โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

ความผิดปกติที่เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลายจากการที่ขาดเลือดและออกซิเจนที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการอุดตัน

อาการผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์ด้วยอาการแน่นอกที่รุนแรง เหมือนถูกกด ถูกบีบ หรือรู้สึกแน่นกลางหน้าอก มีเหงื่อออก ใจสั่น ปวดร้าวไปกราม สะบักหลัง แขนซ้าย จุกคอหอย บางคนอาจมีความรู้สึกเหมือนมีเชือดรัด หรือมัดรอบหน้าอก หรือมาด้วยจุกใต้ลิ้นปี่คล้ายโรคกระเพาะหรือกรดไหลย้อน อาจมีตัวเย็น วิงเวียน คลื่นไส้ ใจสั่น หายใจผิดปกติ และอ่อนแรง ถ้ามีอาการดังกล่าวให้ท่านไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเกิดจากการตีบหรืออุดตันเฉียบพลันของหลอดเลือดแดงหัวใจหลักการรักษาที่สำคัญที่สุด คือ ต้องให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่รวดเร็วทันท่วงที ก่อนที่กล้ามเนื้อหัวใจส่วนที่ขาดเลือดไปเลี้ยงจะตายลงในที่สุด ซึ่งก็จะต้องอาศัยการวินิจฉัยให้ได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง มีการจำแนกเป็น2 ชนิดโดยดูจากผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ(Electrocardiography,ECG)เป็นแบบ ST elevation MI (STEMI) ซึ่งหลอดเลือดมีการอุดตัน 100% และแบบ Non-ST elevation acute coronary syndrome (NSTE-ACS) ซึ่งหลอดเลือดมีการตีบที่รุนแรง การรักษาจึงแบ่งออกตามผลการตรวจพบคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

         

         STEMI: การทำให้หลอดเลือดที่อุดตัน หายอุดตันและทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจต่อไปได้ ซึ่งจะช่วยลดบริเวณที่กล้ามเนื้อหัวใจตายให้น้อยที่สุด และลดอัตราการเสียชีวิตและภาวะแทรกซ้อนต่างๆลงได้ โดยวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐานในปัจจุบันคือ การรักษาเพื่อให้หลอดเลือดเปิด หรือ reperfusion therapy ให้เร็วที่สุด มีวิธีการอยู่ 2 รูปแบบ คือ โดยการใช้สายสวนหลอดเลือดหัวใจชนิดพิเศษดูดเอาลิ่มเลือดออกพร้อมกับการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนและตามด้วยการใส่ขดลวดค้ำยัน (Percutaneous coronary intervention, PCI) หรือการให้ยาละลายลิ่มเลือด (fibrinolytic หรือ thrombolytic drugs) 

         

          NSTE-ACS: มีการประเมินความเสี่ยงของโรคเพื่อเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายและช่วยบอกการพยากรณ์โรคในระยะสั้นได้ หากผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดควรได้รับการรักษาด้วยการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ และอาจทำการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนและตามด้วยการใส่ขดลวดค้ำยัน (Percutaneouscoronaryintervention, PCI) โดยเร็ว ถ้าผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่ำต่อการเสียชีวิตจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดสามารถได้รับการรักษาด้วยยาและประเมินความเสี่ยงเพิ่มเติมด้วยการตรวจ Echocardiogram และ Exercise stress test (เดินสายพานเพื่อทดสอบสมรรถภาพหัวใจ)

 

กล้ามเนื้อหัวใจจะขาดเลือดรุนแรงแค่ไหนขึ้นกับอะไรบ้าง

    -  ระยะเวลาที่ขาดเลือดจนกระทั่งลิ่มเลือดละลาย (ตั้งแต่เริ่มมีอาการจนได้รับการรักษา)

    -  หลอดเลือดตีบมากหรือน้อย

    -  มีการสร้างหลอดเลือดใหม่ไปยังบริเวณที่ขาดเลือดหรือไม่

    -  ขนาดของหลอดเลือดที่ตีบ

    -  จำนวนเส้นที่หลอดเลือดตีบ

    -  มีโรคประจำตัวหรือไม่ เช่นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน

 

ติดต่อสอบถามและเรียกรถพยาบาลฉุกเฉินได้ที่

ศูนย์หัวใจ/แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ติดต่อเบอร์ : 02 836 9977 

โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล (WMC)  

Call Center  02 836 9999