Thailand SDGs Forum 2017#1: Business in Action

Thailand SDGs Forum 2017#1: Business in Action

 

ถอดบทเรียนธุรกิจไทย กับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

มูลนิธิมั่นพัฒนา ร่วมกับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จัดงานThailand SDGs Forum1/2017: Business in Action เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯเพื่อสร้างความต่อเนื่องเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคธุรกิจจากปีที่แล้ว ซึ่งครั้งนี้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนถึงสถานการณ์ความก้าวหน้าของภาคธุรกิจต่อการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้ามาเป็นวิสัยทัศน์และแนวทางในการดำเนินธุรกิจ การให้ความสำคัญและกลยุทธ์ในการกำหนดประเด็น 17SDGs ขององค์กร กระบวนการและบทเรียนที่เกิดขึ้นจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ตลอดจนปัจจัยและโอกาสที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริงโดยภายในงานได้รับเกียรติจากกรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา รวมถึงผู้บริหารชั้นนำของประเทศไทยหลายบริษัทที่เข้าร่วมงาน และเป็นวิทยากร เช่น บริษัท น้ำตาลมิตรผล จํากัดบริษัท โคคา-โคล่า ประเทศไทย จำกัด บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท ยูนิลีเวอร์ไทย เทรดดิ้ง จำกัด บริษัท เทสโก้ โลตัส จำกัด บริษัท อิเกีย ประเทศไทย จำกัด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เอสซีจี กรุ๊ป บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็สคอมมูนิเคชัน จำกัด (มหาชน) เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีผู้แทนจากภาคเอกชน ภาครัฐ และประชาสังคม เข้าร่วมอีกกว่า 50 องค์กร โดยผลที่เกิดจากเวทีครั้งนี้จะเป็นบทเรียนและต้นแบบสำคัญสำหรับองค์กรภาคธุรกิจอื่นๆ และนำไปสู่การสร้างเครือข่ายในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

 

ภาคธุรกิจกับการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อม

“อิเกีย” ผู้ผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์รวมถึงของตกแต่งบ้านรายใหญ่ของโลก ซึ่งเชื่อในการเปลี่ยนแปลงทำให้สังคมดีขึ้นได้ อิเกียจึงให้ความสำคัญกับความยั่งยืนทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนดีขึ้น คุณศุภฤกษ์ วิเชียรโชติผู้จัดการแผนกการพัฒนาอย่างยั่งยืนบริษัทอิเกีย ประเทศไทย กล่าวว่า อิเกีย ทำงานด้าน SDGs ในระดับภูมิภาคมาระยะหนึ่งแล้ว  โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างสรรค์ชีวิตของคนให้ดีขึ้นทั้งในวันนี้และอนาคต  ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ลูกค้า สังคมและสิ่งแวดล้อม ให้เกิดความยั่งยืน  สำหรับวิธีการสร้างความยั่งยืนไปสู่ความสำเร็จ คุณศุภฤกษ์  บอกว่ามีกลยุทธ์การขับเคลื่อน 3 ส่วนหลักนั่นคือการสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกค้าใช้ชีวิตในบ้านอย่างยั่งยืน เช่น การขายผลิตภัณฑ์ไฟ หลอดไฟ โคมไฟ ที่เป็น LED ช่วยประหยัดไฟ เพื่อให้ลูกค้าได้ใกล้ชิดกับเรื่องความยั่งยืนไปพร้อมๆ กันนอกจากนั้นอิเกียยังใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดเช่น ในการผลิตเฟอร์นิเจอร์จะใช้ไม้ทุกส่วนให้เกิดประโยชน์สูงสุด เศษไม้ที่เหลือก็จะนำมาแปรรูปเป็นสินค้าอื่นๆ โดยไม่ทิ้งไปอย่างเปล่าประโยชน์ ท้ายสุดคือการสร้างชีวิตที่ดีให้กับคนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมองกลับไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เช่นในปัจจุบันเรารับซื้อฝ้ายส่วนใหญ่จากคู่ค้าที่ผลิตบนพื้นฐานของความยั่งยืน และตั้งเป้าหมายที่จะรับซื้อผลผลิตอื่นๆ จากแหล่งที่มีการปลูกหรือดำเนินการอย่างยั่งยืน เพิ่มขึ้นเป็น 100% ในปี ค.ศ.2020

