entrepreneurship: 24 steps to a Successful Startup และเป็นผู้อำนวยการของ ศูนย์ The Martin Trust Center for MIT Entrepreneurship และเมื่อได้ลงเรียนจริง ๆก็พบว่าเป็นหลักสูตรที่ใช่

ประการสำคัญได้รับคำยืนยันว่าผู้ประกอบการที่เก่งและพร้อมจะแข่งขันในโลกยุคใหม่ต้องโดดเด่นเรื่องนวัตกรรม และ  Build to Be หรือ “สอนได้(Can be taught)” ในหมายเหตุว่าไม่ใช่รูปแบบการสอนโดยทั่วไป คือมีความยากมาก ต้องทุ่มเทมาก อย่างไรก็ดีสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) หรือ MIT ใช้ระยะเวลายาวนานถึง 20 ปีเพื่อพิสูจน์ว่ามันสามารถทำได้

โดยสรุป "สมการทางนวัตกรรม" ในความหมายของ MIT ก็คือ Innovation =Invention x Commercialization

ย้อนรอยเส้นทาง  \' Build to Be’  ผู้ประกอบการไทยหัวใจนวัตกรรม \'IDE Center\'

3 S’ รหัสแห่งความสำเร็จ

จึงไม่น่าแปลกใจว่ากว่าจะก่อต้้ง  IDE Center ขึ้นได้ก็ต้องผ่านขั้นตอนมากมาย ให้ตรงตามมาตรฐานการสร้างผู้ประกอบการนวัตกรรมฉบับ MIT ซึ่งมีหัวใจสำคัญว่าด้วย “3 S”

S ตัวแรก คือ " Stakeholder" ประกอบด้วย ผู้ประกอบการ (Entrepreneurs),ภาครัฐ (Government),ภาคเอกชน (Corporate),ภาคเงินทุน (Risk Capital)และมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษา(University)

หมายถึง IDE Center จะต้องมีผู้มีส่วนได้เสียทั้ง 5 กลุ่ม ที่ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการสร้างระบบนิเวศของผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม (IDE Ecosystem) ขึ้นมา เมื่อจับมือได้ครบแล้ว จึงสามารถเข้าไปสู่กระบวนการอบรมองค์ความรู้ หลักการของผู้ประกอบการนวัตกรรมที่มีอยู่ด้วยกัน 24 ขั้นตอน (24 Steps of Disciplined Entrepreneurship)

S ตัวที่สอง " System" ต้องมีการพัฒนาผู้ประกอบการ 2 ด้าน นั่นคือ Innovation Capability กับ Entrepreneur Capability ที่ต้องมีความสมดุลไม่มากหรือน้อยไปในด้านใดด้านหนึ่ง 

ซึ่งพบว่าผู้ประกอบการไทย ยังมีขีดความสามารถด้านนวัตกรรมที่ค่อนข้างต่ำมาก  คนไทยเก่งค้าขาย เก่งธุรกิจ ทางกลับกันในบางประเทศอย่างเช่นเกาหลี หรือญี่ปุ่นนั้นมีขีดความสามารถด้านนวัตกรรมสูงหากแต่ขีดความสามารถด้านผู้ประกอบการกลับต่ำ   ต้องหาทางผนวกความสามารถด้าน I กับ E ให้กลมกลืน  โดยอาจทำได้หลายวิธีเช่น การบูรณาการหลักสูตรระหว่าง Food Scienceหรือ Marketingเข้าไว้ด้วยกัน เป็นต้น

S ตัวที่สาม "Strategy"ว่าด้วยกลยุทธ์   ต้องบอกว่าตลอดระยะเวลาสองปีที่ดำเนินการผ่านมา  IDE Center ได้ขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆแล้วมากมาย ทั้งภายในรั้วม.หอการค้าไทย และนอกรั้วมหาวิทยาลัย

 

