Sufficiency Thinking in Sustainable Development (STiSD)

Sufficiency Thinking in Sustainable Development (STiSD)

 

ส่งต่อแนวคิด ‘พอเพียงเพื่อยั่งยืน’ จากไทยสู่สากล

มูลนิธิมั่นพัฒนา  วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ(TICA)  กระทรวงการต่างประเทศ และสถาบันภาวะผู้นำที่ยั่งยืน (Institute of Sustainable Leadership) ประเทศออสเตรเลีย ได้ร่วมมือกันจัดโครงการอบรมหลักสูตร Sufficiency Thinking in Sustainable Development (STiSD) ขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยได้น้อมนำแนวคิด “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาถ่ายทอดเป็นบทเรียนให้กับผู้บริหารระดับสูงจำนวน 19 ท่าน จาก 16 ประเทศคู่ร่วมมือเพื่อการพัฒนาของประเทศไทยจากทวีปแอฟริกา เอเชียและหมู่เกาะแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงประเทศสมาชิกกลุ่ม 77  โดยเน้นการสร้างความเข้าใจถึงคุณค่าของแนวคิดพอเพียงและแนวทางการนำไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาชุมชนและประเทศของตน ผ่านการเรียนรู้จากทฤษฎี และการลงพื้นที่จริงเพื่อศึกษาถึงกระบวนการในการนำไปใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละบริบท การอบรมดังกล่าวได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 19 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา และในวันสุดท้ายของกิจกรรมได้มีการจัดพิธีปิด รวมถึงการมอบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้แทนระดับสูงที่เข้าร่วมอบรมโดยนายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ  ทั้งนี้ ตัวแทนจากประเทศต่างๆ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงสิ่งที่ได้รับจากการอบรม และนำเสนอแนวคิดที่จะมีการนำ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ไปประยุกต์ใช้กับประเทศของตน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และเหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศอย่างแท้จริง มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ของสหประชาชาติร่วมกันภายในปี ค.ศ. 2030 โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง

ดร. จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานกรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา ซึ่งเป็นประธานในพิธีปิดโครงการฯ กล่าวว่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักคิดที่ผู้เข้าร่วมโครงการจากทุกประเทศให้ความสนใจไม่เพียงแต่ในเรื่องของการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้เท่านั้น หากแต่ผู้แทนจากทุกประเทศที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ต่างใช้เวลาในการคิดต่อยอด เพื่อนำไปปรับใช้ในบริบทของแต่ละประเทศอย่างเหมาะสม และเป็นอีกมิติหนึ่งของความท้าทาย ในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจในอนาคตบนแนวทางของการพัฒนาที่ยั่งยืน

“ผมรู้สึกยินดีที่วันนี้ ประเทศไทยในฐานะเจ้าบ้านของการจัดโครงการอบรมหลักสูตร STiSD ได้บรรลุเป้าหมายในการส่งต่อปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่มือของผู้แทนระดับสูงจากประเทศคู่ร่วมมือเพื่อการพัฒนาของประเทศไทยจากทวีปแอฟริกา  เอเชียและหมู่เกาะแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงประเทศสมาชิกกลุ่ม 77 โดยในอนาคตต่อไป เราน่าจะได้เห็นกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นจากพื้นฐานแนวคิดนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับโลกที่กำลังพัฒนาไปในแนวทางของความยั่งยืน” ดร. จิรายุกล่าว

 

สร้างแนวคิดพอเพียง สู่สมดุลบนวิถีทะเล

ผู้แทนจากสาธารณรัฐฟิจิและราชอาณาจักรตองกา นำแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้กับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและรักษาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลที่ยังคงอยู่ให้เกิดความสมดุลควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน รวมถึงการสร้างสิ่งทดแทนเพื่อชดเชยทรัพยากรและระบบนิเวศที่สูญเสียไปให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ซึ่งจะสามารถเพิ่มประโยชน์และก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนได้

“เป้าหมายของเราคือการสร้างรูปแบบการทำประมงแบบใหม่ โดยถ่ายทอดแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเป็นเครื่องมือและกลไกในการสร้างวิธีคิดให้กับชาวประมง ได้คำนึงถึงการทำประมงแบบพอเพียงและยั่งยืนมากขึ้นจากเดิม มีระบบคิดที่รอบคอบรัดกุม สามารถบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลให้เกิดความสมดุล ตลอดจนการนำทรัพยากรทางทะเลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชน ซึ่งจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่ยั่งยืน”

ผู้แทนจากสาธารณรัฐฟิจิและราชอาณาจักรตองกา กล่าวเพิ่มเติมว่า “เราต้องเริ่มจากการนำ องค์ความรู้เรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนี้ไปถ่ายทอดสู่ชุมชนเพื่อให้เกิดความเข้าใจ จากนั้นจะมีการคิด และวางแผนโครงการจากกิจกรรมเล็กๆ เพื่อทำให้ทฤษฎีถูกขยายผลสู่การใช้งานได้จริง ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อโครงการเหล่านี้ประสบความสำเร็จ ชุมชนจะมีความเข้าใจที่ชัดเจนถึงหลักคิดของการทำประมงแบบใหม่ที่เน้นการทำประมงแบบยั่งยืน พวกเราเชื่อว่าการทำประมงบนพื้นฐานของแนวคิดเชิงอนุรักษ์เพื่อความยั่งยืน โดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นตัวขับเคลื่อน ไม่ใช้ระบบทุนนิยมเป็นตัวเร่ง จะเป็นตัวอย่างที่ทำให้เกิด ความสนใจ และมีชุมชนอีกมากมายที่จะก้าวเข้ามาเรียนรู้และนำกลับไปใช้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งในด้านของการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและการสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ดีในอนาคต” ผู้แทนจากสาธารณรัฐฟิจิกล่าว

