จากเด็กที่ดรอปเรียน จนก้าวขึ้นเป็นเจ้าของธุรกิจหลายสิบล้าน

จากเด็กที่ดรอปเรียน จนก้าวขึ้นเป็นเจ้าของธุรกิจหลายสิบล้าน

 

จากความฝัน บวกความมุ่งมั่น และไม่มองข้ามโอกาส ทำให้สร้างเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยีคนใหม่คนแล้วคนเล่า

นรินทร์ คูรานาหนุ่มไฟแรงวัย 25 ปีผู้ริเริ่มและบุกเบิกไอทีด้านFinger Print Payment  หรือการชำระเงินด้วยลายนิ้วมือสู่แวดวงการศึกษาไทย นำธุรกิจเล็กๆ ที่อยู่ช่วงล้มลุกคลุกคลาน ก้าวผ่านอุปสรรค จนก่อตั้งบริษัทได้เป็นผลสำเร็จ

นรินทร์ คูรานาเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นที่นับจากศูนย์ “ผมเริ่มจากมีความฝันและมีเป้าหมายชัดเจนว่าผมจะเป็นเจ้าของธุรกิจ จึงตัดสินใจขอดรอปเรียนที่ประเทศจีนนานถึง 5 ปี แล้วกลับบ้านที่สมุย เริ่มมองหาธุรกิจ  โดยเริ่มต้นจากธุรกิจรีไซเคิล จากนั้นผมเห็นโอกาสในธุรกิจไอทีด้าน Finger Print Payment  หรือการชำระเงินด้วยลายนิ้วมือ แต่เพราะผมไม่รวย ไม่มีคนรู้จัก จะไปขายโปรเจ็คคงไม่มีคนสนใจ และตอนนั้นอาจจะยังเป็นเทคโนโลยีที่เร็วเกินไป สำหรับเมืองไทย แต่ผมยังเชื่อว่าในอนาคตระบบ BioMatrics ทั้งสแกนนิ้วมือ และม่านตา ต้องเป็นที่ยอมรับและจำเป็นในการทำธุรกรรมการเงิน”

แม้จะมองเห็นโอกาสเพียงน้อยนิด แต่เขาไม่หยุดยังคงรุกและหาแนวร่วมต่อไป...

ผมเริ่มจากเขียนจดหมายเป็นร้อยฉบับส่งไปถึงผู้อำนวยการโรงเรียนทั่วประเทศ หวังว่าน่าจะมีสักที่ตอบรับ ปรากฏว่าเหลือเชื่อเพราะมีเกือบ 20 โรงเรียนที่ติดต่อกลับให้ช่วยมาสาธิตผลงาน ซึ่งผมได้โอกาสจากวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่สงขลา ให้ผมใช้ที่นั่นเป็นสนามทดลองสินค้าเป็นแห่งแรก จนถึงวันนี้ที่นั่นยังเป็นลูกค้าของผม จุดแข็งที่ทำให้ธุรกิจเราเหนือกว่าคู่แข่งคือพร้อมให้บริการอย่างรวดเร็ว ถ้าลูกค้ามีปัญหาเราก็พร้อมที่จะแก้ไขให้อย่างทันที”

จากเด็กสมุยมาอยู่กรุงเทพฯ เช่าห้องใต้บันไดเล็กๆแคบๆด้วยเงินทุนแค่แสนเดียว กับผู้ร่วมก่อตั้งอีกคนหนึ่งที่นรินทร์ไปกล่อมให้เค้าเชื่อว่าธุรกิจไปได้รอดแน่ๆ เพราะมีแผนงานที่ดีนรินทร์รู้ดีว่าหนทางนี้ไม่ได้ง่ายนัก เวลาผ่านไปไม่นานเงินทุนก็ลดลงเหลืออยู่เพียงสองหมื่น จังหวะนั้นเหมือนทุกอย่างกำลังจะไปไม่รอดเพื่อนๆเริ่มหาย เพราะต้องไปหยิบยืมเงินเพื่อน รวมไปถึงพ่อแม่เพื่อน เพราะอยากมาช่วยค่าใช้จ่ายในบริษัทเบื้องต้น.... แต่สุดท้ายเขากลับมีรายได้เป็นหลักล้านภายในปีเดียวกัน

“ระหว่างนั้น ผมเห็นโครงการYoung Technopreneur หรือเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยีทางเว็บไซต์ที่ทาง “กลุ่มบริษัทสามารถ” และสวทช. ร่วมกันจัดขึ้น เกิดความคิดที่อยากหาช่องทางโปรโมท เพื่อหาลูกค้าจึงเข้าร่วมโครงการฯ เหมือนเป็นจุดเปลี่ยน โครงการฯมีหลักสูตรอบรมให้ความรู้ทุกสัปดาห์ ผมไม่เคยขาดเรียนเลยสักชั่วโมง ผมสั่งสมความรู้ ประสบการณ์ ทั้งเรื่องของเทคโนโลยี การตลาด การลงมือวางแผนปฏิบัติจริงๆ จากกูรูหลายๆท่านจากสิ่งที่ผมไม่เคยได้เรียนรู้..กับการสนับสนุนโอกาสหลายๆอย่างจากโครงการรวมถึงการได้พบกับนักลงทุนที่เขาป้อนคำถามให้ผมมากมาย จนผมมาคิดว่าในโลกของธุรกิจไม่ง่ายเลย แต่ความทุ่มเทของผมก็ไม่ได้สูญเปล่า คำแนะนำจากที่ปรึกษาและสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากโครงการฯ ทำให้ผมมีการเตรียมพร้อมอย่างดีทั้งแผนธุรกิจและการนำเสนอ ทุกอย่างเป็นแรงเสริมทำให้ผมมีความมั่นใจ ทำให้ผมได้รับโอกาสที่ยิ่งใหญ่..คว้ารางวัลชนะเลิศ SAMARTInnovation Award ในปีที่ผ่านมาได้...ผมคิดว่านั่นแหละโอกาสที่ผมจะโปรโมทตัวเองมาถึงแล้ว”

นรินทร์ เล่าถึงจุดเปลี่ยนหลังจากที่ได้เข้าอบรมโครงการYoung Technopreneur

หลังจากนั้น ผมกลับไปประเทศจีนและมีโอกาสพบกับนักลงทุนชาวจีนที่สนใจและเชื่อมั่นในสินค้าและเทคโนโลยีของเรามาช่วยด้านเงินทุน จนทำให้มีบริษัทเป็นรูปเป็นร่าง จากเดิมที่ผมกำลังจะตาย แต่ภายในปีเดียวกันกลับมีเงินทุน 20 ล้านเข้าบริษัท ระยะเวลาไม่ถึงครึ่งปี ผมมีรายได้ 3-5 ล้านบาท ลูกค้า 5-7 พันคน”

การเริ่มต้นมักจะมีอุปสรรค ทุกคนล้วนมีปัญหาที่ต่างกันเพราะต่างหน้าที่ แต่ด้วยมอตโต้ It's not over until we win. ทำให้บริษัทของนรินทร์สู้และไม่ท้อกับปัญหา

“มีคนเคยพูดไว้‘ไม่ว่าคุณจะทำอะไร ทำให้เห็นก่อนซิแล้วชั้นถึงจะเชื่อ’ ผมจะบอกว่า คิดผิด ถ้าเชื่อก่อนแล้วคุณจะเห็นผลของมัน ถึงแม้จะไม่มีใครเห็น แต่คุณนั่นแหละที่จะอยู่กับมัน ผมพูดกับตัวเองตลอดว่าเราต้องทำได้ ขอส่งต่อความเชื่อและกำลังใจนี้ให้กับน้องๆ สตาร์ทอัพทุกคนครับ” นรินทร์ ในฐานะรุ่นพี่ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศจากโครงการYoung Technopreneur2559 กล่าวให้กำลังใจทิ้งท้าย

ปัจจุบันผลงาน “จับจ่าย ฟอร์ สคูล” (JabJai For School) เทคโนโลยีที่สร้างบัญชีเงินฝากระหว่างนักเรียนและโรงเรียน โดยใช้ลายนิ้วมือในการซื้อสินค้าและลงเวลาเรียนในโรงเรียน รวมถึงรายงานผลผ่านแอพพลิเคชั่นแบบ Real time ช่วยให้การบริหารจัดการในสถานศึกษาสะดวกสบายขึ้น กลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่ให้บริการด้านนี้อย่างมืออาชีพ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงพลังคน พลังความคิดสร้างสรรค์และพลังนวัตกรรม ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