เริ่มต้นที่ Mindset

"ดร.ศักดิพล เจือศรีกุล" ผู้อำนวยการ IDE Center เล่าว่า ภายในรั้วม.หอการค้าไทยนั้นขับเคลื่อนโดยเปิดสอนวิชาการประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม หรือ IDE 101 เป็นวิชาบังคับให้กับนักศึกษาปีที่ 1 ทุกคน ในทุกคณะ

วิชาดังกล่าวเป็นการบูรณาการแนวคิดกระบวนการ 24 ขั้นตอนของการสร้างธุรกิจ ของ MIT ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทม.หอการค้าไทยจึงได้เพิ่มสเต็ป zero ประกอบด้วยการสำรวจค้นหา (exploration) และการทดลอง (experiment) และการลงมือทำ (execute) ที่นำไปสู่ไอเดีย หรือนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการ วิชานี้เป็นการเรียนที่ไม่มีการสอบ แต่มุ่งเน้นการเรียนการสอนแบบ Projected Based Learning ให้นักศึกษาจัดทีมขึ้นมาคิดแผนธุรกิจและขายไอเดีย (pitching)

"จากที่เปิดสอนเด็กไปแล้ว 1 รุ่นถือได้ว่าวิชา IDE 101ประสบความสำเร็จ  แผนต่อไปก็คือ เรากำลังเตรียมออกแบบวิชา IDE 102  ที่เปิดให้เลือกเสรี  นักศึกษาเลือกเรียนได้ตามความสมัครใจไม่บังคับ  จากนั้นเราจะสร้างหลักสูตรที่ให้เด็กทุกคนเลือกเรียนได้เรียนทุกปี เทอมละ 1 ตัวตั้งแต่ปีหนึ่งไปจนเรียนจบปีที่สี่"

รวมถึงยังได้ใช้เขตห้วยขวางสถานที่ตั้ง ม.หอการค้าไทย เป็นโจทย์ให้นักศึกษาคิดหาไอเดียทางธุรกิจ และใช้เวลาเรียนทั้งหมด 3 เดือน หลังจากนั้นก็มานำเสนอไอเดียเพื่อแข่งขันกันบนเวที  “HuayKwang Innovation Challenge”

"เราเชื่อว่าที่ซิลิคอนวัลเลย์เกิดขึ้นมาเพราะการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ชุมชนที่อยู่รอบ ๆ  นักศึกษาก็ต้องไปทำความรู้จัก เข้าใจถึงปัญหาของคนในชุมชนซึ่งในอนาคตก็อาจเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ในเวลาเดียวกันคนในชุมชนห้วยขวางก็สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากมหาวิทยาลัยของเราได้เช่นกัน และมันก็จะเกิด ห้วยขวางวัลเลย์ ห้วยคือวัลเลย์  เราชอบชื่อห้วยขวางเพราะมันให้ความรู้สึกคล้ายกับผู้ประกอบการที่กว่าจะสำเร็จได้ต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆมากมาย"

ดร.ศักดิพลย้ำว่าธุรกิจเอสเอ็มอีหรือสตาร์ทอัพไม่สำคัญ แต่ทำไปนานวันทุกธุรกิจก็มักถึงทางตัน จึงจำเป็นต้องมองหาธุรกิจที่อยู่บนพื้นฐานของนวัตกรรม และโมเดลบิสิเนสใหม่ ๆที่นอกจากจะเติบโตและขยายตัวได้อย่างรวดเร็วแล้ว ยังมีความยั่งยืนด้วย

ย้อนรอยเส้นทาง  \' Build to Be’  ผู้ประกอบการไทยหัวใจนวัตกรรม \'IDE Center\'
ในการสร้างผู้ประกอบการนวัตกรรมนั้นเป็นเหมือนกับการสร้างปิระมิด ตรงฐานข้างล่างต้องมีขนาดใหญ่ หมายถึงการปลูกฝัง Mindset เรียกว่าจำนวนคนยิ่งเยอะก็ยิ่งดี เพราะกว่าจะไปปลายยอดปิระมิดได้ ที่สุดก็เหลือเพียงผู้ประกอบการเพียงแค่หยิบมือที่สามารถสร้างธุรกิจที่ทำซ้ำ (repeatable) และสเกลได้ (scalable)

ย้อนรอยเส้นทาง  \' Build to Be’  ผู้ประกอบการไทยหัวใจนวัตกรรม \'IDE Center\'
เปิด 3 เวทีแข่งแผนธุรกิจ

ส่วนด้านการขับเคลื่อนนอกรั้วมหาวิทยาลัย ก็คือ โครงการบ่มเพาะ IDE Accelerator”  ทีมที่คิดว่ามีไอเดียดี ไอเดียเด็ดก็เสนอตัวเข้ามา หากได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ ทีมจะได้รับคำแนะนำจากทีมโค้ชและผู้เชี่ยวชาญจาก MIT ภายในระยะเวลา 4 เดือน เพื่อเพิ่มศักยภาพได้พัฒนาแนวคิดเชิงนวัตกรรม ทดสอบตลาดจริงเพื่อเข้าใจ และวิเคราะห์ลูกค้าคนแรกของตลาดแรก และพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค  จากนั้นก็มีเวทีให้โชว์ไอเดียเพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุนและได้รับทุนเพื่อเริ่มกิจการแบบฉบับ IDE โดยมีเวทีให้แข่งขัน 3 เวที ดังนี้

1.กะเทาะเปลือก คือ การแข่งขันด้านนวัตกรรมของผู้ประกอบการที่ใหญ่ที่สุดอีกเวทีหนึ่งของประเทศไทย จัดขึ้นเพื่อมองหาโครงการหรือธุรกิจที่มีศักยภาพสูง และจัดในรูปแบบการแข่งขันเป็น "ภาษาไทย" โดยการแข่งขันนี้ทีมจากทั่วประเทศจะได้นำเสนอโครงการที่มีวิธีแก้ไขปัญหาด้วยการใช้นวัตกรรมสู่การแก้ไขปัญหาที่สำคัญในสังคม และเป็นโอการในการเสริมสร้างแรงบันดาลใจ เฟ้นหาความคิดใหม่ ๆ พัฒนาทีมให้มีศักยภาพ และสนับสนุนชุมชนนวัตกรรมของ IDE

2.Global Social Venture Competition (GSVC-SEA) หรือ GSVC คือการแข่งขันการประกวดแผนธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งเริ่มขึ้นในปี 2550 โดยความร่วมมือระหว่าง GSVC และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (University of California, Berkeley) เพื่อกระตุ้นการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อสังคม และเป็นเวทีแข่งขันในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมในภูมิภาคได้นำเสนอแผนธุรกิจแก่นักลงทุนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อสังคม โดยทีมต่าง ๆ จากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับการคัดเลือกจะมีโอกาสเข้าร่วมในรอบชิงชนะเลิศ (GSVC Global Finals) ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ สำหรับในปีที่ผ่านมามีทีมเข้าร่วมการแข่งขัน GSVC-SEA ทั้งจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกกลาง และโอเชียเนีย และคิดเลือก 2 ทีมเพื่อเข้าแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์

3.MIT Enterprise Forum ประเทศไทย (MITEF) เป็นเวทีสำคัญในการเชื่อมต่อผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมจากทั่วโลก โดยใช้องค์ความรู้ตามแนวทาง IDE ของ MIT เพื่อช่วยบ่มเพาะผู้ประกอบการและทีมที่เข้าแข่งขันให้สามารถเปลี่ยนไอเดียเป็นธุรกิจที่สามารถเปลี่ยนโลกได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ผลักดันทีมให้สามารถเข้าถึงวามรู้เชิงปฏิบัติ การฝึกอบรมและพัฒนา และทรัพยากร เพื่อนำธุรกิจไปสู่ขั้นต่อไป ไปจนถึงการยกระดับความรู้ธุรกิจใหม่และความเชี่ยวชาญของ MIT เพื่อเข้าถึงเครือข่ายของ MIT Enterprise Forum ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมจากทั่วโลก สำหรับ MITEF ประเทศไทยในปีที่ผ่านมามีจำนวนผู้สมัครมากกว่า 40 ทีม จากประเทศไทย เวียดนาม ลาว กัมพูชา และสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า และได้คัดเลือกทีมที่มีศักยภาพทางด้านนวัตกรรม 3 ทีม เพื่อเข้าร่วมMITEF Booth Camp ที่ MIT ประเทศสหรัฐอเมริกา

