ยกระดับสู่เมืองท่าระดับโลก กับการพัฒนา 3 ท่าเรือ

ยกระดับสู่เมืองท่าระดับโลก กับการพัฒนา 3 ท่าเรือ

 

ยกระดับสู่เมืองท่าระดับโลก กับการพัฒนา 3 ท่าเรือแหลมฉบังสัตหีบและมาบตาพุด

หนึ่งในศักยภาพและความได้เปรียบเชิงพื้นที่ของ 3 จังหวัด ในโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซีคือ การมีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลตะวันออกของประเทศไทย ที่ทำหน้าที่เสมือนเกตเวย์(Gateway) ทางธรรมชาติ และเป็นประตูการค้าระหว่างประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคและเชื่อมโยงทั่วโลก

จากการตั้งเป้าหมายที่จะยกระดับศักยภาพความเป็นเมืองท่า เพื่อก้าวสู่การเป็น 1 ใน 10 ประเทศของโลกที่มีเรือผ่านท่ามากที่สุดตามเป้าหมาย ขณะเดียวกัน เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนำมาสู่การพัฒนาศักยภาพการแข่งขันทางการขนส่งสินค้าทางทะเล และเป็นศูนย์กลางข้อมูลทาง การคมนาคมขนส่ง เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนของประเทศไทย นำมาสู่การผลักดันโครงการพัฒนาท่าเรือพาณิชย์สำคัญ 3 แห่ง ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าเรือฯ มาบตาพุดระยะที่ 3 โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรือสัตหีบให้เป็นท่าเรือพาณิชย์แห่งใหม่สำหรับการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยว

สำหรับท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 จะตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง มีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่หน้าท่า 550 ไร่ และพื้นที่หลังท่า 450 ไร่ประกอบด้วย ท่าเรือสินค้าเหลว 2 ท่า ท่าเทียบเรือขนถ่ายก๊าซ 3 ท่า โดยคาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุน 1 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำกระบวนการอนุมัติอนุญาตให้รองรับการลงทุนแบบพีพีพี ซึ่งจะเพิ่มความสามารถในการรองรับสินค้าได้มากขึ้นอีก 10 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2562 และพร้อมเปิดดำเนินการให้ใช้ในปี 2567 ทั้งนี้ เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถขยายการรองรับสินค้าจากที่ 25 ล้านตันต่อปี  เป็น 35 ล้านตันต่อปี

            ส่วนท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 1 และ 2 แม้ปัจจุบันจะมีศักยภาพในการรองรับการขนส่งสินค้าได้  11.10 ล้าน TEU/ปี แต่คาดการณ์ว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ท่าเรือแหลมฉบังจะไม่สามารถรับรองตู้สินค้าที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นได้ จึงมีแผนการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 เพื่อเพิ่มศักยภาพของท่าเรือ ทำให้ช่องทางการนำเข้าและส่งออกสินค้ามีความคล่องตัวมากขึ้น โดยสามารถรองรับทั้งปริมาณเรือและตู้สินค้าได้สูงถึง 18 ล้าน TEU/ปี และขนส่งรถยนต์ได้เพิ่มจาก 1 ล้านคัน/ปี เป็น 3 ล้านคัน/ปี พร้อมด้วยการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือถึง 1,600 ไร่ ความยาวท่าเรือ 4,500 เมตร มีท่าเทียบเรือขนส่งรถยนต์ 1 ท่า ท่าเทียบเรือชายฝั่ง 1 ท่า และท่าเทียบเรือตู้สินค้า 4 ท่า ซึ่งแหลมฉบังระยะที่ 3 จะเปิดให้เอกชนร่วมทุนได้ในปี 2561 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568

ขณะที่ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ หรือท่าเรือจุกเสม็ด อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ก็มีความพร้อมในหลายด้าน  โดยมีศักยภาพในการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวด้วยเรือเฟอร์รี และเรือสำราญขนาดใหญ่ รวมถึงสามารถรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือพาณิชย์ฯ และท่าเรือชายฝั่งอื่นๆ ทั้งในประเทศและภูมิภาค ทำให้ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพเรือ กำลังได้รับการพัฒนาเป็นพื้นที่ธุรกิจและบริการเชื่อมต่อพื้นที่ท่าเทียบเรือเฟอร์รีและท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ เพื่อสนับสนุนการให้บริการเชิงพาณิชย์ ซึ่งประกอบไปด้วยท่าเรือ 6 ท่า แบ่งเป็นท่าจอดเรือรบของกองทัพเรือ (ท่าที่ 1-3) และเป็นท่าเรือสำหรับขนส่งสินค้าประเภทอุตสาหกรรม (ท่าที่ 4-6) โดยมีแผนจะพัฒนาท่าเรือที่ 4-6 ให้เป็นท่าเรือรองรับด้านการท่องเที่ยว และเรือเฟอร์รี่ รวมทั้งปรับปรุงพื้นที่สำหรับการขนส่งสินค้าให้ได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารสำหรับเรือเฟอร์รี่และสิ่งอำนวยความสะดวก บริเวณท่าเรือที่ 4 และ 5 พื้นที่ประมาณ 20,000 ตารางเมตร ซึ่งขณะนี้มีแผนการพัฒนาท่าเรือหมายเลข 6 เป็นแห่งแรกโดยใช้งบประมาณจากเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการบริหารท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ จำนวน 192 ล้านบาท

โดยทั้งสามท่าเรือดังกล่าว ยังจะได้รับการเสริมศักยภาพด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ด้วยแผนพัฒนาก่อสร้างเส้นทางรถไฟรางคู่ ที่จะเชื่อมต่อทั้ง 3 ท่าเรือและเชื่อมโยงกับเส้นทางการคมนาคมขนส่งจากทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ในการดำเนินการด้านพัฒนาท่าเรือฯ ยังมีแผนการเตรียมพื้นที่ใหม่เพื่อรองรับเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี ซึ่งตั้งใกล้ท่าเรือแต่ละแห่ง สะท้อนให้เห็นว่าการพัฒนาท่าเรือทั้ง 3 แห่งยังเป็นการยกระดับการพัฒนาพื้นที่ในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายและเพิ่มขีดความได้เปรียบให้กับพื้นที่อีอีซีและการลงทุนในประเทศไทยด้วยเช่นกัน