ไปต่ออย่างไรในยุคโลจิสติกส์ 4.0

ไปต่ออย่างไรในยุคโลจิสติกส์ 4.0

 

คุณจรีพร จารุกรสกุล  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ  คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group

อาจหมดเวลาที่เราจะสนใจคำนิยามว่า “Logistics 4.0 คืออะไร” เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าคือ เราจะไปต่ออย่างไร ในยุคโลจิสติกส์ 4.0นี้

ถามว่า “ทำไมต้องโลจิสติกส์ 4.0” ย้อนไปสมัยก่อนที่ดินราคายังไม่แพง ค่าก่อสร้างถูก ค่าแรงประเทศไทยยังไม่สูงมาก แต่วันนี้โจทย์เปลี่ยนแล้ว ดังนั้นเราจะทำอย่างไรที่จะให้ ต้นทุนโลจิสติกส์ (Logistics Cost)ถูกลง แน่นอนว่า “เทคโนโลยี” เข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ได้โดยช่วยทำให้ต้นทุนลดลงกว่าครึ่ง

อย่างไรก็ตามอย่าคิดว่าเมื่อแทนที่แรงงานคนด้วยหุ่นยนต์หรือเทคโนโลยีแล้วจะเพียงพอ สำหรับโลจิสติกส์ 4.0 จากประสบการณ์ส่วนตัวของดิฉันในธุรกิจนี้ยังมี 3 เรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณา

เรื่องแรกคือ โครงสร้างพื้นฐานคุณรู้หรือไม่ว่า ต้นทุนโลจิสติกส์ที่ถูกที่สุด หากไม่นับการขนส่งทางเรือก็คือ “รถไฟ” แต่ที่ผ่านมาระบบรางของบ้านเราไม่มีความพร้อมที่จะรองรับโลจิสติกส์ ทำให้ต้องกลับมาใช้การขนส่งทางรถยนต์และรถบรรทุกแทนซึ่งนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์สูง

ปัจจุบันภาครัฐมีการลงทุนในเมกะโปรเจคท์ เพื่อจัดสร้างระบบคมนาคมทั้งระบบราง ทางน้ำ ทางอากาศ และทางบกเพื่อรองรับระบบโลจิสติกส์แบบครบวงจร หลายคนอาจมีคำถามว่าจำเป็นต้องลงทุนมากขนาดนี้หรือ?

ช่วงแรกที่ดิฉันเริ่มทำธุรกิจโลจิสติกส์ ตอนนั้นต้นทุนโลจิสติกส์อยู่ที่18% ปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ 14% แต่หากการพัฒนาดังกล่าวฯ เป็นไปตามแผนภายในอีก 5 ปีข้างหน้าดิฉันเชื่อว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการปรับลดต้นทุนโลจิสติกส์ให้เหลือเพียง12%จะมีโอกาสเป็นไปได้อย่างแน่นอนแต่ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต ต้นทุนโลจิสติกส์ควรลดอยู่ที่ระดับตัวเลขหนึ่งหลักเพราะจะทำให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านโลจิสติกส์กับนานาประเทศได้มากยิ่งขึ้น

อีกประเด็นที่มีความสำคัญในโลจิสติกส์ 4.0 กลับไม่ใช่ “เทคโนโลยี” อย่างปัญญาประดิษฐ์(AI)

โรโบติก อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงค์ รวมถึงบิ๊กดาต้าแต่เป็นเรื่องของ “คน”

ปัจจุบันในสิบซูเปอร์คลัสเตอร์ที่รัฐบาลพยายามผลักดัน เราไม่ได้ต้องการเฉพาะคนที่มี “ทักษะ” แค่ใน 10 คลัสเตอร์เท่านั้น แต่ยังมีการพูดถึงโลจิสติกส์ด้วย เพราะทุกอุตสาหกรรมมีความจำเป็นในการใช้โลจิสติกส์

 

