เปิดห้องเรียนผู้นำ ‘ยูโอบี’

เปิดห้องเรียนผู้นำ ‘ยูโอบี’

ในบริบทการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ “คน” เป็นสินทรัพย์หลักที่แต่ละองค์กรให้ความสำคัญ

การติดอาวุธความรู้และพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคตเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านนี้

ทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในยุคดิจิทัลมีอะไรบ้างและแนวทางการพัฒนาบุคลากรให้มีความเข้าใจในบริบทการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น  

เพราะธนาคารยูโอบี เป็นธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาคมีเครือข่ายสำนักงานกว่า 500 แห่ง ใน 19 ประเทศทั้งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ยุโรปตะวันตก และอเมริกาเหนือ  จึงมีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับบุคลากรที่มีศักยภาพในหลากหลายประเทศ  และเข้าใจเป็นอย่างดีว่าคุณสมบัติที่หลากหลายของพนักงานแต่ละคน คือองค์ประกอบอันลงตัวที่ช่วยสร้างความโดดเด่นและนำมาซึ่งศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจขององค์กร

“Leadership Academy”  นับเป็นตัวเร่งสำคัญที่ธนาคารยูโอบีนำมาใช้ในการเป็นพื้นที่บ่มเพาะและเสริมแกร่งด้านทักษะความรู้ใหม่ๆ ให้กับบุคลากรที่มีศักยภาพเติบโตสู่การเป็นผู้นำขององค์กร

ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน)  จึงได้ร่วมกับร่วมกับ "Chulalongkorn Business School" หรือ CBS สถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจแห่งแรกของไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับโลก AACSB (The Association to Advance Collegiate Schools of Business)  ปรับปรุงหลักสูตรพัฒนาผู้นำและผู้บริหารของ ธนาคารยูโอบี มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556

หลักสูตรการเรียนรู้มีสองระดับ ได้แก่ หลักสูตรพัฒนาผู้นำองค์กร (Ultimate Leadership Series) และ หลักสูตรพัฒนาภาวะผู้นำ (Leadership Academy Level 1)

หลักสูตรพัฒนาผู้นำองค์กร มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บริหารในระดับผู้อำนวยการ และผู้อำนวยการอาวุโส (VP และ SVP)   โดยมีเนื้อหาการเรียนรู้ในห้องเรียนควบคู่กับการฝึกปฏิบัติงานจริงและการนำเสนอ เป็นระยะเวลา 4 เดือน

ด้านหลักสูตรพัฒนาภาวะผู้นำ เป็นหลักสูตร 3 เดือนที่ออกแบบสำหรับระดับพนักงานอาวุโสขึ้นไปถึงผู้ช่วยผู้อำนวยการ (Senior officer, Manager, AVP) เป็นการปรับพื้นฐานและเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการตัวเอง การสื่อสารกับทีมให้เกิดประสิทธิภาพ และทักษะที่จำเป็นอื่นๆ ที่มีผลต่อการทำงานในอนาคต

เปิดห้องเรียนผู้นำ ‘ยูโอบี’

คุณศศิวิมล อารยวัฒนาพงษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ทรัพยากรบุคคล
ธนาคาร ยูโอบี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ธนาคารยูโอบี เชื่อมั่นในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาเพื่อเตรียมความพร้อมในมิติด้าน “บุคลากร” ของยูโอบี เพื่อพัฒนาผู้บริหารธนาคารยูโอบี ให้เติบโตไปเป็นผู้บริหารระดับสูงของแต่ละสายงาน หรือก้าวขึ้นเป็นผู้นำขององค์กรสืบทอดรุ่นสู่รุ่น”

ในแต่ละปีธนาคารยูโอบี จะมีการพิจารณาเฟ้นหาบุคลากรที่มีผลการปฏิบัติงานโดดเด่น และมีศักยภาพในการเติบโตให้เข้าร่วมพัฒนาทักษะ ซึ่งแต่ละโปรแกรมจะดีไซน์ขึ้นมาให้สอดรับกับความรับผิดชอบและเทรนด์ใหม่ๆ ในการดำเนินธุรกิจการเงินและการธนาคาร เช่น Digital Banking,  Design Thinking เป็นต้น

คุณภวิษณ์ เปรมประจักษ์ ผู้อำนวยการ ธนาคารยูโอบี หนึ่งใน Talent ที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตร Leadership Academy Level 1 ถ่ายทอดประสบการณ์ว่า LA1 ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับพนักงานที่มีศักยภาพที่จะเติบโตไปเป็นผู้บริหารในระดับสูง ขึ้นไป

เนื้อหาเป็นการเสริมสร้างความรู้และทักษะเพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อเวลาก้าวไปสู่ผู้บริหาร  เช่น ทักษะด้านการสื่อสารที่มองถึงการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพ การจัดเรียงความคิดและสื่อสารในกรณีเวลาจำกัด เพื่อให้ได้ประสิทธิผลสูงสุด

นอกจากนี้ ยังมีหัวข้อเรื่อง Self Mastery ที่ทำให้เข้าใจถึงตัวตนของตัวเองว่าต้องการอะไร และต้องเดินไปอย่างไรในอนาคต ขณะเดียวกันก็ให้มองย้อนกลับไปถึงว่า ผู้ใต้บังคับบัญชา และผู้บังคับบัญชาที่อยู่สูงจากเราขึ้นไปมีมุมมองอย่างไร และคาดหวังอะไรในตัวเรา

ที่ขาดไม่ได้เป็นการเข้าใจสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปของโลกดิจิทัลรอบตัว ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และการจัดเรียงความคิดเพื่อจะได้ปรับตัวได้อย่างทันท่วงที

“ก่อนหน้านี้เราอาจเป็นพนักงานชั้นต้นที่มองงานเล็กๆ เพียงจุดเดียว ไม่ได้มองในภาพใหญ่ ทำให้ขาดวิสัยทัศน์ที่จะต่อยอดขึ้นไป คอร์สนี้เหมือนเป็นตัวกระตุ้นให้ได้เห็น และเปลี่ยนแนวความคิดให้มองในภาพใหญ่ ในความสัมพันธ์ของงานที่มีอยู่เป็นโครงข่ายธนาคาร”

 “ในฐานะที่ถูกเลือกมีหน้าที่นำไปปฏิบัติ และสอนคนอื่นๆ ที่อาจจะยังไม่ได้รับโอกาสนี้  เพื่อให้สิ่งที่ได้เรียนรู้มาขยายออกไปภายในองค์กรให้ได้มากที่สุด”

ด้าน รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในบทบาทของการพัฒนาคอร์สอบรมร่วมกับยูโอบี เปิดเผยว่า “การเรียนรู้ในครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เพิ่มทักษะ แต่เป็นการนำทักษะมาทำให้เกิดผล”

 ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้บริหารก็คือ ต้องเปิดรับการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่ไม่มีวันสิ้นสุด

ทักษะความเป็นผู้นำในอนาคตต้องมีทักษะอะไรบ้าง เช่น คิดเชิงกลยุทธ์  ทำงานร่วมกันเป็นทีม แม้แต่ความเข้าใจปัจจัยแวดล้อมที่เข้ามากระทบ หรือแม้แต่ Design Thinking  มีทั้งภาคศึกษา Simulation  และการนำเสนอโปรเจคก่อนจบคอร์ส

แนวทางการเรียนรู้ที่ออกแบบขึ้น เพื่อให้ผู้เข้าอบรมไม่เพียงแต่ได้ความรู้เท่านั้น หากผู้เรียนจะได้ทักษะติดตัวที่พร้อมจะนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในงานที่รับผิดชอบ  

ในยุคดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ท้ายที่สุด “คน” จะเป็นกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวเดินไปข้างหน้า