จุดประกาย “จิตวิญญาณ” จาก “วิทยาศาสตร์” สู่นวัตกรรม การพัฒนา และความยั่งยืน

จุดประกาย “จิตวิญญาณ” จาก “วิทยาศาสตร์” สู่นวัตกรรม การพัฒนา และความยั่งยืน

 

หลายคนอาจไม่เคยคิดว่า “วิทยาศาสตร์” เป็นสิ่งที่อยู่ในจิตวิญญาณของมนุษย์เราทุกคนมาตั้งแต่เกิด และจิตวิญญาณเหล่านี้เอง ก็นำมาสู่การค้นหาคำตอบ ผ่านการทดลอง ค้นคว้า จนเกิดเป็นองค์ความรู้ที่นำมาสู่การพัฒนาในเรื่องนวัตกรรม เทคโนโลยี ฯลฯ ส่งผลให้เกิดความเจริญก้าวหน้าที่ช่วยสร้างประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติอย่างมากมาย แต่ในขณะเดียวกันก็กลับสร้างผลกระทบต่อสังคมของเราไม่น้อยเช่นกันสิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้เห็นว่ามนุษย์ และวิทยาศาสตร์มีความเกี่ยวข้องกันอย่างมีนัยสำคัญ และเรื่องวิทยาศาสตร์ก็เป็นเรื่องใกล้ตัวของเราทุกคน ด้วยเหตุนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธยุทธวงศ์นักวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าของไทย กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา และอดีตรองนายกรัฐมนตรี จึงจุดประกายแนวคิดดังกล่าวผ่านการถ่ายถอดเรื่องราวจากจิตวิญญาณของวิทยาศาสตร์ผ่านหนังสือ Sparks from the Spirit: From Science to Innovation, Development and Sustainability”หนังสือที่มีความตั้งใจจะให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจต่อวิทยาศาสตร์อย่างถ่องแท้ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงบทบาทต่อการสร้างนวัตกรรม ตลอดจนโอกาสในการนำวิทยาศาสตร์ไปแก้ไขปัญหา และอุปสรรคในการพัฒนาสังคม เพื่อก่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริงซึ่งได้มีการเปิดตัวหนังสือไปเมื่อเดือนมีนาคม 2561ที่ผ่านมา ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร

ภายในงานได้รับเกียรติจาก ดร.สุวิทย์เมษินทรีย์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เป็นประธานเปิดงาน  ดร.สุวิทย์ กล่าวว่าวิญญาณของวิทยาศาสตร์มีอยู่ในตัวคนทุกคนไม่มากก็น้อย โดยวิญญาณสามารถส่องประกายออกมาเป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ส่งผลให้สังคมเกิดการพัฒนาด้านต่างๆ ไม่ว่า ด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การค้าขายและด้านอื่นๆ  ซึ่งนอกจากวิทยาศาสตร์จะนำไปสู่สินค้าและบริการสมัยใหม่แล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน  อันเป็นเป้าหมายของชาวโลกที่สหประชาชาติระบุว่าควรบรรลุให้ได้ภายในปีค.ศ.2030 โดยจะต้องมีความร่วมมือกับผู้บริหารนโยบาย ผู้ประกอบการ บุคลากรภาครัฐและประชาชนทั่วไปด้วย นอกจากประกายที่ส่องมายังการพัฒนาที่ยั่งยืนแล้ว ยังมีประกายที่ส่งผลมายังคนยากจน ส่งมายังการศึกษา รวมทั้งภัยและความเสี่ยงอันอาจเกิดจากประกายที่ไม่คาดคิดมาก่อนอีกด้วย

“จิตวิญญาณแห่งความเป็นวิทยาศาสตร์ฝังอยู่กับมนุษย์ทุกคน เพราะมนุษย์เกิดมาจากความสงสัย อยากรู้อยากเห็น อยากลอง และมนุษย์มีลักษณะเป็นตรีมูรติคือเป็นทั้งผู้สร้าง ผู้รักษา และผู้ทำลายไปพร้อมกัน ฉะนั้น โลกในศตวรรษที่ 21 จึงอยู่ได้ด้วยนวัตกรรมที่ต้องพัฒนาไปเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะกับทุกคนและสามารถเป็นแรงบันดาลใจ ช่วยบ่มเพาะให้เด็กและเยาวชนเป็นคนที่มีเหตุผลเพื่อเป็นพื้นฐานด้านทรัพยากรมนุษย์ที่ดีสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนได้”

ในขณะที่ผู้เขียนศ.ดร.ยงยุทธกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการเขียนหนังสือเล่มนี้ไว้ว่าเกิดขึ้นจากมุมมองของตนเองที่อยู่ในประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา จุดประสงค์เพื่อต้องการที่จะบอกว่าวิทยาศาสตร์อยู่ในตัวคนทุกคน เกิดจากความอยากรู้อยากเห็น อยากลอง ทำให้เกิดการค้นพบสิ่งต่างๆ มากมาย เมื่อมาร่วมกันกับส่วนอื่นๆ ในสังคม จึงทำให้เกิดการพัฒนาขึ้นมาอย่างยั่งยืนที่ชาวโลกกำลังมองหาได้ในที่สุด ซึ่งหากจะไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้ภายใน 10 ปีข้างหน้า จะต้องพึ่งพาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นการช่วยสร้างประกายให้เกิดขึ้น

“วิญญาณคือ ความอยากรู้อยากเห็น และอยากลองซึ่งมีอยู่ในมนุษย์ทุกเชื้อชาติและภาษาตั้งแต่โบราณมา เพราะพื้นฐานของมนุษย์นั้นประกอบด้วยวิญญาณ 2ส่วนคือ วิญญาณของการมีวินัย ซึ่งจะเชื่อฟังคำสอนของผู้ใหญ่ที่ทำให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องที่มีผู้อื่นค้นพบไว้แล้ว อีกส่วนคือ วิญญาณของขบถเป็นความไม่พอใจ ไม่เชื่อ แต่ทำให้เราแสวงหาและลงมือทำสิ่งใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นพื้นฐานก่อให้เป็นประกายการพัฒนาเป็นนักวิทยาศาสตร์ต่อไป”

สำหรับประกายจากวิญญาณของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้เขียนหนังสือ Sparks from the Spiritได้แยกออกเป็น 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือ ประกายความคิดที่นำไปสู่การค้นพบ อีกด้านหนึ่งคือ ประกายนวัตกรรม ที่นำไปสู่สิ่งใหม่ๆ ซึ่งการค้นพบนวัตกรรมได้ทำให้เกิดความรู้และการประยุกต์ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า รากฐานของวิญญาณนี้จะคล้ายกับผู้ซื่อสัตย์ 6 คนของกวีรัดยาร์ดคิปลิง คือ อะไร ทำไม เมื่อไร อย่างไร ที่ไหน และใคร เป็นผู้ซื่อสัตย์ที่หากเราชุบเลี้ยงเขามาตั้งแต่เด็ก จะติดตามมารับใช้เราตลอดชีวิต เสริมวิญญาณของเรา และช่วยก่อให้เกิดประกายมหัศจรรย์ขึ้นได้ ฉะนั้นเราจึงควรปลูกฝังผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ทั้งหกคนนี้ให้แก่เด็กเพื่อให้พวกเขาเป็นผู้ที่มีความคิดบนหลักของเหตุและผลเสมอ รวมถึงสามารถใช้ชีวิตอยู่กับหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ในโลกสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี

ท่ามกลางความสำเร็จของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในอีกด้านหนึ่งก็ได้ก่อให้เกิดปัญหาต่อโลกและสังคมมนุษย์จากผลกระทบที่ไม่ได้คำนึงถึงมาก่อนเช่นกันไม่ว่าจะเป็นปัญหามลภาวะ โลกร้อน ประชากรล้นโลก ความเหลื่อมล้ำในสังคมที่มากขึ้น ปัญหาต่างๆเหล่านี้ทำให้ชาวโลกลุกขึ้นมาหาแนวทางแก้ไขใหม่ที่จะนำโลกไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการบูรณาการศาสตร์อื่นๆเข้าด้วยกัน

“การมีจิตวิญญาณของวิทยาศาสตร์ สามารถเชื่อมโยงและส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน  ซึ่งคนไทยได้เรียนรู้จากวิถีชีวิตที่ผ่านมา และจากปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรได้ทรงให้ความสำคัญและมีตัวอย่างต่างๆ เป็นแนวทางแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน  สามารถใช้เป็นกรอบการตัดสินใจดำเนินการต่าง ๆ ภายใต้หลักของความพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันตลอดมา”

ก่อนและหลังความยั่งยืน : บทบาทของวิทยาศาสตร์

ภายในงานเปิดตัวหนังสือมีช่วงการอภิปรายถึงบทบาทของวิทยาศาสตร์ โดยได้รับเกียรติจากนักวิชาการหลากหลายสาขารศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศอธิการบดีกิตติคุณมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์กล่าวว่าการเกิดประกายวิทยาศาสตร์และความรู้เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับมนุษย์ เพราะสามารถส่งผลทั้งด้านบวกและด้านลบแต่การที่จะแก้ปัญหาโลกให้ดีขึ้นได้คนรุ่นใหม่ควรมีมุมมองแบบ “Outward Mindset”หรือ “คิดถึงผู้อื่นก่อนตนเอง"  ด้วยการมองว่าตนเองสามารถสร้างผลกระทบอะไรให้เกิดขึ้นกับสังคมและคนรอบตัวได้บ้าง เนื่องจากปัจจุบันปัญหาในโลกส่วนใหญ่เกิดจากการมองคนอื่นว่ามีผลต่อตัวเราอย่างไรมากกว่า  หากแต่การคิดถึงผู้อื่นก่อนจะทำให้เกิดการแบ่งปัน และความร่วมมือ ซึ่งจะส่งผลให้โลกดีขึ้นกว่าเดิม

“หนังสือเล่มนี้เป็น Masterpiece ของประเทศไทยและเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ได้ดีมาก  เพราะวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของการมีเหตุมีผล แต่ปัจจุบันสังคมไทยยังขาดเหตุผล เราจึงควรปลูกฝังความเป็นวิทยาศาสตร์ให้แก่เด็กๆ เพื่อให้เขาเติบโตมาด้วยการคิดอย่างมีเหตุผล ซึ่งจะทำให้เด็กคิดเป็น และสังคมมีคุณภาพเกิดความยั่งยืน”

ในมุมมองของ ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา ให้มุมมองว่าหนังสือเล่มนี้ได้ร้อยเรียงเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไว้อย่างแยบยล โดยเฉพาะบทที่ 3 ที่แนะนำให้ฟูมฟักจิตวิญญาณวิทยาศาสตร์และส่งเสริมให้เกิดแรงกระเพื่อมไปในวงกว้าง และบทที่ 4 เป็นการเน้นเรื่องการบ่มเพาะจิตวิทยาศาสตร์ในเยาวชน ส่วนบทสุดท้ายเป็นเรื่องของความยั่งยืน ซึ่งวิทยาศาสตร์จะเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะข้อ 12ซึ่งสำคัญมาก เพราะเกี่ยวกับการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน  การทำให้เกิดความยั่งยืนได้จำเป็นต้องให้คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าของการบริโภค และการผลิตอย่างยั่งยืน โดยใช้กรอบปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่ความยั่งยืน

“เมื่อจุดประกายวิทยาศาสตร์แล้ว เราจำเป็นต้องส่งต่อความยั่งยืนไปยังการฝึกให้คนรุ่นใหม่คิดแบบวิทยาศาสตร์ แต่ก่อนจะถึงตัวเด็ก ครูวิทยาศาสตร์จะต้องมีส่วนร่วม เพื่อทำให้ชุดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สามารถจุดประกายให้เด็กคิดค้น สนุกกับการเรียนรู้ จะเป็นประโยชน์มาก ถ้าเปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่มีจิตวิทยาศาสตร์ การคิดเป็นเหตุเป็นผลก็จะเกิดความยั่งยืนในสังคมได้”

ศ.ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็นนักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิทยสิริเมธี เล่าว่ารู้สึกประทับใจกับคำกล่าวของ ดร.ยงยุทธ ที่เคยอ่านจากหนังสือและได้นำมาเป็นแนวทางการทำงานของตนเองว่า “การจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดีและเก่งต้องเป็นผู้ที่รู้รอบและต้องรู้ลึกในศาสตร์เฉพาะของตนเอง”อีกทั้งต้องสามารถนำเอาความรู้ที่มีไปสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมได้ ซึ่งปัจจุบันสังคมไทยเองยังมีโจทย์ให้นักวิทยาศาสตร์ค้นคว้าทดลองอีกเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่ก็เกี่ยวข้องกับประเด็นของการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งสิ้นสิ่งสำคัญคือนักวิทยาศาสตร์ต้องลงไปสัมผัสและเจอกับโจทย์จริง ด้วยเหตุนี้การปลูกฝังเรื่องวิทยาศาสตร์แก่คนรุ่นใหม่ ก็ต้องให้พวกเขาได้ลงไปเจอกับสถานการณ์จริงเช่นเดียวกัน

“ปัจจุบันเด็กไทยมีศักยภาพการเรียนรู้ และใช้เทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา แต่สิ่งที่จำเป็นคือต้องสอนให้คิดเป็น ซึ่งการเรียนวิทยาศาสตร์ช่วยได้ เพราะมีการตั้งคำถามออกแบบทดลอง และมองไปข้างหน้าอยู่แล้ว ครูสามารถใช้สื่อเทคโนโลยีมาช่วยให้มากขึ้น และให้เด็กได้ทดลองจากโจทย์จริงเรียนรู้ลองผิดลองถูกจะเป็นพลังให้เด็กเรียนรู้ได้มาก  เนื่องจากการเจอโจทย์ปัญหาจริงจะปลุกสปิริตการแก้ปัญหา ทำให้เด็กคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล จึงมั่นใจว่าวิทยาศาสตร์มีส่วนสนับสนุนสังคมไทยได้มาก”ดร.พิมพ์ใจ กล่าว

ถึงแม้ว่าหนังสือSparks from the Spirit: From Science to Innovation, Development and Sustainability”จะถูกแต่งขึ้นเป็นภาษาอังกฤษก็ตาม แต่ ศ.ดร.ยงยุทธ มีความตั้งใจถ่ายทอดเนื้อหาด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน พร้อมทั้งมีการยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่เป็นรูปธรรม อีกทั้งยังสะท้อนมุมมองทางประวัติศาสตร์และในอีกหลายแง่มุม จึงทำให้เหมาะกับกลุ่มผู้อ่านทุกวัย สำหรับผู้ที่สนใจหนังสือเล่มดังกล่าวสามารถสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่www.crcpress.com/9789814774574 หรือที่ www.amazon.com