หลายวันก่อนมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำมาขอคำแนะนำดิฉันในการพัฒนาหลักสูตรด้านโลจิสติกส์ ดิฉันชี้แจงว่าผู้ประกอบการโลจิสติกส์แต่ละธุรกิจอาจมีความต้องการบุคลากรที่มีความรู้แตกต่างกัน ดังนั้นมหาวิทยาลัยควรเน้นพัฒนาหลักสูตรการสอนด้าน“Consumer, Control Temperature และ E-commerce” เป็น3หัวข้อหลักที่จะเป็นการปูรากฐานสำคัญที่สามารถนำไปต่อยอดได้ทุกเรื่อง

แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือหลักสูตรนั้นต้องสอนให้นักศึกษารู้จักคิดเป็นและนำไปประยุกต์ใช้ให้เป็นด้วย

เพราะหัวใจสำคัญคือคุณต้องพัฒนาคนให้มีคุณภาพเมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวการขอขึ้นค่าแรงทุกคนอาจตื่นตระหนก ดิฉันอยากบอกว่า สิ่งที่ควรสนใจมากกว่าเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ คือการจะพัฒนา 10 ซูเปอร์คลัสเตอร์นี้ให้เกิดขึ้นจริงเพราะถ้าเราส่งเสริมให้คนคิดพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ก็ไม่จำเป็นต้องสนใจว่าค่าแรงขั้นต่ำจะอยู่ที่เท่าไหร่

ดิฉันมีลูกค้ารายหนึ่งที่อยู่ในธุรกิจด้านอากาศยานได้ว่าจ้างพนักงานที่จบการศึกษาระดับ ปวส.เข้ามาทำงาน เชื่อหรือไม่ว่า ภายใน 1-2 ปีพนักงานเหล่านี้มีรายได้สูงถึงเดือนละแปดหมื่นบาท สะท้อนให้เห็นว่าหากคุณมีความสามารถ ก็จะได้รับค่าตอบแทนตามความสามารถนั้นเอง

องค์ประกอบสุดท้าย คือ “ผู้ประกอบการ” สำหรับผู้ประกอบการต่างชาติดิฉันไม่กังวล เพราะเขามีองค์ความรู้อยู่แล้ว แต่ที่น่าห่วงที่สุดคือผู้ประกอบการคนไทย โดยเฉพาะรายย่อย ที่มองว่าการเปลี่ยนแปลงสู่ยุค 4.0 จะต้องลงทุนสูงและทำเองทุกเรื่อง ทราบหรือไม่ว่าในต่างประเทศผู้ประกอบการแทบไม่ต้องลงทุนเองเลย แต่เขาเลือกที่จะจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความพร้อมและทำงานร่วมกัน

อาลีบาบาคือตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ หากหลายคนเคยศึกษา จะพบว่าสิ่งที่ แจ็ค หม่า ลงทุนในอาลีบาลา คือการสร้างแพลตฟอร์มหนึ่งขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนเข้ามาประกาศขายสินค้า ต้นทุนของเขามีเพียงแค่ค่าพนักงานเท่านั้น จนถึงวันนี้อาลีบาบาไม่ต้องมีสินค้าของตัวเอง แต่มีซัพพลายเออร์เป็นแสนรายที่เข้ามานำเสนอสินค้า โดยไม่จำเป็นต้องมีแวร์เฮาส์ และระบบโลจิสติกส์ แต่ใช้วิธีการจ้างบริษัทโลจิสติกส์จากภายนอก (Third Party Logistics) เป็นผู้บริหารจัดการแทน

ท้ายสุดนี้ดิฉันไม่อยากให้ทุกคนกลัวการเปลี่ยนแปลง เราต้องอยู่กับมันให้ได้ เพราะเทคโนโลยีเข้ามาทำให้คุณสะดวกสบาย ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น รวมถึงช่วยให้การดำเนินธุรกิจดีขึ้นสำคัญคืออยู่ที่จะนำไปใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด