“แผนกลยุทธ์สิทธิบัตรที่จำเป็นต่อธุรกิจเครื่องมือแพทย์”

 “แผนกลยุทธ์สิทธิบัตรที่จำเป็นต่อธุรกิจเครื่องมือแพทย์”

หวังหนุนผู้ผลิตนำนวัตกรรมนำไปต่อยอดธุรกิจ พร้อมใช้เพื่อวางแผนกลยุทธ์ และการทำธุรกิจทางด้านนวัตกรรม

ในธุรกิจทางด้านการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเครื่องมือแพทย์ หรือเภสัชกรรม ล้วนมีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง รวมทั้งมีการลงทุนเพื่อพัฒนาที่ค่อนข้างสูง บทบาทของสิทธิบัตรในการปกป้องเทคโนโลยีเหล่านี้จึงเข้ามามีความสำคัญ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถนำนวัตกรรมไปพัฒนาต่อยอดเครื่องมือ ให้สอดคล้องกับความต้องการตลาดโลกได้ง่าย และป้องกันไม่ให้ผู้ไม่หวังดีแอบนำสินค้าไทยไปจดสิทธิบัตรในประเทศอื่นๆ ดังนั้นการวางแผนยุทธศาสตร์ การประยุกต์ใช้ รวมทั้งจดสิทธิบัตร จึงเป็นกระบวนการที่จะต้องดำเนินการควบคู่กันไปในการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีในอุตสาหกรรม

ดังนั้น สถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUIP) จึงร่วมกับโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สวทช. จัดเสวนาในหัวข้อ “แผนกลยุทธ์สิทธิบัตรที่จำเป็นต่อธุรกิจเครื่องมือแพทย์”(What are efficient patents strategy for medical device businesses?) เมื่อวันอังคารที่ 31 กรกฎาคม 2561 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนา รองศาสตราจารย์ ดร. ดวงหทัย เพ็ญตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUIP) นพ.ปราโมทย์ หอเจริญ CEO of Nirvamed, USA  โดยมี ดร.ศรายุทธ เอี่ยมคง ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สวทช.เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งเสวนาครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อผู้ประกอบการ ผู้ผลิตเทคโนโลยี และนวัตกรรม นักวิจัย รวมทั้งผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และอื่นๆ ที่สนใจในการวางแผนกลยุทธ์และการทำธุรกิจทางด้านนวัตกรรม