“อย่าให้ใครว่าไทยฟุ้งเฟ้อ” มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม บ่มเพาะคนรุ่นใหม่เตรียมความพร้อมบัณฑิตไทย

“อย่าให้ใครว่าไทยฟุ้งเฟ้อ” มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม บ่มเพาะคนรุ่นใหม่เตรียมความพร้อมบัณฑิตไทย

 

มรภ.นครปฐมร่วมกับมูลนิธิมั่นพัฒนาในนามเครือข่ายอนาคตไทย สมาคมนักวางแผนการเงินไทย (TFPA) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาชิกเครือข่ายฯ ประชุมหารือการพัฒนาหลักสูตรการบริหารจัดการเงินให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม พร้อมผลักดันเข้าสู่ระบบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยฯ

เครือข่ายอนาคตไทยเป็นการรวมตัวกันของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการรณรงค์ระดับประเทศ Thailand Campaign ภายใต้ชื่อ "อย่าให้ใครว่าไทย" ซึ่งเป็นโครงการที่มีจุดมุ่งหมายที่จะกระตุ้นให้คนไทยปรับเปลี่ยนทัศนคติลดเลิกพฤติกรรมเชิงลบ (ฟุ้งเฟ้อ ขี้โกง มักง่าย ไร้สติ) โดย 6 องค์กรหลักผู้ริเริ่ม ได้แก่ มูลนิธิมั่นพัฒนา สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรมประชาสัมพันธ์ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและสภาหอการค้าไทย ปัจจุบันมีภาคีเครือข่ายทั้งสิ้นจำนวน 120องค์กร

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมหนึ่งในสมาชิกเครือข่ายอนาคตไทย จ.นครปฐม ร่วมมือกับองค์กรภาคีเครือข่ายอนาคตไทยพัฒนาหลักสูตรการบริหารจัดการเงินเข้าสู่ระบบการเรียนการสอนด้วยมีความสอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาบัณฑิตให้มีอัตลักษณ์ 4 ประการ ได้แก่ พอเพียง มีวินัย สุจริต มีจิตอาสา เพื่อเป็นการสืบสานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หนึ่งในศาสตร์ของพระราชาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเพื่อเป็นแนวร่วมในการรณรงค์ "อย่าให้ใครว่าไทยฟุ้งเฟ้อ" เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนไทยและประเทศไทย

​ดร.วิรัตน์  ปิ่นแก้ว  อธิการบดี มรภ.นครปฐม กล่าวว่า การให้ความรู้และสร้างทักษะในการบริหารจัดการเงินเป็นการพัฒนานักศึกษาให้มีความพร้อมและความเข้มแข็งในการใช้ชีวิต ทั้งขณะที่ยังศึกษาอยู่ และภายหลังที่จบการศึกษาไปแล้ว เนื่องจากพื้นฐานชีวิตของนักศึกษาของมหาวิทยาลัยฯ แห่งนี้ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวเกษตรกรและอาชีพรับจ้าง  มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ไม่ดีนัก ปัจจุบันมรภ.นครปฐม มีจำนวนนักศึกษาทั้งหมดกว่า 10,000 คน มีภูมิลำเนาอยู่ใน จ.นครปฐมและจ.ใกล้เคียง เช่น ราชบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี เป็นต้น  และนักศึกษากว่า 50% กู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)  ซึ่งการขับเคลื่อนภารกิจในครั้งนี้ได้มอบหมายให้สำนักศิลปะและวัฒนธรรม และกองพัฒนานักศึกษา เป็นผู้ดำเนินการโดยทำงานบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยฯ

​“มหาวิทยาลัยฯ มีค่านิยมหลักประการหนึ่ง คือ การสร้างเครือข่ายการทำงานและการสื่อสารหลากหลายรูปแบบ (Network and Communication) การทำงานกับเครือข่ายอนาคตไทยและองค์กรสมาชิกเครือข่ายฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจและประสบการณ์ด้านการให้ความรู้การบริหารจัดการเงินโดยตรง จึงเป็นผลดีต่อมหาวิทยาลัยฯ ถือเป็นการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกับหลายภาคส่วนและใช้พลังเครือข่ายในการขับเคลื่อนนโยบายให้บรรลุผล อีกทั้งเครือข่ายอนาคตไทยมีแนวคิดที่มุ่งสร้างสรรค์สังคมไทยให้มีค่านิยมที่ดีงาม การร่วมงานกันจึงยิ่งหนุนเสริมเรื่องเหล่านี้ให้มีความเข้มแข็งและเข้มข้นมากยิ่งขึ้นได้”      ดร.วิรัตน์ กล่าว

​ โดยสำนักศิลปะและวัฒนธรรม และกองพัฒนานักศึกษา มรภ.นครปฐม ร่วมกับ มูลนิธิมั่นพัฒนา จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างเสริมทักษะด้านการเงินของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม และได้เชิญองค์กรเครือข่ายฯ ได้แก่สมาคมนักวางแผนการเงินไทย (TFPA) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมแชร์ประสบการณ์การให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการเงินและให้ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาหลักสูตรของ มรภ.นครปฐม พร้อมด้วยอาจารย์ผู้มีประสบการณ์การสอนการบริหารจัดการเงินโดยตรง ได้แก่ ผศ.อัยยญาดา คารวรัตนพิเชฐ จากมหาวิทยาลัยพายัพ และ อ.ดุสิต จักรศิลป์ จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มาร่วมแชร์ความรู้ และประสบการณ์เกี่ยวกับรูปแบบการเรียนการสอนและเนื้อหาวิชาของหลักสูตรการบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคลเพื่อให้ มรภ.นครปฐมได้นำไปพัฒนาหลักสูตรได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีทีมงานจากกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เข้าร่วมสังเกตการณ์

​"เรื่ององค์ความรู้คงไม่น่าเป็นห่วง แต่ความสำคัญอยู่ที่การเลือกสรรว่าจะหยิบเอาเนื้อหาตรงไหนมาใช้ ผมมองว่า มรภ.นครปฐม คงไม่สามารถนำเอาองค์ความรู้ที่มีอยู่แล้วไปใช้ได้เลยทันที แต่ควรต้องมีการ Localize ปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับบริบท ตอบโจทย์ความต้องการของนักศึกษาของตนเอง รวมถึงต้องแปลงองค์ความรู้นั้นออกมาเป็นรูปแบบและกิจกรรมของการเรียนการสอนที่น่าสนใจ" คุณมนต์ชัย เปี่ยมพงศ์สุข ผู้อำนวยการสมาคมนักวางแผนการเงินไทย แสดงความคิดเห็น

​ สอดคล้องกับความเห็นส่วนใหญ่ของภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมประชุม ซึ่งล้วนมีประสบการณ์ตรงในการให้ความรู้กับเยาวชนในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ โดยพบว่า เด็กส่วนใหญ่มักมองเรื่องการบริหารจัดการเงินเป็นเรื่องไกลตัว ดังนั้นในการปลูกฝังทักษะชีวิตในเรื่องนี้จึงไม่ควรเป็นแค่การบรรยายหน้าห้องแต่ต้องเป็นลักษณะการเล่าเรื่อง มีกิจกรรมจำลองสถานการณ์จริงให้เด็กได้ทดลองปฏิบัติจริง หรือใช้สื่อ เช่น คลิปวิดีโอเรื่องราวที่ทำให้เห็นภาพของเหตุและผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น เพื่อช่วยสร้างความตระหนักถึงการ รู้หา รู้เก็บ รู้ใช้ รู้ต่อยอดและรู้แบ่งปัน ให้กับเด็กๆ ได้อย่างแท้จริง  ประกอบกับองค์ความรู้การบริหารจัดการเงิน ว่าด้วยการหารายได้ การใช้จ่ายเงิน การทำบัญชีรายรับรายจ่าย การออมเงิน การบริหารหนี้ และการลงทุน ฯลฯ นั้นถือเป็นทักษะสำคัญของชีวิต ที่ควรได้รับการฝึกวินัยกันตั้งแต่เด็กๆ  เพราะเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้สังคมไทย เศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็งและเติบโตได้อย่างยั่งยืน  ดังนั้นจึงมีหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้พัฒนาองค์ความรู้ดังกล่าวขึ้นมาเป็นจำนวนมากซึ่งสามารถค้นหาได้โดยง่ายทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ทั้งยังได้เปิดกว้างให้ทุกคนนำเอาไปใช้หรือนำไปเผยแพร่ต่อได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

​นายญาณภัทร ยอดแก้ว ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.นครปฐม กล่าวสรุปว่า ในระยะเริ่มต้นของการขับเคลื่อนเรื่องนี้จะทำผ่านรายวิชาจริยธรรมและทักษะชีวิตโดยนำเนื้อหาด้านการบริหารจัดการเงินซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิตในยุคปัจจุบันเข้ามาเพิ่มเติมซึ่งนักศึกษาจะได้เรียนเนื้อหาเหล่านี้ประมาณ 3 สัปดาห์ และเสริมด้วยกิจกรรมการเรียนรู้อื่นๆ อีก เช่น โครงการจิตอาสาสอนการทำบัญชีครัวเรือนในท้องถิ่นซึ่งนักศึกษาจะต้องเข้าไปสอนคนในชุมชนให้ทำบัญชีครัวเรือน กิจกรรมอบรมเตรียมความพร้อมบัณฑิตใหม่ด้านการบริหารการเงินส่วนบุคคล เป็นต้น

​"ขั้นตอนต่อไปคือ สำนักศิลปะและวัฒนธรรมฯ จะประสานกับส่วนงานภายในมรภ.นครปฐม เช่น อาจารย์ภาควิชาการเงิน เพื่อตกผลึกเนื้อหาหลักสูตรที่เหมาะสมกับบริบทของเรา จากนั้นก็จะขอความร่วมมือจากเครือข่ายฯ มาช่วยวิพากษ์หลักสูตร รวมถึงมาช่วยอบรม ถ่ายทอดเนื้อหา เทคนิคการสอน วิธีการติดตามผลและประเมินผล หรือ Train the Trainer อีกครั้ง ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าเราจะพัฒนาหลักสูตรนี้แล้วเสร็จและนำเอามาสอนได้ทันในช่วงเปิดภาคเรียนที่ 1 เดือนสิงหาคมนี้ และหากมีการจัดทำเนื้อหารายวิชาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เราจะได้มีการขยายผลไปยังเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ผ่านสภาศิลปะและวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยราชภัฏ โดยอาจจะเริ่มนำร่องขยายผลในสถาบันการศึกษาเครือข่ายในภูมิภาคตะวันตกก่อน แต่ทั้งนี้ ควรมีการศึกษาว่าเนื้อหาการเรียนรู้ดังกล่าวมีผลที่ดีอย่างไร ซึ่งจะต้องมีการประเมินผลการจัดการเรียนรู้ต่อไป" นายญาณภัทร กล่าว

​นอกจากการรณรงค์“อย่าให้ใครว่าไทยฟุ้งเฟ้อ”ในภาพกว้างของสังคมแล้ว การทำงานเชิงลึกเพื่อสร้างทักษะด้านการบริหารจัดการเงินให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่โดยผ่านสถานศึกษาหรือหน่วยงานที่มีภารกิจโดยตรงนั้น ถือเป็นภารกิจสำคัญของเครือข่ายอนาคตไทยที่จะเดินหน้าจุดประกาย ผลักดัน และเสริมหนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความยั่งยืนต่อไปให้กับสังคมไทย

ท่านสามารถติดตามข่าวสาร และสื่อรณรงค์ “อย่าให้ใครว่าไทย” ของเครือข่ายอนาคตไทยได้ที่ Facebook "เครือข่ายอนาคตไทย" (https://www.facebook.com/เครือข่ายอนาคตไทย) และสามารถ ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน คิดดี...มีตังค์ ได้แล้วที่ App Store / Play Store หรือ Scan QR Code เพื่อ Download Application

“อย่าให้ใครว่าไทยฟุ้งเฟ้อ” มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม บ่มเพาะคนรุ่นใหม่เตรียมความพร้อมบัณฑิตไทย