 

พึ่งพาตนเอง ใช้ภูมิปัญญา แก้ปัญหาวิกฤตนาเกลือ

อีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากประเทศไทย และมีความใกล้เคียงในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ นั่นคือ การทำนาเกลือของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งผู้แทนจากฟิลิปปินส์สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่า เกิดจากการทำนาเกลือที่ไม่เป็นไปตามฤดูกาล ประกอบกับความล้าหลังของเทคโนโลยี ส่งผลให้การทำนาเกลือขาดประสิทธิภาพ  ราคาเกลือตกต่ำ ผลผลิตขาดคุณภาพ และไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ ทำให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ต้องนำเข้าเกลือจากออสเตรเลีย และจีน

“เราต้องสนับสนุนให้ชุมชนที่ทำนาเกลือในฟิลิปปินส์รู้จักพึ่งพาตนเอง หันกลับมาปรับกระบวนการผลิต ถ้าผลิตบนพื้นฐานของความพอประมาณและมีการใช้ความรู้ทางวิชาการอย่างรอบคอบ และนำความคิดสร้างสรรค์เข้ามาประยุกต์ก็จะได้สินค้าที่มีคุณภาพ และสามารถสร้างผลิตภัณฑ์จากเกลือในรูปแบบใหม่ๆ ที่มีคุณค่ามากขึ้น ขายได้ราคาดีขึ้น นำไปใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรมได้มากขึ้น ผลที่ได้คือความสุขของชุมชน สภาพแวดล้อมไม่ถูกทำลายและสามารถรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวนาเกลือในฟิลิปปินส์ได้”

 

ปฏิรูปการศึกษา ส่งเสริมแนวคิด “พอเพียงเพื่อยั่งยืน”

ผู้แทนจากกลุ่มประเทศแอฟริกา 6 ประเทศ นำเสนอแนวทางการพัฒนาด้านการศึกษาในแอฟริกาโดยนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้เพื่อตอบสนองการเดินหน้าสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในทุกมิติ โดยหลังจากลงพื้นที่และดูงานจากโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาที่โรงเรียนวัดดอนทราย อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีการเรียนการสอนในเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตั้งแต่ระดับชั้นปฐมวัย ผู้แทนจากแอฟริกาเห็นพ้องว่า การวางรากฐานความรู้ ความคิดและสร้างแนวทางปฏิบัติเรื่องแนวคิดของความพอเพียงต้องเริ่มที่การปลูกฝังให้กับเด็กและเยาวชนตั้งแต่เล็ก เพื่อจะทำให้พวกเขามีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและสามารถคิดและนำไปประยุกต์ใช้ทำได้จริงในการดำรงชีวิตประจำวัน รวมถึงแนวทางนี้ยังสามารถนำไปปรับใช้กับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนต่างๆเพื่อการพัฒนาระบบการศึกษาในระดับประเทศได้

“เป้าหมายคือ เราจะวางแผนด้านการศึกษาเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยจะต้องมีการแต่งตั้งที่ปรึกษาเพื่อวางหลักสูตร มีการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งครู และนักเรียน ต้องมีหลักสูตรการเรียนการสอน ทั้งเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ในขณะที่ภาครัฐ และเอกชนจะต้องเข้ามาร่วมอบรมครูผู้สอนให้มีความแตกฉาน ก่อนจะถ่ายทอดสู่เด็กและเยาวชน ที่เริ่มจากการปลูกฝัง และทดสอบ เพื่อการต่อยอดและขยายผลให้พวกเขาเติบโตเป็นประชากรที่คิดอย่างมีระบบและพอเพียงเพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนได้ในอนาคต”

ทั้งนี้ ผู้แทนจากกลุ่มประเทศแอฟริกา กล่าวอีกว่า กิจกรรมการเรียนการสอนที่สถานศึกษาพอเพียงต้นแบบในประเทศไทย ที่เกิดผลสัมฤทธิ์แล้ว ยังเป็นตัวอย่างที่ดี ที่จะกระตุ้นให้ภาคเอกชน และภาคการศึกษาของแอฟริกา เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อนำแนวทางในการจัดการเรียนการสอน เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาที่ยั่งยืน ไปปรับใช้ได้ด้วยเช่นกัน

หลังจากนี้ทางโครงการ STiSD และกระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างติดตามผล และให้การสนับสนุนการดำเนินงานแก่ผู้แทนระดับสูงที่เข้าร่วมอบรมต่อไปเพื่อให้มีการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในต่างประเทศอย่างแพร่หลายมากขึ้น นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน  สามารถศึกษาและติดตามรายละเอียดโครงการอบรมหลักสูตร Sufficiency Thinking in Sustainable Development (STiSD) ได้ที่ http://www.stisdprogram.com/web/