ศาสตร์ของพระราชา เปลี่ยนวิธีคิด พลิกชีวิต

ศาสตร์ของพระราชา เปลี่ยนวิธีคิด พลิกชีวิต

 

ศาสตร์ของพระราชา เปลี่ยนวิธีคิด พลิกชีวิต สู่ผู้นำชุมชนต้นแบบโครงการพลังปัญญา

โครงการพลังปัญญา โดยมูลนิธิมั่นพัฒนา จัดงานพิธีเชิดชูเกียรติ ผู้นำชุมชนต้นแบบโครงการพลังปัญญา ประจำปี 2559 ให้แก่ผู้นำชุมชนที่ผ่านการอบรมหลักสูตรโครงการพลังปัญญาระดับที่ 1 และระดับที่ 2 จากภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 413 คน  ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬา    ลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา

นางวรรณวิมล ศุภประเสริฐ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิมั่นพัฒนา ได้ให้เกียรติกล่าวภายในงาน ว่า โครงการพลังปัญญา เปลี่ยนวิธีคิด พลิกชีวิตด้วยปัญญา ได้ทำให้ผู้นำเกิดการค้นพบศักยภาพในตนเอง นำมาสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน และการน้อมนำศาสตร์ของพระราชามาใช้ในโครงการฯ ถือเป็นตำราชั้นยอดที่ให้ผู้นำทุกท่านได้ใช้ปฏิบัติประกอบกับความรู้ สติปัญญา เพื่อมุ่งสู่จุดหมายได้เป็นผลสำเร็จ

“ประกาศนียบัตรที่ได้รับจะเป็นเพียงแค่กระดาษใบเดียว หากผู้นำชุมชน ผู้นำเกษตรกรไม่ได้นำไปต่อยอดพัฒนาและสร้างเครือข่ายให้เกิดความสุขอย่างยั่งยืนในชุมชน ฉะนั้นขอให้ขยายต่อความรู้ความสามารถไปสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นในชุมชนอย่างแท้จริง”

รศ.ดร.เฉลิมพล เกิดมณี หัวหน้าโครงการพลังปัญญา ในฐานะผู้พัฒนาหลักสูตรของโครงการอบรม กล่าวว่า โครงการพลังปัญญาเกิดขึ้นเพื่อสืบสานศาสตร์ของพระราชาสู่การปฏิบัติเพื่อสร้างชุมชนแห่งการแบ่งปัน และมีความสุขอย่างยั่งยืน ซึ่งวันนี้ได้พิสูจน์แล้วถึงผลผลิตที่สมบูรณ์ เกิดเป็นผู้นำเกษตรกร ผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง โดยตลอด 8 เดือน ผู้นำชุมชนได้เรียนรู้ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติของการฝึกฝนและพัฒนาตนเองให้เกิดการเรียนรู้จนสามารถผ่านการสอบวัดผลจนสำเร็จการศึกษา และตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ที่ได้ผ่านการอบรมและได้รับประกาศนียบัตรในครั้งนี้จะเป็นพลังสำคัญในการสร้างความสุขแบบยั่งยืนให้กับชุมชนสืบไป

นอกจากนั้นดร.เฉลิมพล ยังได้อัญเชิญพระบรมราโชวาทของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มาถ่ายทอดเพื่อให้กำลังใจแก่ผู้นำพลังปัญญา ความว่า “...สังคมดำรงอยู่ได้ด้วยการกระทำประโยชน์เกื้อกูลกัน และทุกคนที่อยู่ร่วมกันย่อมเป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ประโยชน์ บัณฑิตในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมและเป็นบุคคลที่สังคมยอมรับในความรู้ความสามารถ จึงควรประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคมทุกเมื่อ...”

นอกจากพิธีมอบประกาศนียบัตรให้กับผู้นำชุมชนที่ผ่านการอบรมหลักสูตรโครงการพลังปัญญา ประจำปี 2559 ภายในงานยังมีกิจกรรมแสดงสินค้าจากกลุ่มผู้นำเกษตรกรทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้นำศาสตร์ของพระราชามาประยุกต์ใช้กับภูมิปัญญาท้องถิ่นจนเกิดความสำเร็จต่อตนเอง และชุมชน โดยมีตัวอย่างโครงการที่น่าสนใจ อาทิ โครงการกล้าแกร่ง (ผักหวานป่า) โครงการแฝกแล้งฟื้นโครงการโอ้โหขยะทองคำ และโครงการสมุนไพร คลายทุกข์เส้น

(หญ้า) แฝกแล้งฟื้น ปลุกหญ้าให้มีราคา 

นางสุมนทา ขุนทอง ประธานกลุ่มโครงการแฝกแล้งฟื้น อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นเกษตรกรอีกคนหนึ่งที่น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเจริญรอยตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยการนำประโยชน์จากหญ้าแฝกที่ช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำมาผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านงานฝีมือ ประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์จักสานจากหญ้าแฝก เช่น หมวก ตะกร้า พัดตาลปัตร พวงกุญแจ พญานาคจำลองจากแฝก ต้นกล้าแฝก จนกระทั่งสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 และรางวัลชมเชย ด้านความคิดสร้างสรรค์ ประเภทส่งเสริมหัตถกรรมผลิตภัณฑ์จากใบหญ้าแฝก ในการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 10 ประจำปี พ.ศ.2559-2560 ที่จัดโดย มูลนิธิชัยพัฒนา กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

“หลังจากเข้ามาร่วมอบรมในโครงการพลังปัญญา ทำให้เกิดความรู้นำไปต่อยอด สร้างอาชีพ และรายได้  ทำให้เกิดการพึ่งพาตนเอง ปัจจุบันสมาชิกของกลุ่มทั้ง 23 คน มีรายได้เลี้ยงตัวเอง ถึงแม้ไม่ใช่อาชีพหลัก แต่มีความภูมิใจที่ได้ตามรอยในหลวงรัชกาลที่ 9”

ผักหวานป่า ..สู่ขนมนานาชนิด

นายสุวัฒนชัย จำปามูล ประธานโครงการกล้าแกร่ง (ผักหวานป่า) อำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา ได้เข้าร่วมโครงการพลังปัญญา จากการแนะนำของอาจารย์ที่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านโนนรัง-บูรพา ที่เขาเป็นสมาชิกอยู่ หลังผ่านการอบรมได้นำความรู้ที่ได้รับจากโครงการไปพัฒนาต่อยอดเกี่ยวกับการแปรรูปผลผลิต โดยนำ “ผักหวาน” ซึ่งเป็นวัตถุดิบใกล้ตัว มาทำเป็นผลิตภัณฑ์นานาชนิด

“อาจารย์ในโครงการพลังปัญญา สอนให้เริ่มคิดจากสิ่งที่มีก่อน  จึงนึกถึงผักหวานป่าที่ปลูกไว้กินเอง หลังจากนั้นก็ค่อยๆ นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ โดยผ่านการลองผิดลองถูกหลายครั้ง กว่าจะกลายเป็นข้าวเกรียบผักหวานป่า แล้วต่อยอดมาเป็นผลิตเป็นคุกกี้ และสาหร่ายผักหวานป่า เรียกว่าโครงการพลังปัญญาได้ให้ทั้งทักษะ ความรู้ วิสัยทัศน์ และความชัดเจนในเนื้องาน นอกจากนั้นยังทำให้รู้จักพัฒนาตนเองบนพื้นฐานของความพอเพียงอย่างแท้จริง”

ขยะทองคำ ..สร้างความสุขยั่งยืน

นางวีระวรรณ วิจิตรวงค์ โครงการโอ้โห ขยะทองคำ อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก ที่แปลงขยะเหลือทิ้งเป็นผลิตภัณฑ์ทรงคุณค่า สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับเด็กนักเรียนและคนในชุมชน ทั้งด้านเศรษฐกิจในครัวเรือน และสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น 

จากแรกเริ่มที่ต้องการลดปริมาณขยะในชุมชน เพื่อรักษาความสะอาด และสิ่งแวดล้อมภายในชุมชนให้เป็นชุมชนที่น่าอยู่ จึงนำมาสู่การรวมตัวกันของคนในชุมชนและนักเรียนจากโรงเรียนบ้านท่ากระดุน จัดทำโครงการโอ้โห ขยะทองคำ ด้วยการนำขยะมารีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น ของที่ระลึก ของตกแต่งบ้าน ส่งผลให้ชุมชนสามารถลดปริมาณขยะและเกิดสิ่งแวดล้อมที่ดี นอกจากนั้นยังเกิดผลพลอยได้จากการนำไปจำหน่าย ทำให้สามารถช่วยเหลือค่าอาหารกลางวันให้กับนักเรียน และสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนอีกด้วย

 “หลังจากได้เปิดกรอบทางความคิดกับโครงการพลังปัญญา ทำให้คิดทำโครงการต่างๆ ขึ้นจากขยะ ขยายต่อไปถึงการฝึกฝนอาชีพและพัฒนาทักษะให้เด็ก ได้มีความชำนาญในงานเฉพาะด้าน เช่น งานกรอบรูปพิมพ์พระพุทธรูป ภาพนูนต่ำที่ทำจากกระดาษรีไซเคิล ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์จากฝีมือของเด็กนักเรียนสร้างชื่อเสียงและรายได้มาสู่โรงเรียนในเวลาต่อมา  เด็กมีรอยยิ้มและเกิดความสุขจากผลงานที่ได้ทำ อีกทั้งความสุขยังขยายไปถึงคนในชุมชน”

สมุนไพรคลายทุกข์ ..เพิ่มรายได้ที่เพียงพอ

นางนรินทร์ จงกล ประธานโครงการสมุนไพร คลายทุกข์เส้น อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา ที่ชีวิตพลิกผันจากคนงานรับจ้างทำนาฐานะยากจนในอดีต ไม่มีความรู้ในการต่อยอดอาชีพ สู่หมอสมุนไพรที่ได้รับการยอมรับนับถือ ทำให้ตนเอง และคนในชุมชนมีกินมีใช้

“ หากไม่ได้เข้ารับการอบรมจากโครงการพลังปัญญา ตนคงยึดอาชีพรับจ้างต่อไป โครงการนี้ได้เปิดทางสว่างให้กับแนวทางการดำเนินชีวิต สอนให้คิด และได้เรียนรู้จากสิ่งที่มีอยู่  เริ่มจากการรู้จักตนเองและเมื่อรู้ว่าตนเองมีความสนใจเรื่องสมุนไพรธรรมชาติ ตนจึงเริ่มศึกษา ค้นคว้า ทดลอง และพัฒนามาเป็นโครงการสมุนไพร คลายทุกข์เส้น ที่เริ่มจากการนำสมุนไพร อาทิ รากหญ้าขัดมอญ ต้นกระดูกไก่ดำ ใบบัวบก ซึ่งเป็นสมุนไพรที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นและมีจำนวนมาก นำมาผสมผสานกับองค์ความรู้เรื่องสมุนไพรของตนเอง สร้างเป็นผลิตภัณฑ์ น้ำมันสมุนไพร ซึ่งมีสรรพคุณรักษาอาการเคล็ดขัดยอกและปวดเมื่อยได้ นอกจากนั้นโครงการฯ นี้ยังเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนได้มีอาชีพเสริมและมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

วันนี้โครงการสมุนไพรคลายทุกข์เส้นได้ดำเนินการมากว่า 6 เดือน ซึ่งมีกลุ่มคนที่สนใจในผลิตภัณฑ์เป็นอย่างมาก อาทิ นักกีฬา หมอนวด ผู้สูงอายุ ซึ่งในอนาคตตนอยากจะถ่ายทอดและขยายองค์ความรู้เรื่องการทำสมุนไพรให้กับกลุ่มคนในชุมชน เพราะโครงการพลังปัญญาสอนให้เรารู้จักถึงคำว่า การแบ่งปันและความพอเพียง เพื่อสร้างชุมชมให้เกิดความสุขอย่างยั่งยืนต่อไป

ปัจจุบันโครงการพลังปัญญา (Power Of Wisdom)  ก้าวย่างเข้าสู่ปีที่ 4  ได้สร้างผลงานและความภาคภูมิใจในหลายด้าน มีผู้เข้าร่วมโครงการจากภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 30 จังหวัด ผ่านการอบรมและการทดสอบจนกลายเป็นผู้นำพลังปัญญา จำนวน 413 คน เกิดการขยายผลเป็นชุมชนพลังปัญญา 1,227 ชุมชน สามารถสร้างการรับรู้และมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่ได้มากกว่า 18,000 คน อีกทั้งผู้นำพลังปัญญายังสามารถพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้สร้างเป็นโครงการต้นแบบได้ถึง 39 โครงการ และพัฒนาให้เกิดศูนย์การพลังปัญญา จำนวน 4 ศูนย์ ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย แพร่ นครพนม และขอนแก่น สามารถติดตามความเคลื่อนไหวโครงการพลังปัญญา ได้ที่ http://www.tsdf.or.th