ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบ้านเชียง

ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบ้านเชียง

"หม้อลายเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ อนุรักษ์ธรรมชาติ...บึงนาคำ งามล้ำ...พุทธอุทยานอีสานเขียว แหล่งท่องเที่ยว...มรดกโลก "

ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบ้านเชียง

ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี

บ้านเชียง...มรดกโลกทางวัฒนธรรม...กับวิถีไทยพวน

"หม้อลายเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ อนุรักษ์ธรรมชาติ...บึงนาคำ งามล้ำ...พุทธอุทยานอีสานเขียว แหล่งท่องเที่ยว...มรดกโลก "

บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ถือได้ว่าเป็นหมู่บ้านแห่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่บอกเล่าถึงอารยธรรมของผู้คนในดินแดนประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากว่า 5,600 ปีมาแล้ว

ชาวบ้านเชียงในปัจจุบันเป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจากเมืองพวนของราชอาณาจักรลาวเมื่อ 200 ปี ทุกคนล้วนมีความมุ่งมั่นที่จะสืบสานและนำเสนออารยะของคนบ้านเชียงในยุคก่อนประวัติศาสตร์และเอกลักษณ์ของชาวไทยพวนรวมทั้งวัฒนธรรมในพื้นที่อิสาน ผ่านวิถีชีวิตและงานศิลปะ ทุกเส้นสายที่แต่งแต้มสีบนดินปั้น สื่อถึงอารยธรรมอันรุ่งเรืองในอดีตสืบเนื่องมาเป็นเวลากว่าหลายพันปี

เรื่องราวต่างๆ ของชาวบ้านเชียง แทรกอยู่ในเม็ดดินอันอุดมสมบูรณ์ที่ผ่านช่วงเวลาหลายยุคหลายสมัยเรื่อยมาจนมีชาวพวนจากแขวงเชียงขวาง แห่งราชอาณาจักรลาว อพยพข้ามแม่น้ำโขงมา ตัดสินใจลงหลักปักฐานกันตรงนี้เมื่อราวปี พ.ศ. 2360 ซึ่งในตอนนั้นเรียกว่า "ดงแพง" ทับซ้อนบนผืนดินเดียวกับที่เจ้าของวัฒนธรรมบ้านเชียงเคยอยู่เมื่อหลายพันปีก่อน

ร่องรอยของมนุษย์ในสมัยดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่มีพัฒนาการแล้วในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านความรู้ความสามารถหรือภูมิปัญญา อันเป็นเครื่องมือสำหรับช่วยให้ผู้คนเหล่านั้นสามารถดำรงชีวิตและสร้างสังคม-วัฒนธรรมของมนุษย์ได้สืบเนื่องต่อกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน วัฒนธรรมบ้านเชียงได้ครอบคลุมถึงแหล่งโบราณคดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกกว่าร้อยแห่ง ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่ที่มีมนุษย์อยู่อาศัยหนาแน่นมาตั้งแต่หลายพันปีแล้ว ด้วยเหตุนี้องค์การยูเนสโกจึงได้ยอมรับขึ้นบัญชีแหล่งวัฒนธรรมบ้านเชียงไว้เป็นแห่งหนึ่งในบรรดามรดกโลก

ศิลปะเครื่องปั้นดินเผา ของบ้านเชียงนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ยุค ได้แก่

1.ภาชนะดินเผาสมัยต้น อายุ 5,600-3,000 ปี มีลายเชือกทาบ ซึ่งคาดกันว่าเป็นปอกัญชา ทั้งยังมีลายขูดขีด และมีการเขียนสีบ่า โดยพบวางคู่กับโครงกระดูก บางใบ ใช้บรรจุศพเด็ก

2. ภาชนะดินเผาสมัยกลาง อายุ 3,000 ปี-2,300 ปี สมัยนี้เป็นสมัยที่เริ่มมีการขีดทาสีแดง

