อ.ส.ค. จับมือ ธกส. และประกันภัยไทยวิวัฒน์

อ.ส.ค. จับมือ ธกส. และประกันภัยไทยวิวัฒน์

ให้ความรู้ ‘ประกันภัยโคนม’ ลดความเสี่ยงเกษตรกร เนื่องจากการประกอบอาชีพทุกประเภทมีความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อผลผลิตของเกษตรกร  

 

องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) จับมือ 2 หน่วยงาน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)  และประกันภัยไทยวิวัฒน์ ให้ความรู้ด้านการประกันภัยโคนมแก่กลุ่มสหกรณ์โคนม เนื่องจากการประกอบอาชีพทุกประเภทมีความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อผลผลิตของเกษตรกร

 

ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการให้ความรู้ด้านการประกันภัยโคนมแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมว่า

“เนื่องจากการเลี้ยงโคนมมีปัจจัยความเสี่ยงจากหลายด้าน อาทิ การเจ็บป่วยของโคนม  หรืออุบัติเหตุ-เหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นกับโคนม เช่น ฟ้าผ่า ดินถล่มหรือแม้แต่ภัยพิบัติที่อาจทำให้โคและฟาร์มโคนมของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมได้รับความเสียหายอย่างไม่คาดฝัน ฯลฯ ดังนั้น เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมสามารถประกอบอาชีพการเลี้ยงโคนม ซึ่งเป็นอาชีพพระราชทานได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน อีกทั้งลดความเสี่ยงจากเหตุไม่คาดฝันดังกล่าว อ.ส.ค. จึงได้ร่วมมือกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และ บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด

ให้ความรู้เกี่ยวกับระบบการประกันภัยโคนม เพื่อนำเสนอเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับโคนม ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ (Asset) ของเกษตรกร ด้วยการทำประกันภัยโคนม ซึ่งครอบคลุมปัจจัยที่อาจเป็นต้นเหตุของความเสียหายต่อโคนมหลายประการ อาทิ ด้านสุขภาพโคนม อุบัติเหตุ ฟ้าผ่า ดินถล่ม ดังนั้น การโอนความเสี่ยงภัยโคนมไปให้ผู้รับประกันภัยจึงถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงแก่เกษตรกรได้ หากเกิดความเสียหายขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับหลักปฏิบัติในระดับสากลของการทำฟาร์มโคนมที่เกษตรกรจะต้องทำประกันภัยด้านการเกษตร เพื่อลดความเสี่ยงของตนเอง”

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับการทำประกันการเกษตรกับประเทศไทย ดร.ณรงค์ฤทธิ์กล่าวว่า ประเทศไทยได้เริ่มมีการทำประกันภัยการเกษตรจากการทำนาข้าวมาตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งเกษตรกรมากกว่า 1.9 ล้านคนสามารถเข้าถึงระบบการประกันภัยการเกษตรได้ ขณะที่รัฐบาลก็มีนโยบายขยายการประกันภัยภาคเกษตรไปยังการเกษตรชนิดอื่นๆ  อ.ส.ค. จึงได้หารือร่วมกับ ธกส. กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ตลอดจนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงบริษัทประกันภัยเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการประกันภัยโคนม

 

ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวถึงการเลือกกิจการโคนมของเกษตรกร เพื่อทำประกันภัยโคนมว่า ประกอบด้วยเหตุผลสำคัญๆอยู่ 3 ประการ คือ

  1. แม่โคมีมูลค่าสูง ราคาตั้งแต่ตัวละ 40,000-50,000 บาท หากโคนมเสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันอาจนำมาซึ่งภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกร
  2. โคนมให้ผลผลิตน้ำนมสม่ำเสมอ ถ้าหากโคเจ็บป่วยหรือมีปัญหาไม่สามารถส่งน้ำนมได้ ทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลง การประกันภัยอาจช่วยทดแทนรายได้ตรงส่วนนี้ได้
  3. การเลี้ยงโคนมเกษตรกรรวมกันเป็นสหกรณ์โคนม การจัดตั้งเป็นสหกรณ์ เมื่อสหกรณ์เข้มแข็งก็จะสามารถทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเข้าถึงระบบการประกันภัยโคนมได้ง่ายขึ้น

 

สำหรับการประกันภัยโคนม เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เกษตรกรลดความเสี่ยงในการทำฟาร์มโคนม เกษตรกรสามารถเอาเครื่องมือประกันภัยเป็นเครื่องมือทางการเงินถ่ายโอนความเสี่ยงของการดำเนินกิจการฟาร์มโคนม จะทำให้เกษตรกรมีภาระลดลงอีกด้วย ซึ่งนำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของอาชีพการเลี้ยงโคนม