 

มองรอบด้านสู่ความยั่งยืน

"ที่สุดแล้วผมมองว่า ในระบบนิเวศต้องถูกขับเคลื่อนให้เป็นระนาบเดียวกัน  นวัตกรรมเป็นเรื่องที่ต้องมองรอบด้าน เวลานี้โครงการและโปรแกรมที่ให้การสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการก็มักจะกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพ ในหัวเมืองใหญ่  ถ้าหากเป็นอย่างนี้ต่อไปมันจะเกิดแก็บ เกิดช่องว่างระหว่างคนข้างหน้ากับคนที่อยู่ข้างหลังมากยิ่งขึ้น ที่สุดมันก็ไม่เกิดความยั่งยืน"

ดังนั้น อีกหนึ่งโครงการที่ถูกริเริ่มขึ้นมา ก็คือ IDE Regional Boot camp”  ค่ายสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จัดขึ้นในจังหวัดที่เป็น “เมืองรอง” เมืองที่เคยเป็นม้านอกสายตา

"เราจัดครั้งแรกที่จังหวัดแพร่  โดยเราไปมองหาคนที่เป็น IDE  Champion เป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพแล้วมอบโจทย์ให้เขาไปหาผู้มีส่วนได้เสียให้ครบ 5 กลุ่ม จากนั้นก็จะไปอธิบายถึงแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างระบบนิเวศ และแนวทางของการเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรม ถ้าเขาสามารถสร้างทีมได้ก็มาแข่งในเวทีของเราได้เช่นเดียวกัน ทั้งหมดนี้เพราะเราอยากไปช่วยรากหญ้า อยากเปลี่ยน Mindset อยากทำให้เขารู้ว่า นวัตกรรมไม่ได้หมายถึงเทคโนโลยีเสมอไป  เทคโนโลยีเป็นเพียงแค่เครื่องมือเท่านั้นเอง และทำให้เกิดความเข้าใจถึงกระบวนการของ IDE  เข้าใจใน3 S  "

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา  IDE Center ได้มีการเผยแพร่องค์ความรู้ และปลูกฝัง Mindset ของการเป็นผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม รวมถึงกระบวนการ Design Thinking ให้กับอาจารย์ผู้สอนระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ อีกมากมายและเป็นตามแนวทางของ MIT ที่บอกว่า Stakeholder คือ 1 ใน 3 ของ S ที่มีความสำคัญ

นอกจากนี้ยังร่วมมือกับกระทรวงการคลัง ดร.ศักดิพล ได้เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งชื่อว่า "สูตรลับผู้ประกอบการฉบับนักเรียน" เพื่อปลูกฝังแนวคิดนี้ไปยังเด็กระดับมัธยมปลาย อีกด้วย ย้อนรอยเส้นทาง  \' Build to Be’  ผู้ประกอบการไทยหัวใจนวัตกรรม \'IDE Center\' ดาวน์โหลด E-Book หนังสือ “สูตรลับผู้ประกอบการฉบับนักเรียน”

อย่างไรก็ดี ดร.ศักดิพล  บอกว่าอีกหนึ่งกิจกรรมที่ถือว่าเป็นไฮไลท์ในปีนี้ก็คือ  IDE Center ม.หอการค้าไทยจับมือกับ MIT และได้รับภารกิจเป็นเจ้าภาพจัดงาน “Asia – MIT  Inclusive Innovation Challenge”  ในวันที่ 24 เดือนสิงหาคมนี้  ผู้สนใจคลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://mitinclusiveinnovation.com/regions/asia/