3. ภาชนะดินเผาสมัยปลาย อายุ 2,300 ปี-1,800 ปี เป็นยุคที่มีลวดลายที่สวยงามที่สุด ลวดลายพิสดาร สะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมที่สงบสุข ก่อนที่จะกลายมาเป็นการเคลือบน้ำโคลนสีแดงขัดมัน

แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงได้จดทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ. 2535 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 16 ที่เมืองแซนตาเฟ รัฐนิวเม็กซิโก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยผ่านข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลก

ชาวบ้านเชียงเชื้อสายไทพวนในปัจจุบัน มีความภาคภูมิใจที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ยูเนสโก อันดับที่ 359 เมื่อปี พ.ศ. 2535 เป็นอันดับที่ 4 ของประเทศไทย เป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อ 5000 ปีล่วงมาแล้ว ที่มีความสำคัญในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก เป็นเครื่องยืนยันถึงวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันว่ามีความสำคัญต่อมนุษยชาติแห่งหนึ่งของโลก

บ้านเชียง นอกจากภาพแหล่งโบราณคดีหลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน และบ้านไทพานแล้ว อีกภาพหนึ่งที่ผู้คนทั่วไปจะคุ้นตาหรือนึกถึงก็คือ หม้อดินเผาเขียนสีลายเชือกทาบ ปัจจุบันชาวบ้านได้นำมรดกชิ้นเอก หม้อดินเผาเขียนสีของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ นำมาต่อยอดสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาในรูปภาชนะต่างๆ ไปจนถึงสินค้าที่ระลึก สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านเชียง

บ้านเชียง มากไปด้วยหม้อไหดินเผาลายเชือกทาบก็ไม่ผิดนัก ยิ่งเมื่อได้ไปที่แหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ บ้านเชียงด้วยแล้ว จะตื่นตาไปกับห้องจัดแสดงภาชนะดินเผารูปทรงต่างๆ ลายเชือกทาบ อีกโครงกระดูก ขวานหิน ลูกกลิ้งดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้และสิ่งของอื่นๆ มากมาย ที่ได้จากการสำรวจขุดค้นที่บ้านเชียง และแหล่งโบราณคดีใกล้เคียง นิทรรศการนำทางเล่าเรื่องราวมนุษย์ดึกดำบรรพ์ในวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ แบ่งออกเป็น 3 ระยะใหญ่ ตามลักษณะการฝังศพและภาชนะดินเผาที่บรรจุลงเป็นเครื่องเซ่นในหลุมฝังศพ ดังนี้ สมัยต้นบ้านเชียง อายุระหว่าง 5,600–3,000 ปีมาแล้ว สมัยกลางบ้านเชียง อายุระหว่าง 3,000–2,300 ปีมาแล้ว และสมัยปลายบ้านเชียง อายุระหว่าง 2,300–1,800 ปีมาแล้ว

เมื่อดูนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์เสร็จแล้ว ควรได้แวะไปดูแหล่งโบราณคดีหลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน ซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก ราวกิโลเมตรเศษ

บ้านเชียง แม้ว่ามีแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ระดับโลกเป็น “จุดขาย” ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แต่ดูเหมือนว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ไปเยือน “ในแต่ละปีอยู่ราว 2 แสนคน” (ข้อมูลงานมรดกโลก 10 ก.พ.60) ด้วยเหตุนี้ ท้องถิ่นพยายามจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมเข้ามาเสริม ทั้งด้านศิลปะการเขียนสีลายเชือกทาบบนหม้อดิน จัดบายศรีสู่ขวัญผู้มาเยือน ฯลฯ รวมถึงงานแสงสีเสียงมรดกโลกจัดขึ้นทุกปี เพื่อที่จูงใจให้นักท่องเที่ยวคนไทยด้วยกันและชาวต่างชาติมาเยือนบ้านเชียงมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ชาวบ้านเชียงพร้อมต้อนรับผู้ไปเยือนด้วยรอยยิ้ม อัธยาศัยอย่างมิตรไมตรี ดังที่ได้สัมผัสบรรยากาศงานมรดกโลก

ชุมชนบ้านเชียง ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี มีความโดดเด่นในของเครื่องปั้นโบราณคดี เช่น กลุ่มภาชนะดินเผา เป็นต้น

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุดรธานี ร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรมสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เปิดตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรม แห่งแรกของอุดรธานี ชูวัฒนธรรมบ้านเชียงแห่งมรดกโลกเสริมมรดกภูมิปัญหาของชุมชน สนับสนุนให้ชุมชนมีรายได้ สร้างภูมิคุ้มกันสังคม สู่การพัฒนาชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง นอกจากนี้ยังคงรักษาวิถีชีวิต ตลอดจนยังคงรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม อาทิ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และภาษาไทพวน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุดรธานี จึงกำหนดให้ชุมชนบ้านเชียง เป็นตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรม และในปี พ.ศ.2560 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้คัดเลือกชุมชนบ้านเชียง เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอีกด้วย

ชุมชนบ้านเชียง เดิมเปิดเป็นตลาดวัฒนธรรม ถนนคนเดินมีร้านจำหน่ายเป็นร้านค้าที่รัฐสนับสนุน 9 แห่ง เป็นของเอกชน 20 แห่ง เปิดดำเนินการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 น. ยกเว้นวันจันทร์ หยุดกิจการพร้อมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง เพื่อเป็นการขยายพื้นที่ตลาดที่มีอยู่เดิมและพัฒนาตลาดใหม่ สร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ ที่มีสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุดรธานีร่วมกับ เทศบาลตำบลบ้านเชียง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง อำเภอหนองหาน สภาวัฒนธรรมตำบลบ้านเชียง ผู้บริหารสถานศึกษาในตำบลบ้านเชียง จึงได้บูรณาการความร่วมมือเปิดพื้นที่ตลาดเพิ่มเติม

จากเดิมเป็นเปิดบริการทุกวันเสาร์ที่ 1และ 3 ของเดือน ตั้งแต่เวลา 15.00-20.00 น. โดยในวันอาทิตย์ที่ 1และ ที่ 3 จะมีกิจกรรมตักบาตรถนนสายบุญ ณ บริเวณตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรมด้วย ปัจจุบันมีผู้ประกอบการรายใหม่ในพื้นที่ 58 ราย สามารถขยายพื้นที่จำหน่ายได้อีก 42 ราย โดยสินค้าที่ต้องการในตลาดเน้น การจำหน่ายสินค้าพื้นบ้าน พื้นเมือง งานหัตถกรรม สินค้าทางการเกษตร สินค้าสร้างสรรค์จากภูมิปัญญาทุกประเภท

จังหวัดอุดรธานีมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิตชุมชนที่น่าสนใจเป็นจำนวนมาก จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวอุดรธานี โดยเดินทางไปสัมผัสความสวยงามของทะเลบัวแดงบานรับอรุณแรกที่ทะเลบัวแดงบานหนองหาน-กุมภวาปี บ่ายขอพรปู่ศรีสุทธิ์โทที่คำชะโนด ก่อนกลับแวะเย็นสัมผัสบรรยากาศวิถีชุมชนไทพวนบ้านเชียงที่ตลาดประชารัฐตลาดวัฒนธรรมถนนสายวัฒนธรรม

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ประเภทแหล่งอนุสรณ์สถานจัดตั้งขึ้นในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงประกอบด้วยกลุ่มภาชนะดินเผา เครื่องมือ เครื่องใช้ และสิ่งอื่นๆ อีกมากมาย

บุญสงกรานต์ เป็นประเพณีท้องถิ่น อีกประเภทหนึ่งหรือที่ชาวไทยพวนเรียกว่า “บุญสังขาร” ซึ่งคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นจำนวนมาก

ประเพณีกินดอง การแต่งงานของไทยพวนบ้านเชียง เรียกว่า “กินดอง”

บุญข้าวสาก หรือบุญสลาก นิยมทำใน15 ค่ำเดือน10 เป็นประจำทุกปี ชาวชุมชนจะจัดข้าวปลาอาหาร และไทยทานอุทิศให้ผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยชาวบ้านจะเตรียมข้าวปลาอาหาร เช่น ข้าวเหนียว เนื้อปลา ข้าวเม่า ข้าวพอง ข้าวตอก ขนม และข้าวสาก หรือข้าวกระยาสารท เพื่อเตรียมไปทำบุญที่วัด

บุญข้าวประดับดิน จัดขึ้นในช่วงเดือน9 ของทุกปี ตามปฏิทินจันทรคติไทย โดยชาวบ้านจะร่วมกันทำอาหารคาว-หวาน ใส่ห่อ โดยมีข้าวเหนียวห่อหมก เนื้อปลาเนื้อไก่ ฯลฯ นำของทั้งหมดใส่ลงในใบตอง ห่อแล้วกลัดด้วยไม้กลัด นำไปวัดถวายพระภิกษุเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยเชื่อว่า วันดังกล่าวเป็นวันที่นรกเปิด ยมบาลจะปล่อยผีให้กลับมาเยี่ยมญาติ

กิจกรรรมและเส้นทางท่องเที่ยว

เริ่มที่ลานวัฒนธรรมมรดกโลกบ้านเชียง“ตุ้มโฮมพาแลง” ฟังการแนะนำข้อมูลชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมตำบลบ้านเชียง และเข้า สู่”ตุ้มโฮมพาแลงไทยพวนบ้านเชียง”ตามจุดที่เตรียมไว้ พิธีบายศรีสู่ขวัญ พร้อมรำบายศรีสู่ขวัญ ผูกข้อต่อแขนเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้มาเยือนและตนเอง การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน จากกลุ่มกลองยาวและแม่บ้านฟ้อนรำชุด “ออนซอนบ้านเชียง” การแสดงกลุ่มเยาวชน “ระบำบ้านเชียง” การแสดงจากลุ่มกลองยาวและแม่บ้านฟ้อนรำ ชุด “อารยธรรมบ้านเชียง 5,000 ปี รำวงย้อนยุค กลุ่มแม่บ้านฟ้อนรำ

จากนั้นเข้าชมแหล่งอารยธรรมก่อนประวัติศาสตร์ แหล่งมรดกโลกบ้านเชียง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชมสะพานโฮมแฮงฮัก บ้านพิพิธภัณฑ์ ชมวัดสันติวนาราม อุโบสถ์ดอกบัวกลางน้ำ ชมนาข้าวเม่า วิถีเกษตรชุมชน ชมการปั้นหม้อบ้านคำอ้อ ชมการสาธิตผลิตภัณฑ์ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมตำบลบ้านเชียง ชิมข้าวผัดข่าแจ๋วหอมหวานบ้านเชียง ขนมข้าวปาด ชมการจัดแสดง การสาธิตของกลุ่มจักสานโบราณบ้านดงเย็นดงยาง หมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 6 ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 จัดทำนำสำรับข้าวห่อปิ่นโต พร้อมนั่งรถรางไปรับประทานอาหารกลางวัน ที่ป่าสองดง “ดงเย็น-ดงยาง” ณ สวนแม่เถาวัลย์ ชมตลาดต้องชม ตลาด CIV และตลาดวัฒนธรรม

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบ้านเชียง

ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี

ติดต่อชุมชน : นายเศวตฉัตร บรรเทาทุกข์ โทรศัพท์ 086-221-3331

#กรมส่งเสริมวัฒนธรรม #ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมประจำปี2561 #ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม #BloggerCulture #BloggerXDCP