 

คุณศศมนศุพุทธมงคล ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัญหาโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) เป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก บางจากซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานจึงให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานได้อย่างยั่งยืน โดยบางจากได้ขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนมากว่า 10 ปี เพื่อหาพลังงานทดแทนและการพยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จึงตั้งเป้าหมายขององค์กรที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโรงกลั่นบางจาก 5.5แสนตัน และชดเชยคาร์บอนฯ จากธุรกิจพลังงานหมุนเวียนของบริษัทย่อยให้ได้  60% ภายในปี พ.ศ.2563 และกระจายธุรกิจไปยังธุรกิจพลังงานทดแทน เพื่อลดการใช้น้ำมันเตาให้ได้ 100% ของการใช้น้ำมันเตาเดิม

 

สร้างความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นทั้งซัพพลายเชน

คุณชาคริต ดิเรกวัฒนชัย รองประธานกรรมการแผนกสื่อสารองค์กรและความยั่งยืนบริษัทเทสโก้ โลตัส จำกัด กล่าวว่าเทสโก้ โลตัส เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้ผลิตและผู้บริโภคจำนวนมาก จึงให้ความสำคัญกับกระบวนการสร้างความยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เช่น การวางแผนจัดการซัพพลายเชนและการลดการสูญเสียอาหาร โดยการสร้างการมีส่วนร่วมและวางแผนร่วมกับเกษตรกร เป็นต้น

“ในซัพพลายเชนของเราจะมีของเสียหายมาก โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นอาหาร และสินค้าเกษตร ซึ่งช่วง 4 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้จัดการปัญหาของเสียหาย ด้วยการรับซื้อสินค้ากับเกษตรกรโดยตรง เช่น กล้วยหอม เราได้ร่วมวางแผนการปลูกและจำหน่ายตามความต้องการของตลาดกับเกษตรกร หรือ ผัก ผลไม้ที่เสียบางส่วน เราก็นำไปบริจาค ทำให้ลดการสูญเสียในอาหารไปได้มาก”

นอกจากนั้น เทสโก้ ยังได้สร้างการมีส่วนร่วมต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมกับผู้บริโภค ด้วยการสร้างกิจกรรมต่างๆ เช่น โครงการรณรงค์ให้ลูกค้าลดการใช้ถุงพลาสติกโดยหันกลับมาใช้ถุงผ้าแทน 

“สิ่งสำคัญคือการสร้างความยั่งยืนจะต้องวัดผลได้ นั่นหมายถึงจะต้องเป็นสิ่งที่จับต้องได้ทั้งรูปธรรมและความรู้สึก ทำแล้วต้องบอกให้สังคมรับรู้ และทำในสิ่งที่สอดคล้องกับบริบทของธุรกิจตนเอง”คุณชาคริตกล่าว

 

คุณวุฒิชัยสิทธิปรีดานันท์รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด มหาชน (ซีพีเอฟ) พูดถึงการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนของซีพีเอฟที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) คือ การกำหนดทิศทางกลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมสู่ความยั่งยืนภายใต้ 3 เสาหลัก“อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่”ที่มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อประเทศ ประชาชน และบริษัท รวมถึงสอดรับกับความท้าทายและกระแสโลกในเรื่องการขจัดความหิวโหย(Zero hunger) โดยธุรกิจจะอยู่ได้ต้องดูแลฐานทรัพยากร (มนุษย์ สิ่งแวดล้อม) รวมกันเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร นำไปสู่การให้ความรู้เรื่องการจัดการที่ยั่งยืน

ปัจจุบันซีพีเอฟมีซัพพลายเชน หรือคู่ค้ามากกว่าหนึ่งหมื่นราย ซึ่งหากมีระบบบริหารการจัดการที่ไม่ดี จะเป็นปัญหาสำคัญ ในการสร้างความยั่งยืนต่อธุรกิจจึงเป็นที่มาของดำเนินการเสาหลักที่ 2 คือ “สังคมพึ่งตน” ที่ซีพีเอฟต้องการพัฒนาคู่ค้าให้เติบโตไปด้วยกัน

“ช่วงที่ผ่านมาบริษัทสามารถจัดการปัญหาดังกล่าวได้สำเร็จ โดยการให้องค์ความรู้และการจัดนโยบายความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคน วัตถุดิบ สิ่งแวดล้อม  นอกจากนั้น เราจะไม่รับซื้อวัตถุดิบทางการเกษตรจากแหล่งต้นทางที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น การบุกรุกทำลายป่า  รวมถึงการส่งเสริมคุณภาพชีวิตชุมชนให้ดีขึ้น ทั้งการสร้างอาชีพและอาหารเพื่อแก้ปัญหาความยากจน”คุณวุฒิชัยกล่าว

 

เทคโนโลยีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

คุณวิไลเคียงประดู่ผู้ช่วยผู้อำนวยการกรรมการอาวุโสฝ่ายประชาสัมพันธ์บริษัทแอดวานซ์อินโฟร์เซอร์วิสจำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้พัฒนาเทคโนโลยีทางการสื่อสาร เพื่อให้ลูกค้าหรือผู้ใช้บริการทั่วประเทศสามารถเข้าถึงการสื่อสารได้อย่างเท่าเทียม โดยมีโจทย์หลักคือจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์ต่อลูกค้าหรือผู้ใช้บริการมากที่สุด เริ่มจากต้องรู้ว่าเขาต้องการอะไรเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ตรงจุด ในส่วนของการขับเคลื่อนการพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืน เอไอเอสได้ออกแบบแอปพลิเคชันเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ชื่อว่า “อสม.ออนไลน์”ให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)และอาสาสมัคร สาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)ใช้เป็นช่องทางของการสื่อสาร ที่สามารถรับรู้ข้อมูล ข่าวสารและเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวด้านสาธารณสุขภายในชุมชนได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และถูกต้อง โดยผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดได้ทุกช่องทางและใช้ได้กับทุกเครือข่าย เอไอเอส ตั้งใจพัฒนาแอปพลิเคชันดังกล่าวขึ้นบนแนวคิดของการให้บริการทางสังคมที่ต้องการให้ทุกคน สามารถมีโอกาสได้เข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยโดยไม่ปิดกั้น เพื่อลดช่องว่างทางสังคม สร้างความเท่าเทียม รวมถึงการสร้างคุณภาพชีวิตของคนในสังคมอย่างยั่งยืน

 

การสร้างความร่วมมือ คือ หนทางสู่ความยั่งยืน

จากการเสวนาทำให้เห็นถึงปัจจัยและโอกาสในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้บรรลุผลสำเร็จได้ ปัจจัยภายในควรเริ่มจากผู้นำองค์กรหรือผู้บริหารที่เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อเรื่องของความยั่งยืนอย่างแท้จริงว่าเป็นสิ่งที่แยกออกจากธุรกิจไม่ได้ นำมาสู่การกำหนดวิสัยทัศน์และกลยุทธ์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายทางธุรกิจที่สามารถนำไปสู่แนวทางปฏิบัติได้จริง ก่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กรพร้อมทั้งสื่อสารและสร้างการรับรู้ตลอดทั้งซัพพลายเชน ซึ่งการทำ CSR ถือเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนในเรื่องดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ในส่วนของปัจจัยภายนอกที่จำเป็นต้องดำเนินการไปพร้อมๆ กันนั่นก็คือการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนด้วยกันเอง ในการวิเคราะห์ลำดับปัญหา ความต้องการตลอดจนการวางเส้นทางในการขับเคลื่อนเป้าหมายร่วมกันยิ่งไปกว่านั้นภาครัฐซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบายและเป้าหมายระดับชาติ อาจต้องเริ่มเข้ามามีบทบาทในการเรียนรู้การดำเนินงานและผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจากภาคธุรกิจพร้อมกันนี้อาจต้องทบทวนในการปรับบทบาทจากหน่วยงานที่เป็นผู้ลงมือปฏิบัติการมาเป็นการให้การสนับสนุนส่งเสริมและสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในการนำไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนร่วมกัน

ติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเวที Thailand SDGs Forum2017 ได้ที่เว็บไซต์ของมูลนิธิมั่นพัฒนา www.tsdf.or.th