โครงการHealthy Digital Family เสพสื่อใช้สติ มีสไตล์ ให้สตรอง

โครงการHealthy Digital Family เสพสื่อใช้สติ มีสไตล์ ให้สตรอง

หนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ เจ้าพ่อไอทีชื่อดัง ที่มาแนะเคล็ดลับวิธีการสร้างความปลอดภัยในการใช้สื่อโซเชียลให้ตัวเองแบบง่าย ๆ 

อาชญากรรมในโลกอินเตอร์เน็ตอยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คุณคาดคิด สื่อดิจิทัลมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย ทุกอย่างง่ายดายด้วยปลายนิ้ว ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสาร ส่งข้อมูลทางอีเมล์ หรือการทำธุรกรรมทางออนไลน์  การขโมยข้อมูล หรือการ “แฮก” จึงเกิดขึ้นได้กับบุคคลทั่วไป จนถึงบริษัท องค์กร และหน่วยงานต่างๆ ยิ่งมีการใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นเท่าไหร่ สถิติอาชญากรรมบนโลกไซเบอร์ก็ยิ่งมากขึ้นและมาในหลากหลายรูปแบบ 

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมให้คนไทยใช้สื่อดิจิทัลอย่างรู้เท่าทันและปลอดภัยไม่ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพโดยง่าย ล่าสุดจึงจัดโครงการ Healthy Digital Family เสพสื่อ ใช้สติ มีสไตล์ ให้สตรอง โดยได้รับเกียรติจาก หนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ เจ้าพ่อไอทีชื่อดัง ที่มาแนะเคล็ดลับวิธีการสร้างความปลอดภัยในการใช้สื่อโซเชียลให้ตัวเองแบบง่าย ๆ 

  1. การตั้งรหัสผ่านต้องให้รัดกุม

แม้ว่าในปัจจุบันการรักษาความปลอดภัยของระบบต่าง ๆ มีมากขึ้น เช่น การปกป้องแบบ Two Factor Authentication แทนที่จะใส่รหัสอย่างเดียว ระบบจะมีการส่ง sms มาให้ใส่รหัสอีกครั้ง เพื่อยืนยันตัวตนผู้ใช้งาน แต่ก็ยังมีช่องทางให้แฮกเกอร์เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานในหลากหลายรูปแบบ หลายช่องทาง โดยเป้าหมายมักจะอยู่ที่ Facebook, Twitter, Instagram และระบบธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งผู้แฮกมีจุดประสงค์เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการหาผลประโยชน์ของตนเอง และใช้ในการกระทำผิดต่าง ๆ เช่น การแอบอ้างเจ้าของบัญชีเพื่อยืมเงิน การขู่ให้โอนเงิน การเผยแพร่สื่อผิดกฎหมาย เป็นต้น

 

ข้อแนะนำเรื่องรหัสผ่าน หรือ Password

-           การตั้งรหัสผ่านต้องมีความยาว 8 ตัวขึ้นไป

-           มีทั้งตัวพิมพ์ใหญ่ ตัวพิมพ์เล็ก และตัวเลข

-           ใช้อักขระพิเศษในตัวอักษร

-           รหัสผ่านที่ใช้ในแต่ละบัญชี และแอปพลิเคชันควรจะแตกต่างกัน

-           หมั่นเปลี่ยนรหัสผ่านบ่อย ๆ ออกจากระบบทุกครั้งที่เลิกใช้

-           ควรเชื่อมโยงบัญชีไว้กับเบอร์โทรศัพท์ อีเมล์ เผื่อว่าหากโดนแฮกจะได้มีตัวช่วยในการเรียกคืนบัญชีได้

-           ต้องไม่บอกรหัสผ่านกับใคร

  1. อย่าคลิกลิงก์ที่ไม่น่าไว้ใจ

เราต้องรู้จักพิจารณาในการใช้สื่อ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ ลิงก์หรือแอปพลิเคชัน เพราะบรรดาอาชญากรบน อินเทอร์เน็ตมักจะหลอกล่อให้ผู้ใช้คลิกเข้าไปในลิงก์ที่แนบมากับอีเมล์ต่าง ๆ ที่เหมือนกับอีเมล์จริงจนแทบแยกไม่ออก  ฉะนั้น ก่อนจะคลิกเพื่อเข้าไปดูอะไร เราต้องแน่ใจก่อนว่าเป็นขององค์กรและหน่วยงานนั้นจริง ๆ ซึ่งดูได้จากตัวสะกดใน URL และการเข้ารหัสปกป้องความปลอดภัยของเว็บไซต์

  1. อย่ากรอกข้อมูลลงในเว็บไซต์แบบสุ่มสี่สุ่มห้า

ในการเข้าดูเว็บต่าง ๆ มักจะมีการกำหนดให้กรอกข้อมูลส่วนตัวเพื่อรับข่าวสาร โปรโมชั่น หรือสิทธิพิเศษ ซึ่งเป็นความเสี่ยงสูงในการโดนแฮกข้อมูลส่วนตัว เพราะปัจจุบันมีการขโมยข้อมูลด้วยการฟิชชิ่ง (Phishing)  คือการ หลอกล่อด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อดักรหัสที่เจ้าของบัญชีหลงกรอกข้อมูลเข้าไป จากนั้น แฮกเกอร์จะใช้วิธีส่งอีเมล์แจ้งไปว่าบัญชีของคุณมีปัญหา ให้ทำการแก้ไขด่วน โดยจะมีลิงก์แนบไว้เพื่อให้เหยื่อกดเข้าไปเพื่อเข้าสู่ระบบลิงก์เหล่านี้ ทำเอาไว้เพื่อหลอกให้ผู้ใช้คิดว่าเป็นหน้าเข้าสู่ระบบของผู้ให้บริการนั้น ๆ เมื่อกรอกข้อมูลการเข้าสู่ระบบ ข้อมูลที่กรอกจะถูกส่งไปยังแฮกเกอร์ แล้วแฮกเกอร์ก็จะได้รหัสผ่านที่ต้องการไป            

 

  1. WiFi ฟรี อย่าเพิ่งดีใจ

แน่นอนว่าใคร ๆ ก็อยากใช้ WiFi ฟรี จะได้ไม่ต้องเปลืองเน็ตตัวเอง แต่ระบบ WiFi บางแห่งไม่มีการรักษาความปลอดภัย ซึ่งจะทำให้เจ้าของโทรศัพท์มีความเสี่ยงในการโดนแฮกข้อมูล และฝังมัลแวร์ได้ง่าย ยิ่งเป็นการทำธุรกรรมทางการเงินด้วยแล้ว ขอแนะนำให้เลี่ยง WiFi ฟรีไปเลย  เพราะแฮกเกอร์สามารถเจาะระบบด้วยการดักจับและฝังสคริปไวรัสผ่านสัญญาณ WiFi ที่สามารถทำลายข้อมูลของคุณได้ ถ้าไม่มีการป้องกันที่ดี

  1. อัพเดทซอฟท์แวร์รักษาความปลอดภัย และระบบปฏิบัติการอยู่เสมอ

การอัพเดทโปรแกรมและระบบปฏิบัติการจะช่วยปิดช่องโหว่ในการเสี่ยงจากการโดนแฮกได้อีกทางหนึ่ง ยิ่งอัพเดทอยู่เสมอก็จะยิ่งช่วยอุดรูรั่ว หรือ flow ในโปรแกรมที่ผู้ร้ายสามารถใช้ในการขโมยข้อมูลได้ รวมจนถึงการตั้งค่าความปลอดภัยบนมือถือ ไม่ว่าจะใช้โทรศัพท์ระบบ ios หรือ Android เพราะการตั้งค่านี้จะสามารถช่วยให้ข้อมูลส่วนตัวของคุณไม่สูญหาย หรือตกไปอยู่ในมือของผู้ไม่ประสงค์ดีได้

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของการโดนแฮกยังอาจเกิดขึ้นได้ แม้เราจะป้องกันดีแค่ไหนก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุด สำหรับผู้ใช้สื่อดิจิทัล คือต้องใช้ความรอบคอบ มีสติ และความละเอียดถี่ถ้วนในการเข้าเว็บไซต์ต่าง ๆ รวมถึงการใช้โทรศัพท์มือถือในการทำธุรกรรมออนไลน์ ตลอดจนการอัพเดทข่าวสาร นอกจากนั้น เราควรรอบรู้วิธีป้องกันไม่ให้แฮกเกอร์เข้าถึงข้อมูลของเราได้  เสพสื่ออย่างใช้สติ ใช้สื่ออย่างมีสไตล์ สร้างเกราะกันภัยที่สตรอง เพื่อให้ตนเองและครอบครัวไม่ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพ